xs
xsm
sm
md
lg

ถกสถานภาพส.ส."มาร์ค" ลุ้นศาลรธน.รับ-ไม่รับปมถูกถอดยศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (15 พ.ค. ) นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าคณะโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า ในวันที่ 15 พ.ค. เป็นวันที่ครบกำหนดระยะเวลาที่ศาลรัฐธรรมนูญได้อนญาตขยายเวลาให้กับ ส.ว.จำนวน 46 คน ที่ร้องขอขยายระยะเวลาในคำร้องของ นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา กรณีที่ขอให้ศาลวินิจฉัยการทำหน้าหน้าที่ของประธานรัฐสภา และสมาชิกรัฐสภา จำนวน 312 คน ที่ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 และ 237 ว่า เป็นการตัดสิทธิประชาชน ในการร้องตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 68 หรือไม่ กับทางศาลรัฐธรรมนูญเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งมีผู้ที่ส่งหนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหามายังศาลรัฐธรรมนูญเพียง 15 คนเท่านั้น สำหรับผู้ที่ยังไม่ส่งหนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหามาให้ ก็คิดว่าไม่ส่งผลกระทบกับการพิจารณาคดีของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และกระบวนการพิจารณาก็น่าจะสามารถเดินหน้าต่อไปได้ จากข้อเท็จจริงที่มีอยู่ แต่ถ้าระหว่างการพิจารณาศาลรัฐธรรมนูญมีความสงสัยในประเด็นต่างๆ ทางศาลรัฐธรรมนูญก็สามารถเรียกเอกสารเพิ่มเติมจากฝ่ายผู้ร้องหรือผู้ถูกร้องได้
สำหรับในวันนี้(16 พ.ค.) จะเริ่มประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในเวลา 09.30 น. โดยมีวาระสำคัญ ที่เป็นคดีทางการเมืองคือ การพิจารณาว่าจะรับหรือไม่รับคำร้องกรณีที่ประธานสภาส่งคำร้องของ ส.ส.จำนวน 134 คน เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพ ส.ส. ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 106 (5) ประกอบ มาตรา 102 (6 ) หรือไม่ เนื่องจากกระทรวงกลาโหมได้มีคำสั่งปลด ร.ต.อภิสิทธิ์ ออกจากราชการเป็นนายทหารกองหนุน ซึ่งในการประชุมครั้งที่ผ่านมา ที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ได้ข้อยุติว่า จะรับคำร้องไว้พิจารณาเนื่องจากเป็นเรื่องสำคัญ
นอกจากนี้ในวันนี้ ทางเจ้าหน้าที่ก็จะมีการรายงานความคืบหน้าคำร้องที่เกี่ยวข้อง มาตรา 68 และ 237 ว่า เป็นการตัดสิทธิ์ประชาชนในการร้องตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 68 หรือไม่ ทั้งหมดทุกคำร้องที่เข้ามาให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา ส่วนตุลาการ จะมีคำสั่งใดออกมาหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคณะตุลาการ อย่างไรก็ตาม นอกจากคดีทางการเมืองแล้วก็ยังมีคดีอื่นที่สำคัญที่ต้องพิจารณา ซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไป


