xs
xsm
sm
md
lg

ศาลรับคำร้องค้านแก้ รธน. เมิน312ส.ส.-ส.ว.บอยคอต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-ศาลรัฐธรรมนูญเมิน 312 ส.ส.-ส.ว. บอยคอต ไม่ส่งหนังสือชี้แจง มีมติ 5 ต่อ 3 เสียงรับคำรอง "พล.อ.สมเจตน์" ยื่นค้านแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 68 เพิ่ม ด้าน "วรเจตน์"ซัด "วสันต์" มั่วอ้าง "ฮิตเลอร์" หลอนคนไทย ขู่ฟ่อ หากเดินหน้าตัดสินคดี ระวังประชาชนลุกต้าน แผ่นเสียงตกร่องเสนอยุบศาลอีก เสื้อแดงกร้าว ลั่นยกระดับชุมนุม 8 พ.ค.นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 09.30 น. วานนี้ (1 พ.ค.) คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ประชุมเพื่อพิจารณาคำร้องของนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา และคำร้องของนายบวร ยสินธร แกนนำกลุ่มราษฎรอาสา ที่ให้ศาลวินิจฉัยการทำหน้าที่ของประธานรัฐสภา และสมาชิกรัฐสภา รวม 312 คน ที่ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ว่าเป็นการตัดสิทธิ์ประชาชนในการร้องตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 68 หรือไม่ หลังจากที่ศาลได้ทำสำเนาไปยัง ส.ส.และส.ว. เพื่อให้ส่งหนังสือชี้แจงข้อกล่าวหาแล้ว ซึ่งสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจะอ้างว่าไม่มีการจัดส่งหนังสือ เนื่องจากปิดสมัยประชุมไม่ได้

โดยเป็นการประชุมที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ในอาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ จากเดิมที่คณะตุลาการฯ ตั้งใจจะไปประชุมที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ตรงข้ามการไฟฟ้าวัดเลียบ

นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ แถลงภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมเห็นว่าการที่ศาลได้ส่งสำเนาคำร้องให้ผู้ถูกร้องตามหลักเกณฑ์ ข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาวินิจฉัย พ.ศ.2550 ข้อ 31 และ ข้อ 6 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 76 จึงถือได้ว่าได้ส่งสำเนาคำร้องให้ผู้ถูกร้องโดยชอบแล้ว ศาลสามารถดำเนินกระบวรการพิจารณาต่อไปได้ ซึ่งในกรณีนี้ ได้มีส.ว. 46 คน ได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาในการยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาและศาลมีคำสั่งอนุญาต โดยให้ส่งคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ภายในวันที่ 15 พ.ค.นี้ หากไม่ส่งภายในระยะเวลาที่กำหนดถือว่าไม่ติดใจ

นอกจากนี้ ยังมีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 3 รับคำร้องที่พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ตามมาตรา 68 ว่าการที่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา กับ ส.ส.และ ส.ว. รวม 312 คน กระทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากคำร้องต้องด้วยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรค 2 และข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาวินิจฉัย พ.ศ.2550 แต่ยกคำขอคุ้มครองชั่วคราวเป็นกรณีฉุกเฉินที่ขอให้ศาลสั่งรัฐสภาระงับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเห็นว่ายังไม่ปรากฏมูลอันเป็นเหตุฉุกเฉิน

โดยศาลรัฐธรรมนูญจะได้ส่งสำเนาคำร้อง เพื่อให้ผู้ถูกร้องจัดทำคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาและส่งกลับมาภายใน 15 วันนับแต่วันได้รับหนังสือ หากไม่ยื่นภายกำหนดเวลาถือว่าไม่ติดใจ กำหนดให้ผู้ร้องทำสำเนาคำร้องส่งต่อศาล จำนวน 312 ชุด เพื่อส่งให้ผู้ถูกร้อง เพื่อให้ผู้ถูกร้องชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ หากไม่ยื่นภายในกำหนดถือว่าไม่ติดใจ

ส่วนที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องของส.ส. 134 คน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 91 ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพภาพการเป็นส.ส.ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 106 (5) ประกอบมาตรา 102 (6) หรือไม่ เนื่องจากกระทรวงกลาโหมได้มีคำสั่งปลด ร.ต.อภิสิทธิ์ ออกจากราชการ เป็นนายทหารกองหนุน โดยที่ประชุมคณะตุลาการฯ ได้พิจารณาคำร้องแล้วเห็นว่า กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญและการพิจารณายังไม่ได้ข้อยุติ จึงขอให้เลื่อนการพิจารณาคำร้องดังกล่าวออกไปในการประชุมครั้งต่อไป โดยคำร้องดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาว่าจะรับหรือไม่รับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณาวินิจฉัยหรือไม่

