xs
xsm
sm
md
lg

โรงไฟฟ้าถ่านหินหัวไทร ตอกลิ่มความแตกร้าวของชุมชนบนวิถีของ กฟผ.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


...“ล่าสุด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของ อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช ได้ยื่นหนังสือมาว่า ต้องการให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ถือเป็นเรื่องที่ดี และเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า พื้นที่ต้องการโรงไฟฟ้าถ่านหินจริง กระทรวงจะแจ้งให้มีการลงชื่อเพื่อให้มีหลักฐานประกอบในการทำแบบประเมินผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (EHIA) เพราะที่ผ่านมา เสียเวลาไปกับการลงพื้นที่ เสียงบประมาณแต่ไม่สามารถพัฒนาต่อได้” เป็นเพียงถ้อยแถลงบางส่วนเมื่อต้นเดือนเมษาหน้าร้อน จากปาก นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล เสนาบดีกระทรวงพลังงาน

แต่ในทางกลับกัน ถ้อยแถลงนี้ได้กลายเป็นสัญญาณการคุโชนขึ้นอีกครั้ง ของภาคประชาชนที่ไม่ต้องการถ่านหินมาเป็นเชื้อเพลิงให้ได้มาซึ่งพลังงานไฟฟ้า จากโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินที่หมายมั่นปั้นมือว่า จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ในพื้นที่อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช การรวมตัวของเครือข่ายรักษ์บ้านเกิดลุ่มน้ำปากพนัง จึงเริ่มขึ้นอีกครั้งหลังจากเฝ้าติดตามกระบวนการเคลื่อนไหวของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ในพื้นที่มาโดยตลอด แม้ว่าจะพยายามตั้งคำถามไปยัง กฟผ. แต่ไม่ได้คำตอบที่เป็นชิ้นเป็นอันกลับมา แถลงการณ์อย่างเป็นทางการของเครือข่ายรักษ์บ้านเกิดลุ่มน้ำปากพนังจึงเกิดขึ้น

 
“สืบเนื่องจากการออกมาระบุว่า มีการร้องขอให้สร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่อำเภอหัวไทร โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นั้นเห็นว่ามีความไม่ชอบมาพากลบางอย่างเกิดขึ้น โดยเฉพาะจากงบประมาณ จำนวน 2 ล้านบาท ที่ใช้ในการเดินทางไปลงนามของกำนันผู้ใหญ่บ้านบางราย ขณะที่ประชาชนในพื้นที่ไม่ได้รับรู้ในเรื่องนี้ และประชาชนไม่ได้คัดค้านเรื่องโรงไฟฟ้า แต่ที่คัดค้านคือ การใช้ถ่านหินมาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า อีกทั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ มีโครงการสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่นครศรีธรรมราชถึง 2 โรง มีกำลังผลิตกกว่า 1,600 เมกะวัตถ์ แต่ทั้งจังหวัดนครศรีธรรมราช ใช้ไฟฟ้าเพียง 320 เมกะวัตถ์ต่อวันเท่านั้น จึงเกิดคำถามว่า สร้างโรงไฟฟ้าชนิดนี้เพื่อรองระบบอุตสาหกรรมหนักหรือไม่ และยืนยันว่า ประชาชนในพื้นที่หัวไทร ไม่พร้อมแบกรับความเสี่ยงจากมลพิษที่เกิดขึ้น ที่ไม่มีใครสามารถรับประกันได้ จึงเรียกร้องให้ยุติโครงการนี้ในพื้นที่ทันที และพร้อมที่จะคัดค้านอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเพิ่มความเข้มข้นขึ้นตามลำดับ” นายครองศักดิ์ แก้วสกุล ข้าราชการบำนาญ ผู้รับหน้าที่ประธานเครือข่ายรักษ์บ้านเกิดลุ่มน้ำปากพนัง แถลงการณ์

