ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -การที่กลุ่ม ส.ส.พรรคเพื่อไทย และส.ว. ที่เสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา แถลงคัดค้านอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ หลังรับคำร้องของ นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ซึ่งยื่นให้ศาลพิจารณาว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ในมาตรา 68 เข้าข่ายล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยหรือไม่
เนื้อหาของรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ระบุไว้ว่า
“บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ มิได้
ในกรณีที่บุคคล หรือพรรคการเมืองใดกระทำการตามวรรคหนึ่ง ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว แต่ทั้งนี้ ไม่กระทบกระเทือนการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการ ดังกล่าว
ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้พรรคการเมืองใดเลิกกระทำการตามวรรคสอง ศาลรัฐธรรมนูญอาจสั่งยุบพรรคการเมืองดังกล่าวได้
ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองตามวรรคสาม ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมือง และกรรมการบริหารของพรรคการเมืองที่?ถูกยุบในขณะที่กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญ?มีคำสั่งดังกล่าว”
คำร้องของส.ว. เกี่ยวกับการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของส.ส.พรรคเพื่อไทย หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า “มิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้”
นั่นหมายความถึง การมีโทษถึงยุบพรรคเพื่อไทย ทีเดียว !!
พรรคเพื่อไทย จึงระดมคนในสังกัดทั้งหมด ทั้งส.ส. - ส.ว. และคนเสื้อแดง กดดันศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งๆ ที่ยังไม่มีการวินิจฉัย
ส.ส.และ ส.ว.ในสังกัด ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกัน ไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการรับวินิจฉัยการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ของส.ส. และส.ว. 312 คน
แสดงถึง การไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ
ทำให้ส.ส. และ ส.ว.ไม่ชี้แจงการยื่นขอแก้ไข ตามขั้นตอนของศาลรัฐธรรมนูญ
“ฝ่ายกฎหมายกำลังดำเนินการรวบรวมหลักฐานต่างๆ เพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับศาลรัฐธรรมนูญ ข้อหาใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ กรณีรับคำร้องตีความการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ขณะเดียวกัน ส.ส. และ ส.ว.ก็จะเข้าชื่อกันถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งคณะ โดยจะยื่นเรื่องให้ประธานวุฒิสภา ส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนต่อไปในเร็วๆ นี้” สามารถ แก้วมีชัย ส.ส.พรรคเพื่อไทย บอกวิธีการเอาคืนศาลรัฐธรรมนูญ
“การออกแถลงการณ์โต้แย้งศาลรัฐธรรมนูญ เป็นสิ่งที่สมาชิกรัฐสภาทำได้ ไม่เป็นการละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นเพียงการโต้แย้งว่า ศาลไม่ควรรับเรื่อง เนื่องจากอำนาจ 3 ฝ่าย บริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ ปกติจะไม่ก้าวก่ายซึ่งกันและกัน คาดว่าไม่เกินสัปดาห์หน้ารัฐสภาจะได้ส่งข้อโต้แย้งและคำชี้แจงให้ศาลรัฐธรรมนูญรับทราบต่อไป” นายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี ในฐานะรองประธานวิปรัฐสภา สนับสนุนการออกแถลงการณ์