นายพิมล ยังกล่าวด้วยว่า ในการประชุมครั้งนี้ คณะตุลาการฯ ไม่ได้มีการพูดคุยถึงการชุมนุมกดดันให้ตุลาการยุติการปฏิบัติหน้าที่ของกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่หน้าสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงไม่ได้พูดคุยถึงกรณีที่ ส.ส.และส.ว.จำนวนหนึ่ง มีมติไม่รับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญที่จะวินิจฉัยเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เห็นว่า หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมา ตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีผลผูกพันทุกองค์กรต้องปฏิบัติ ซึ่งการที่ ส.ส.และ ส.ว. จะไม่ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาตุลาการก็สามารถพิจารณาตามข้อเท็จจริงที่มีอยู่ ส่วนประโยชน์จะไปตกกับใครนั้น ก็ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง

อย่างไรก็ตาม นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้แจ้งขอลาประชุม เนื่องจากป่วยก่อนที่การประชุมจะเริ่มขึ้น ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการถูกกดดันจากการชุมนุม หรือเป็นเพราะนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตส.ว. ได้ไปยื่นให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตรวจสอบการทำหน้าที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญ โดยที่ประชุมได้เลือกนายจรูญ อินทจาร เป็นประธานในที่การประชุมแทน

เมื่อถามว่า กรณีที่มีการระบุว่า มติที่รับคำร้องของนายสมชายไว้พิจารณาวินิจฉัย เป็นแค่ 3 ต่อ 2 ถือว่าไม่เหมาะสม นายพิมลกล่าวว่า การพิจารณาเป็นไปตามข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาวินิจฉัย พ.ศ.2550 ที่ระบุว่า ตุลาการ 5 คน ก็ถือเป็นองค์คณะในการพิจารณาได้

** "เสื้อแดง"กร้าว!ยกระดับ 8 พ.ค.

บรรยากาศการชุมนุมของกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (กวป.) ที่หน้าสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ มีผู้ชุมนุมต่างทยอยเดินทางมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการตำรวจนครบาล จำนวน 1 กองร้อย ผลัดกันทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยโดยรอบ

ด้านกลุ่มแกนนำร่วมแถลงว่า จะเคลื่อนไหวเพื่อยกเลิก ม.309 อันเป็นที่มาของความบิดเบี้ยวทั้งหมดทางการเมืองไทย โดยได้ประกาศนัดหมายให้กลุ่มคนเสื้อแดงเดินทางมาร่วมกันในวันที่ 8 พ.ค.นี้ ที่จะถือว่าเป็นการยกระดับอย่างเต็มรูปแบบ และต้องถึงขั้นแตกหักกันอย่างแน่นอน

**"วรเจตน์" มั่ว อ้าง "ฮิตเลอร์"หลอนคนไทย

เวลา13.00 น. ที่โรงแรมเดอะสุโกศล บางกอก มูลนิธิคอนราด อเดนาวร์ ร่วมกับสถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตยจัดงานเสวนาเรื่อง “เมื่อศาลรัฐธรรมนูญกระทำขัดรัฐธรรมนูญ : จะทำอย่างไร?”

โดยตอนหนึ่งในช่วงเสวนา นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และหนึ่งในสมาชิกกลุ่มนิติราษฎร์ ได้ยกคำพูดของนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญที่อ้างถึงฮิตเลอร์มาจากการเลือกตั้งขึ้นสู่อำนาจโดยเจตจำนงประชาชนผ่านการลงประชามติในระบอบประชาธิปไตยนั้น เป็นคำอธิบายที่ไม่ถูกต้องและคลาดเคลื่อน

การอ้างเยอรมันก็ตั้งศาลรัฐธรรมนูญขึ้นมาเป็นองค์กรกำกับควบคุมอำนาจของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง มีอำนาจตรวจสอบรัฐบาลและกฎหมาย แต่การตรวจสอบของศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันกระทำภายใต้กฎหมายรองรับอำนาจ และตรวจสอบเมื่อกฎหมายนั้นบังคับใช้แล้ว ไม่ใช่การเข้ามาดูก่อนเช่นนี้ อีกทั้งไม่ควรอ้างความชอบธรรม เปรียบเทียบกับเยอรมันให้เขาเสียหายเพราะที่มาศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันไม่เหมือนกับของไทย ที่มาของเยอรมันเชื่อมโยงกับสภาผู้แทนราษฎรและสภาผู้แทนมลรัฐในสหพันธรัฐ แตกต่างกับไทยที่มาจากการรัฐประหาร

