xs
xsm
sm
md
lg

คพข.เรียกร้องให้ กฟผ.รับผิดชอบกรณีไฟฟ้าดับ 14 จังหวัดภาคใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ราชบุรี - คณะกรรมการกํากับกิจการพลังงานเขต 10 และคณะจากตัวแทนจากจังหวัดต่างๆ ร่วมแถลงข่าวเรียกร้องให้ กฟผ.แสดงความรับผิดชอบกรณีไฟฟ้าดับทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ พร้อมทั้งชี้แจงความจริงให้ประชาชนได้รับทราบ

วันนี้ (23 พ.ค.) ที่ห้องประชุมชั้น 3 ของสํานักงานคณะกรรมการกํากับกิจการพลังงานเขต 10 (คพข.10) ตําบลหน้าเมือง อําเภอเมือง จังหวัดราชบุรี น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ประธานกรรมการผู้ใช้พลังงานประจําเขต 10 ราชบุรี และคณะจากตัวแทนจากจังหวัดต่างๆ ร่วมแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน กรณีการเกิดเหตุไฟฟ้าดับ 14 จังหวัดภาคใต้ติดต่อกันหลายชั่วโมง สร้างความเดือดร้อนเสียหายให้แก่ผู้ใช้พลังงานเต็มพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ ที่ยังไม่มีผู้บริหารกระทรวง และองค์กรกำกับ ออกมาแสดงความรับผิดชอบ และให้ข้อมูลที่แท้จริงว่าเหตุของไฟฟ้าดับครั้งนี้เกิดขึ้นจากเหตุใด ซึ่งทาง คพข.เขต 10 นั้น ตั้งคําถามว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ แท้จริงเกิดจากนโยบายที่บกพร่องของฝ่ายบริหาร หรืออุบัติเหตุ หรือจากการประมาทเลินเล่อของผู้ให้บริการ เรื่องนี้ต้องมีคนรับผิดชอบ

น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ประธานกรรมการผู้ใช้พลังงานประจําเขต 10 ราชบุรี กล่าวว่า ได้รับทราบว่าสาเหตุเกิดจากการซ่อมสายส่งขนาด 500 KV ซึ่งเป็นสายส่งระหว่างจอมบึง-ประจวบคีรีขันธ์ ปิดซ่อมบำรุง ระหว่างเวลา 08.00-17.26 น. ซึ่งเป็นจุดสำคัญของสายส่งหลักที่ส่งไฟฟ้าจากภาคกลางไปภาคใต้เกิดขัดข้องนั้น มีประเด็นที่ต้องการข้อเท็จจริง คือ

1.ความขัดแย้งในข้อมูลที่เป็นสาเหตุให้ไฟฟ้าดับอยู่มาก เพราะในภาคใต้เองก็มีการผลิตไฟฟ้าอยู่หลายโรง คือ โรงไฟฟ้าขนอม 824 เมกะวัตต์, โรงไฟฟ้ากระบี่ 340 เมกะวัตต์, โรงไฟฟ้ารัชประภา 240 เมกะวัตต์, โรงไฟฟ้าบางลาง 73.3 เมกะวัตต์, โรงไฟฟ้ากลัฟ์ยะลา กรีน 20.2 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าจะนะ 731 เมกะวัตต์ แต่ทำไมเกิดเหตุที่จอมบึง ไฟฟ้าในพื้นที่ถึงใช้สำรองไม่ได้ มีการบริหารจัดการอย่างไรจึงปล่อยให้ให้เกิดความเสียหายร้ายแรงเช่นนี้

2.กฟผ.รู้ก่อนว่ามีความบกพร่องทำไมไม่มีการแจ้งเตือน และเตรียมการรองรับในการแก้ปัญหา เพื่อรองรับหากเกิดกรณีไฟฟ้าไม่พอใช้ หรือไฟฟ้าดับแต่อย่างใด จากประสบการณ์ทั้งกรณีไฟฟ้าดับที่จังหวัดภูเก็ต หรือกรณีการหยุดจ่ายก๊าซจากประเทศพม่า และกรณีไฟฟ้าดับที่เกิดขึ้นที่เกาะสมุย น่าจะเป็นบทเรียนที่ชัดเจนสำหรับการเตรียมพร้อมมิให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย แต่กลับปล่อยให้เกิดเหตุการณ์ขึ้นอีกในวงกว้างถึง 14 จังหวัด (รวมประจวบฯ)

3.เหตุที่เกิดขึ้นมาจากนโยบายการบริหารพลังงานที่ผิดพลาดหรือไม่? การที่บริหารแบบรวมศูนย์การผลิตไว้ที่โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่สร้างความมั่นคงในด้านพลังงานได้จริงหรือ? เพราะทันทีที่ไฟฟ้าดับก็มีผู้มีอำนาจออกมาส่งเสียงว่าต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่ม สามารถทำให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าได้จริงหรือไม่?