แม้ นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าคณะโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ ชี้แจงว่า “โดยหลักการแล้ว การพิจารณาคดีของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็คงเป็นไปตามขั้นตอนและกระบวนการ เนื่องจากในข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ. 2550 ได้ระบุไว้ชัดเจนว่า กรณีที่ผู้ถูกร้องไม่ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน นับแต่วันได้รับสำเนาคำร้อง หรือภายในระยะเวลาที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนด ให้ศาลรัฐธรรมนูญดำเนินกระบวนการพิจารณาต่อไป”
“ดังนั้น กรณีนี้หากผู้ถูกร้องไม่ชี้แจงแก้ข้อกล่าว ก็ถือว่าผู้ถูกร้องไม่ติดใจในคำร้องดังกล่าว ส่วนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะเรียกผู้ถูกร้องมาชี้แจงด้วยวาจาในขั้นตอนการไต่สวนหรือไม่นั้น ก็คงต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญด้วย” หัวหน้าคณะโฆษกศาลรัฐธรรมนูญอธิบาย
นั่นทำให้ทั้ง นพพล ปัทมะ และ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ตัวการเผากรุงเทพฯ ส่งสัญญานจากทักษิณ ชินวัตร กดดันศาลรัฐธรรมนูญทุกทาง
ทั้งยื่นจดหมาย ส่งเสื้อแดงไปชุนนุมหน้าศาลรัฐธรรมนูญ
"นี่ไม่ใช่เรื่องส่วนบุคคล แต่เป็นเรื่องหลักการ คงประนีประนอมไม่ได้ ตุลาการทั้ง 9 คนควรทบทวนตนเอง อย่าคิดว่าเป็นสุภาพบุรุษแห่งวังจุฑาเทพ ที่ทำอะไรออกมาแล้วคนจะต้องเชียร์ เล่นบทพระเอกตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม ยืนยันพรรคเพื่อไทย ไม่ได้เป็นการลิดรอนอำนาจตุลาการ แต่ตุลาการเจตนาลิดรอนอำนาจนิติบัญญัติ ไม่ใช่การถ่วงดุล แต่ถ่วงรั้งอำนาจอธิปไตย ทำให้บรรยากาศทางการเมืองเกิดความเสียหาย" แกนนำ นปช. ที่เคยนำพวกเผากรุงเทพฯมาแล้ว- ณัฐวุฒิ ใสเกื้อ
แต่คราวนี้ จะนำคนไปจุดเผาศาลรัฐธรรมนูญอีกหรือไม่...อดใจรอ
พวกหากินบนความทุกข์ของชาวบ้าน มักพูดว่า ทำเพื่อชาวบ้านเสมอ
“เชาวนะ ไตรมาศ ” เลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญอธิบายต่อสื่อว่า “ตอนนี้มีทั้งกลุ่ม ส.ส.ที่จะส่งคำชี้แจงกลับมาให้ศาล กลุ่มส.ว.ที่จะขอขยายเวลาออกไปอีก และกลุ่มส.ว.ที่จะไม่ส่งกลับมาเลย ซึ่งเรื่องดังกล่าวนี้ก็มีขั้นตอนอยู่ว่า ต้องส่งหนังสือชี้แจงกลับมาภายใน 15 วัน และหากไม่สะดวก ก็สามารถขอขยายเวลาออกไปอีกได้ ส่วนศาลจะประชุมเรื่องดังกล่าวนี้เสร็จเมื่อไหร่นั้น ก็ต้องรอให้ผ่านขั้นตอนดังกล่าวตามลำดับ ส่วนกลุ่มที่จะไม่ส่งมาเลย ผมให้ความเห็นไม่ได้ ขอให้รอฟังตุลาการว่าจะมีการพิจารณาออกมาอย่างไร”
หลายคนเชื่อ และคาดหวังอย่างยิ่งว่า ไอ้เต้น-ณัฐวุฒิ จะเข้าไปใช้ชีวิตในคุก ในฐานะจำเลยคดีก่อการร้าย เหมือน ก่อแก้ว พิกุลทอง
“ คาดว่าสำนักงานศาล คงอยู่ระหว่างการรวบรวมหลักฐานต่างๆ ว่า นายณัฐวุฒิ มีเจตนาร้ายแรงและส่งผลกระทบต่อศาลหรือไม่ เพราะครั้งที่แล้วนายเชาวนะได้เป็นผู้มอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่ของสำนักงานไปแจ้งความดำเนินคดีกับบุคคล และกลุ่มบุคคลและกลุ่มบุคคลที่มาพูดจาดูหมิ่นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้นครั้งนี้ต้องรอดูอีกครั้ง” นายสัมฤทธิ์ ไชยวงศ์ โฆษกศาลรัฐธรรมนูญ อธิบายการทำงานของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ตาม ท่าทีของศาลรัฐธรรมนูญต่อการกระทำ “ป่าเถื่อน” ของคนเสื้อแดง เริ่มแสดงให้เห็นถึง ความยุติธรรมในสังคมบ้าง
หัวหน้าโฆษกศาลรัฐธรรมนูญบอกว่า “วันนี้ (24 เม.ย.) ทางสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้รับหนังสือแจ้งจากสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สำนักเลขาธิการวุฒิสภา กรณีที่ทางสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้มีหนังสือลงวันที่ 11 เม.ย. แจ้งให้ ส.ส.และ ส.ว. 312 คน ซึ่งเป็นผู้ถูกร้องในดคี นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งระงับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 และมาตรา 237 ได้ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหากลับมายังศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือว่า ทางสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และสำนักเลขาธิการวุฒิสภาได้แจ้งให้ ส.ส. และ ส.ว.ทั้ง 312 คน มารับหนังสือของศาลรัฐธรรมนูญที่หน้าห้องประชุมรัฐสภา ในการประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 18 เม.ย. ที่ผ่านมา แต่ไม่มี ส.ส. และ ส.ว.คนใดมารับหนังสือดังกล่าว ”