"ถ้าศาลรัฐธรรมนูญเดินหน้าตัดสินให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภาเป็นความผิดและสั่งยุบพรรคการเมือง โดยอ้างความศักดิ์สิทธิ์ของคำตัดสินศาล ขณะที่อีกฝ่ายก็ขออ้างสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ เพราะศาลรัฐธรรมนูญตัดสินมิชอบ ละเมิดรัฐธรรมนูญ เมื่อระบบถูกล็อคหมด วันนั้นจะเกิดการปะทะกันระหว่างอำนาจ ทั้งประชาชน กองทัพด้วย ผมไม่อยากเห็นสิ่งนั้น วันนี้คำตอบไม่ได้อยู่ในสายลม แต่อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ รัฐสภายอมถอยมาแล้วครั้งหนึ่งทั้งที่ไม่ควรถอย แต่ศาลบอกว่าแก้ทั้งฉบับไม่ได้ ให้แก้รายมาตรา เมื่อทำแล้วก็ยังไม่ให้ทำอีก คิดว่าคงพูดกันไม่รู้เรื่อง"นายวรเจตน์กล่าว พร้อมย้ำถึงข้อเสนอของ "นิติราษฎร์" ที่ให้ยุบศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสังคายนาศาลรัฐธรรมนูญในอนาคตว่า เป็นข้อเสนอที่ปกป้องศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน

**พท.ส่งจม.เปิดผนึกถึงพรรคร่วม-สว.

พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการส่งจดหมายเปิดผนึกปฏิเสธอำนาจศาลรัฐธรรมนูญชี้แจงต่อองค์กรอิสระต่างๆ ว่า หลังจากนี้จะส่งจดหมายเปิดผนึกให้พรรคร่วมรัฐบาล และส.ว.พิจารณาเนื้อหาในจดหมาย จากนั้นจึงจะส่งให้องค์กรอิสระต่างๆ ต่อไป คาดว่าจะส่งได้เร็วๆ นี้ เชื่อว่า ส.ส.พรรคเพื่อไทย พรรคร่วมรัฐบาล และส.ว. น่าจะเห็นไปในแนวทางเดียวกันในการไม่ส่งคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพราะไม่เห็นด้วยกับการที่ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 เนื่องจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ร่างไม่มีเนื้อหาล้มล้างการปกครอง และเป็นการทำตามคำแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้แก้ไขเป็นรายมาตรา ศาลรัฐธรรมนูญจึงเข้ามาก้าวก่ายฝ่ายนิติบัญญัติ เหมือนกับห้ามครูสอนหนังสือ ห้ามพระบิณฑบาต ซึ่งไม่สามารถทำได้

**"สุนัย" เปรี้ยวให้โละ ส.ว.สรรหา

ที่รัฐสภา ในการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่. ...) พ.ศ. ... ที่เกี่ยวกับการแก้ไขที่มาและวาระการดำรงตำแหน่งของส.ว. ที่มีนายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย เป็นประธานการประชุม โดยมีการพิจารณาในมาตรา 7

ตอนหนึ่ง นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ขอสงวนคำแปรญัตติว่า เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้ประกาศใช้ ขอให้ ส.ว.สรรหาทั้งหมดสิ้นสภาพไปโดยปริยาย เพราะ ส.ว.สรรหามาโดยการแต่งตั้งของกลุ่มซึ่งไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ทั้งยังตั้งสังเกตถึงกลุ่ม 40 ส.ว. ว่า มีการกระทำที่เป็นปรปักษ์ต่อรัฐบาล เมื่อมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ควรเร่งรีบดำเนินการให้มีความเป็นประชาธิปไตยตามครรลองที่ควรจะเป็น

ด้าน กมธ.เสียงข้างน้อย จากพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้อภิปรายว่า ไม่ควรไปตัดสิทธิ์ ส.ว.สรรหา เพราะได้รับการสรรหามาอย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ มีเกียรติและศักดิ์ศรี

อีกด้านการประชุมคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่. ... พ.ศ. ... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 68 และมาตรา 237) มีนายดิเรก ถึงฝั่ง เป็นประธาน โดยกรรมาธิการฯ ได้ซักถามนายวิรัตน์ กัลยาศิริ กรรมาธิการฯ ในฐานะผู้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา291 เข้าข่ายขัดมาตรา 68 หรือไม่

โดยนายวิรัตน์กล่าวว่า การแก้รัฐธรรมนูญทำได้ แต่หลักในการการแก้ไขต้องเพิ่มสิทธิประชาชน ลดอำนาจรัฐ แต่กลายเป็นว่าขณะนี้เรากำลังลดอำนาจประชาชน ลดอำนาจศาล และลดการตรวจสอบ หากเสียงข้างมากจะลงเหวแล้วไม่มีการตรวจสอบบ้านเมืองอาจหายนะได้ ตนรู้สึกอึดอัดในการลดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญไม่ให้มีอำนาจวินิจฉัยมาตรา 190 และตัดสิทธิประชาชนไม่ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง เพราะเท่ากับเป็นการบิดเบือนเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญอย่างยิ่ง และยังเป็นการทำผิดรัฐธรรมนูญในการตรวจสอบถ่วงดุล

ทั้งนี้ กรรมาธิการได้เห็นในแนวทางเดียวกันว่า จะให้อัยการสูงสุดเป็นผู้พิจารณาก่อน แต่ปัญหาอยู่ที่กรอบเวลาในการพิจารณาของอัยการสูงสุด และถ้อยคำที่จะใช้ เพราะมีผู้เสนอจำนวนมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น