** พท.ยันหัวชนฝาเลิกยุบพรรค

วานนี้ (15พ.ค.) ที่ประชุมคณะกรรมาธิการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 และ 237 ที่มีนายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว. นนทบุรี เป็นประธาน ได้สรุปโดยมติเสียงข้างมาก ให้คง ร่างแก้ไข มาตรา 237 ตามร่างที่ผ่านรัฐสภาในวาระแรก ซึ่งมีสาระสำคัญคือ ยกเลิกการสั่งยุบพรรคการเมืองอันเนื่องจากการกระทำผิดตาม มาตรา 68 รวมทั้งยกเลิกการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรค ด้วยเสียงข้างมาก 22 ต่อ 11 เสียง
ทั้งนี้การอภิปรายในมาตรานี้ มีกรรมาธิการหลายคน จากพรรคเพื่อไทยเอง ที่สนับสนุนให้มีการลงโทษหัวหน้าพรรค หรือกรรมการบริหารพรรคที่กระทำความผิดเป็นกรณีเฉพาะตัว รวมทั้งบางส่วนเห็นว่า ควรเพิ่มโทษด้วยซ้ำ ซึ่งตรงกับความเห็นของกรรมาธิการฝ่ายค้าน แต่ปรากฏว่า เวลาโหวตกลับโหวตให้คงร่างเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลง
นายวิรัตน์ กัลยาศิริ กรรมาธิการจากพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตำแหน่งหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรค มีบทบาทสำคัญในการทำให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรมหรือไม่ และหากการได้มาซึ่งอำนาจโดยไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม จะทำให้การเมืองผิดเพี้ยน บ้านเมืองปั่นป่วนวุ่นวาย จึงเห็นว่าควรต้องถูกตัดสิทธิ์มากกว่าคนทั่วไปสองเท่า
นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ กรรมาธิการจากพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เห็นด้วยหากกรรมการบริหารมีส่วนทำผิดควรได้รับโทษ แต่คนที่ทำผิดอาญาคนเดียว จะประหารทั้งครอบครัว พ่อแม่พี่น้องด้วย มันก็ไม่ถูกต้อง
นอกจากนี้ ที่ประชุมโดยเสียงข้างมากยังเห็นชอบ ร่าง ที่ผ่านวาระแรก ที่ให้ถือว่าผู้ที่เคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 237 เดิม เป็นผู้บริสุทธิ์ที่ไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน ด้วยเสียงข้างมาก 23 ต่อ 5 เสียง
ทั้งนี้ กรรมาธิการฝ่ายค้านได้ยกเหตุผลอ้างว่า เป็นการกลั้นแกล้งทางการเมืองที่ไม่เป็นธรรม และเป็นเป้าหมายสำคัญของการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้
นายวิทยา บูรณะศิริ ส.ส.อยุธยา กรรมาธิการจากพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า นี่คือ 1 ในสาระของการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ เมื่อการยุบพรรคไม่ถูกต้อง ก็ควรจะนิรโทษให้กรรมการบริหารพรรค ที่ถูกเพิกถอนสิทธิ์ด้วย
ขณะที่ ส.ส.ประชาธิปัตย์ เรียงหน้าคัดค้าน ระบุว่า จะทำให้กลายเป็นการนิรโทษกรรมคนผิด ทำให้การตรากฎหมายหมดความสง่างาม เพราะเป็นการให้ผลย้อนหลัง เขียนเพื่อบังคับให้แก้กฎหมายประกบอรัฐธรรมนูญ
นายถาวร เสนเนียม กรรมาธิการจากพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า คำพิพากษาที่ได้เคยผ่านมาแล้ว ต้องถือเป็นการทำหน้าที่ฝ่ายตุลาการ ที่ได้แบ่งแยกหน้าที่กันเรียบร้อยแล้ว ไม่เห็นด้วยที่จะกลับไปฟื้นฝอย
“ที่เขียนมาตรา 5 นี่ เดือนธันวานี้ ก็ครบ 5 แล้ว จะมายกเว้นทำไมอีก เป็นการเขียนเพื่อไปดักหน้าเดือนธันวาคม ซึ่งก็แก้รัฐธรรมนูญเสร็จแล้วไปเขียนทำไม”นายวิรัช ร่มเย็น กรรมาธิการจากฝ่ายค้าน อีกคนหนึ่งกล่าว
“เหมือนมีคนใดคนหนึ่งฝากเข้ามา เพื่อจะได้ให้มีอานิสงส์ จากการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้” นายอิสระ สมชัย กรรมาธิการจากพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว
“เขียนแบบนี้ ยิ่งประจานเสียงข้างมากกว่ากำลังเขียนเพื่อตนเองและพวกพ้อง" นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม กรรมาธิการฝ่ายค้านกล่าว
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ กรรมาธิการจากพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่ไปนิรโทษกรรม เราเห็นตรงกันครั้งแรกแล้วที่จะไม่ให้ยุบพรรค แต่เรื่องการตัดสิทธิ์ เราเห็นต่างกัน บางคนอยากให้ขยายการตัดสิทธิ์ ไม่มีใครเห็นว่าไม่ควรลงโทษ เพราะการซื้อเสียงตาม มาตรา 68 เป็นการบ่อนทำลายประชาธิปไตย หลายคนพูดเรื่องประชาธิปไตยเยอะมากๆ แต่ทำไมไม่รังเกียจคนซื้อเสียง ถ้ามีมาตรานี้ไว้ คนที่ทำผิดก็เหมือนได้รับนิรโทษกรรมไปด้วย ทั้งที่พรรคที่ถูกยุบ มันต้องมีหนึ่งคนแน่นอนที่กระทำความผิดไปแล้ว มันไม่สมเหตุสมผลเลย และหากต่อไปนี้จะมีพรรคการเมืองใด ที่จะกระทำผิดตาม มาตรา 68 และอยู่ระหว่างการสอบสวน ถ้ามีกฎหมายนี้ออกมา เขาก็ทำได้เต็มที่ใน 3 –4 เดือนนี้ เพราะกว่ากฎหมายนี้บังคับใช้มันยกเลิกความผิดเขาไปเลย
นายขจิต ชัยนิคม ส.ส. อุดรธานี กรรมาธิการจากพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เพราะการตัดสินของศาลเพื่อตัดสิทธิมันมาจาก คำว่า“เพียงแค่เชื่อได้ว่า”และอย่าไปยึดว่าคำพิพากษาของศาล จะต้องเป็นมาตรฐานเสมอไป เมื่อมันเขียนกฎหมายออกมาไม่ถูกต้อง เราต้องอยู่ในภาวะจำยอม ทำไมทีพวกรัฐประหารออกกฎหมายบนิรโทษตัวเองได้ พวกนี้สง่ามากกว่าตนหรือ เมื่อพวกตนมาจากการเลือกตั้ง เห็นว่าเป็นกฎหมายที่ไม่ชอบ และไม่ยุติธรรม ก็ต้องมีสิทธิ์ที่จะแก้ไขมัน