นายครองศักดิ์ แก้วสกุล ยังบอกด้วยว่า ตั้งแต่ปี 2553 เครือข่ายของพวกเราซึ่งไม่ปฏิเสธโรงไฟฟ้า แต่เราปฏิเสธการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง และยังเสนอให้มีการใช้พลังงานทางเลือก ได้เฝ้าติดตามความเคลื่อนไหว และเฝ้าระวังมาโดยตลอด ประชาชนในพื้นที่ได้รับข้อมูลจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ เพียงด้านเดียว ผ่านวิธีประชาสัมพันธ์ แจกสิ่งของ แอบแฝงเข้ามาในเวทีทำแผนของหมู่บ้าน เก็บรายชื่อชาวบ้าน จนเทศบาลตำบลเกาะเพชร ต้องเปิดเวทีเชิญให้ กฟผ. นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ นักวิชาการในมหาวิทยาลัย มาให้ข้อมูลอย่างรอบด้านเพื่อให้ความรู้ประชาชน แต่กลับว่า กฟผ.ไม่ยอมส่งคนมา มีเพียงหนังสือแจ้งว่า กฟผ.ไม่มีแผนที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในเขตหัวไทร แล้วที่เคลื่อนไหวกันอยู่คืออะไร ไม่ใช่มาหลอกต้มกันหรือ

 
แต่แนวทางการเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ของเครือข่ายรักษ์บ้านเกิดลุ่มน้ำปากพนัง กลับสวนทางกับ นายไพโรจน์ เอียดแก้ว กำนันตำบลเกาะเพชร อำเภอหัวไทร ในฐานะประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านหัวไทร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ถูกหมายตาว่า จะเป็นพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน ได้สนับสนุนการก่อสร้างอย่างเต็มที่

“ผมคิดว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของฝ่ายปกครองคือ หมายถึงกำนันผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ และผู้ช่วย สนับสนุนให้มีการสร้าง เห็นด้วยกับการก่อสร้างในพื้นที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ได้พาพวกผมไปดูงานหลายแห่งแล้วเห็นว่า มีความน่าเชื่อถือ และหลายวันก่อนพวกผม 38 คน เดินทางไปลงนามบันทึกความร่วมมือกันที่กระทรวงพลังงาน ถึงการสนับสนุนให้สร้าง แต่ในพื้นที่ยอมรับว่ามีคนค้าน คนในพื้นที่ก็มีแต่คนนอกพื้นที่ เช่น ท่าศาลา หรือจะนะ มาปลุกปั่นชาวบ้านก็มาก แต่คนค้านยังเป็นส่วนน้อย” ประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านหัวไทรแจง

 
ส่วนคนของ กฟผ.กลับอธิบายอีกทางหนึ่งว่า ถ้าดูความคืบหน้าแล้วมั่นใจว่าจะเป็นกระบี่มากกว่านครศรีธรรมราช การทำงานขณะนี้ชุดในพื้นที่อาจเป็นชุดเดิม แต่ฝ่ายควบคุมนั้นสับเปลี่ยนกันไปโดยใช้ฝ่ายชุมชนสัมพันธ์ ลงพื้นที่ควบคุมกันเป็นหลัก

“ต้องพยายามขึ้นให้ได้ 1 แห่งก่อน ตรงนี้เข้าใจว่าน่าจะกระบี่มากกว่า ที่รัฐมนตรีพูดนั้น เป็นนโยบาย แต่คนทำคือ กฟผ. ถ้ามาไล่ดูเรียงตามจังหวัดแล้วคือ กระบี่ ประจวบฯ ตรัง และนครศรีธรรมราช 2 แห่งคือ หัวไทร ท่าศาลา น้ำหนักคงอยู่ที่หัวไทร ถ้าถามผมแห่งแรก ผมคิดว่าน่าจะเป็นกระบี่นะ ไม่ใช่หัวไทร” เขาอธิบาย

แน่นอนว่า หากถามคน กฟผ.ในพื้นที่นครศรีธรรมราช คงอธิบายเพียงแค่ว่าขั้นตอนมี 7 ขั้นที่จะต้องดำเนินการ เวลานี้ยังอยู่ในขั้นตอนแรก คือ ทำความเข้าใจให้ความรู้เป็นขั้นตอนบนแผ่นกระดาษ ส่วนของจริงเกมที่กำลังเดินอยู่ใต้ดิน คงเหลือเพียงแค่ปักเสาเข็มก่อสร้างอย่างเต็มรูปแบบเท่านั้น
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น