ทั้งนี้ ข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ.2550 ข้อ 31 ระบุว่า การส่งคำร้อง ประกาศ หรือเอกสารอื่นใด ให้ส่งแก่คู่กรณีหรือผู้เกี่ยวข้อง ณ ภูมิลำเนา หรือถิ่นที่อยู่ปกติ หรือสถานที่ติดต่อแห่งใดแห่งหนึ่งตามที่คู่กรณีหรือผู้เกี่ยวข้องได้แจ้งไว้ ในกรณีไม่อาจดำเนินการได้ ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้นำเอกสารดังกล่าว ปิดไว้ ณ ที่ทำการศาล หรือสถานที่ที่คู่กรณีแจ้งไว้ หรือให้ประกาศโดยวิธีอื่นใดตามที่ศาลเห็นสมควร และการปิดหรือการประกาศดังกล่าว ให้ถือว่าได้มีการส่งเอกสารโดยชอบแล้วนับแต่วันปิดหรือประกาศแล้ว
" ขณะที่ ข้อ 29 ก็ระบุว่า กรณีผู้ถูกร้องไม่ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วันนับแต่วันรับสำเนาคำร้อง หรือภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด หรือไม่มารับสำเนาคำร้องภายในกำหนดเวลา ให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป ดังนั้นก็ขึ้นอยู่กับประธานศาลรัฐธรรมนูญและคณะตุลาการ ว่าจะพิจารณาดำเนินการตามข้อกำหนดข้อใด" นายพิมล กล่าว
“ไม่ได้รู้สึกกังวลอะไร เพราะคิดว่าน่าจะเป็นคนที่ไม่ค่อยรู้เรื่องรู้ราวมากกว่า เป็นแบบเดียวกับ นางกรองทอง ทนทาน หรือ “ดีเจป้อม” จ.อุดรธานี ที่ครั้งก่อนชุมนุมหน้ารัฐสภา ก็ด่าผมเสียหาย ผมก็ฟ้องศาลอาญาใน 4 ข้อหา ในฐานดูหมิ่นศาล ดูหมิ่นเจ้าพนักงานด้วยการโฆษณา โดยใช้ทนายจากสำนักงานทนายของคนพรรคเพื่อไทย คือสำนักงานทนายนิติทัศน์ศรีนนท์ ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีมีมูลประทับรับฟ้อง นางกรองทอง ก็ยื่นขอประนีประนอม จะขอขมา ศาลสั่งเลื่อนไปพิจารณาในวันที่ 27 พ.ค.นี้ ซึ่งผมก็ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะรับคำขอขมาหรือเปล่า” วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ อธิบายพฤติกรรมหัวหดของแกนนำคนเสื้อ ประเภทด่าเอาหน้า แล้วขอขมาทีหลัง
" ดังนั้นที่ชุมนุมกันหน้าสำนักงานอยู่ขณะนี้ ก็กำลังรวบรวมข้อมูลอยู่ ผมตามเก็บหมดไม่ฟังเสียงหรอก”วสันต์ย้ำถึงการเอาจริง
นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ บอกแค่ว่า "ศาลก็คงมีแต่เพียงปากกา ไม่ได้มีอำนาจอะไรมากมายไปกว่านั้น ซึ่งก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าเกิดอะไรขึ้นกับบ้านเมืองในปัจจุบันนี้ เหมือนนักมวย ไล่ต่อยกรรมการ"
ทั้งนี้กลุ่มเสื้อแดง ในนามกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กว่า 200 คน นำโดยนายพงษ์พิสิษฐ์ คงเสนา หรือ เล็กบ้านดอน ผู้อำนวยการสถานีวิทยุคนไทยหัวใจเดียวกัน ได้ปักหลักชุมนุมอยู่หน้าสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อกดดันเรียกร้องให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คนยุติการทำหน้าที่
"นี่เป็นการสร้างอำนาจเถื่อนเหนือศาล ซึ่งไม่ใช่แค่ศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น แม้แต่ศาลสถิตยุติธรรมก็ถูกกดดัน และมีการชุมนุมหน้าศาลอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ขบวนการเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่ของรัฐและคนในรัฐบาล ตัวนายกฯ เองก็ไม่เคยห้ามปรามแต่อย่างใด"สุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีนอธิบายพฤติกรรมนอกกฎหมายของกลุ่ม นปช.
ด้วยเหตุที่ว่า พวกนี้กำลังเขียนกฎหมายของตัวเองเพื่อปกครองคนอื่นขึ้นมา !!