** แก้ ม.190ควรระบุคำ "โดยชัดแจ้ง"

ส่วนการประชุมคณะกรรมาธิการพิจารณา ร่าง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา190 ว่าด้วยการจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศต่อการค้าและการลงทุนของประเทศไทย ที่มี นายกฤช อาทิตย์แก้ว ส.ว.แบบสรรหา ประธานคณะกรรมาธิการฯ ทำหน้าที่เป็นประธานคณะการประชุมโดยมีวาระการพิจารณาเพื่อนำประเด็นปัญหา โดยเฉพาะประเด็นที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติมากำหนดกรอบในการพิจารณาแก้ไข มาตรา190
นายเกียรติ สิทธีอมร กรรมาธิการ กล่าวว่า การเซ็นสัญญาแต่ละครั้งเป็นเรื่องที่ต้องรอรับผลในอนาคต ดังนั้นทุกอย่างต้องชัดเจน ไม่ควรมีคำว่า อาจจะ เพราะจะมีผลต่อการตีความในอนาคต ขณะที่นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ เห็นว่าควรใช้คำว่า "โดยชัดแจ้ง" เพื่อลดปัญหาการตัดสินใจของผู้ปฏิบัติ อีกทั้งเป็นการลดปัญหาการตีความและยังทำให้ผู้ปฏิบัตทำงานได้อย่างชัดเจน ส่วนตัวเห็นว่าเรื่องบทบัญญัติต่างๆ ตามมาตรา 190 ไม่ควรให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาตีความ เพราะศาลไม่ใช่ที่ปรึกษาของรัฐบาล จึงเห็นด้วยที่ให้ระบุคำว่า "โดยชัดแจ้ง" ให้อยู่ในบทบัญญัติอย่างชัดเจน
ด้านนายศิริโชค โสภา กรรมาธิการ และนายอภิชาต ศักดิเศรษฐ์ กรรมาธิการ เห็นตรงกันว่า ควรให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด เพื่อให้หมดปัญหาการตีความ และง่ายต่อการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ ซึ่งจะทำให้มีข้อถกเถียงในชั้นกรรมาธิการลดน้อยลง ช่วยลดความขัดแย้ง และสร้างความปรองดองมากขึ้น โดยส่วนตัวมองว่า ไม่ควรนำประเด็นที่มีความขัดแย้งมาพิจารณาก่อน

**ขอกลับมติส.ว.ดำรงตำแหน่ง4ปีเป็น6ปี

สำหรับแก้ไขเพิ่มเติม ร่าง รธน. เกี่ยวกับการแก้ไขที่มา และวาระการดำรงตำแหน่งของส.ว. โดยนายเกรียงศักดิ์ ฝ้ายสีงาม ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย เสนอญัตติให้กรรมาธิการทบทวน มาตรา 117 เรื่องสมชิกภาพของส.ว. ว่าให้กำหนดวาระการดำรงตำแหน่งเป็น 6 ปี จากที่ก่อนหน้านี้ กรรมาธิการเสียงข้างมาก ลงมติให้ดำรงตำแหน่งสมัยละ 4 ปี
นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ระบุว่า เห็นด้วยที่จะให้ดำรงตำแหน่ง 6 ปี เพราะจะได้ไม่ต้องเลือกตั้งบ่อย และจะทำให้รู้รายละเอียดในการทำงาน และทำงานได้ต่อเนื่องมากขึ้น
เช่นเดียวกับนายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ที่เห็นด้วยให้ดำรงตำแหน่ง 6 ปี เพราะต้องการให้ระบบการสรรหาหมดไป และใช้ระบบการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ ยังจะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพ และมีความต่อเนื่อง
แต่นายชินวรณ์ บุญยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ได้แย้งว่า ก่อนหน้านี้ กรรมาธิการเสียงข้างมากมีมติให้ดำรงตำแหน่ง 4 ปีไปแล้ว หากมีการทบทวน ก็จะทำให้มีผู้เสนอทบทวนมติใหม่ทุกมาตรา ดังนั้นการเปลี่ยนมติ จึงทำไม่ได้
ขณะที่ นายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานกรรมาธิการ กล่าวว่า ผลการลงมติทั้งหมด ยังไม่ได้ทำรายงานเสนอรัฐสภา ดังนั้นทุกอย่างยังสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ขึ้นอยู่กับกรรมาธิการเสียงข้างมาก
อย่างไรก็ตาม ญัตติดังกล่าวไม่สามารถของเสียงสนับสนุนจากที่ประชุมได้ เนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ จึงมีผู้เสนอให้ปิดประชุม และปิดประชุมในที่สุด ทั้งนี้ที่ประชุมคณะกรรมาธิการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของวุฒิสภา ได้พิจารณาตามรายมาตราเสร็จสิ้นแล้ว โดยหลังจากนี้ จะทบทวนรายละเอียดต่างๆ และให้ผู้ที่ได้เสนอแปรญัตติ เข้ามาชี้แจงต่อกรรมาธิการต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น