4.ถึงเวลาที่ต้องสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าพลังงานทางเลือก โดยกระจายอำนาจการผลิตลงสู่ชุมชน/ตำบล เพื่อลดการรวมศูนย์ไว้ที่ได้ที่หนึ่งเมื่อเกิดเหตุจึงเกิดผลกระทบในวงกว้าง

5.ต้องการเห็นการแสดงความรับชอบต่อความเสียหายร้ายแรงในครั้งนี้

6.องค์กรกำกับคือ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานจะมีนโยบายในการกำกับ และลงโทษผู้ที่ได้รับใบอนุญาตในครั้งนี้อย่างไร

7.การกำหนดมาตรการชดเชยผู้ได้รับความเสียหายอย่างไร ใครบ้างที่ต้องได้รับการเยียวยา (ยังไม่มีข้อมูลความเสียหายต่อชีวิต และทรัพย์สินของผู้ป่วยใน รพ.)

ในส่วนของคณะกรรมการผู้ใช้พลังงานเขต 10 ราชบุรี มีความเห็นต่อกรณีดังกล่าว ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหมดทั้งสิ้น อาจเป็นข้อผิดพลาดในนโยบาย และการบริหารของกระทรวงพลังงาน และ กฟผ.ที่ไม่มีการเตรียมพร้อมรับมือกรณีการปิดซ่อมบำรุงส่ายส่งไฟฟ้าทำให้เกิดปัญหาไฟฟ้าดับในวงกว้างบ่อยครั้ง ส่งผลให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายของประชาชน และอุตสาหกรรมในพื้นที่ ตลอดจนความปลอดภัยของประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ต้องได้รับการดูแลเป็นกรณีพิเศษ

ทั้งนี้ คพข.เขต 10 ไม่เห็นด้วยที่ กฟผ. และกระทรวงพลังงาน ออกมาให้ข้อมูลความต้องการใช้กระแสไฟฟ้าของภาคใต้ ซึ่งปัจจุบันมีความต้องการอยู่ที่ 2,500 เมกะวัตต์ และมีแนวโน้มการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้น 6% ต่อปี แต่กำลังการผลิตไฟฟ้าสามารถรองรับการใช้งานได้เพียง 2,100 เมกะวัตต์เท่านั้น กำลังการผลิตอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการด้านพลังงาน ซึ่งหากเป็นเหตุผลนี้จริงทำไมไม่มีการแจ้งเตือน หรือเตรียมการรองรับ และแนวทางการแก้ไขปัญหา ซึ่งกระทรวงพลังงานมองว่าจะเป็นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในอนาคตคือ การสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินเพิ่มในภาคใต้

ซึ่งแนวทางดังกล่าวอาจไม่ใช่หนทางแก้ไขปัญหาในระยะยาวนั้น เราไม่เห็นด้วย เพราะยังเป็นความคิดซึ่งมีทิศทางในการรวมศูนย์การผลิตไฟฟ้าเช่นเดิม คพข. เขต 10 ราชบุรี ในฐานะตัวแทนผู้ใช้พลังงานในเขต ขอเรียกร้องให้กระทรวงพลังงาน และ กฟผ.ออกมาแสดงความรับผิดชอบในกรณีดังกล่าว (ไม่ใช่ออกมาโทษฝนโทษฟ้าดังที่มีการให้ข่าวของ รมต.) ทั้งชดเชยความเสียหายต่อประชาชนในพื้นที่ ทั้ง 15 จังหวัด พร้อมต้องแสดงให้เห็นว่ามีการเตรียมความพร้อมในการรองรับหากเกิดกรณีการชำรุดเสียหายหรือเหตุการณ์ใดๆ และขอให้ฝ่ายนโยบาย สนับสนุนการกระจายอำนาจการผลิตไฟฟ้าพลังงานทางเลือก (1 ตำบล 1 เมกะวัตต์)

ที่สำคัญขอเรียกร้องให้ กกพ.ออกมาตรการเชิงลงโทษเพื่อป้องปรามเหตุที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และขอให้ผู้เสียหายใช้สิทธิร้องเรียนขอรับการชดเชยเยียวยา โดยสามารถร้องเรียนผ่าน สกพ.ในแต่ละเขต และตัวแทนผู้ใช้พลังงานในแต่ละจังหวัด หรือสายด่วนไฟฟ้า กด 1129-1130

ส่วนการแก้ไขปัญหาในระยะยาวทาง คพข. เขต 10 ราชบุรี มีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลและองค์กรกำกับให้ลดการพึ่งพาแหล่งผลิตขนาดใหญ่ โดยขอให้มีนโยบายในการสนับสนุนให้ประชาชนสามารถนำวัตถุดิบที่มีในพื้นที่ มาผลิตเป็นพลังงานทางเลือกใช้เอง เพื่อป้องกันเหตุไฟฟ้าดับในวงกว้างได้อย่างยั่งยืน โดยแต่ละพื้นที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ในพื้นที่ และเป็นการสร้างความมั่นคงทางพลังงานอย่างแท้จริงให้แก่ประเทศไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น