xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ประชาธิปไตยแบบ“แม้ว”ศาล รธน.ต้องเป็นขี้ข้านักการเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กลุ่มคนเสื้อแดงชุมนุมหน้าศาลรัฐธรรมนูญ กดดันให้ตุลาการรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน ยุติการปฏิบัติหน้าที่
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -สัปดาห์ที่ผ่านมา นช.ทักษิณ ชินวัตร ได้เปิดเกมทุกแนวรบ เพื่อที่จะล้มคณะตุลาการรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันลงให้ได้

เริ่มตั้งแต่ให้ลิ่วล้อในรัฐสภา อันประกอบไปด้วย ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล และ ส.ว.อีกจำนวนหนึ่ง ออกมาท้าทายอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยการออกแถลงการณ์ เมื่อวันที่ 18 เม.ย. คัดค้านและไม่ยอมรับการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญกรณีที่รับวินิจฉัยคำร้องของนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ที่ยื่นร้องให้วินิจฉัยกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ที่ตัดสิทธิของประชาชนในการยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

นายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี รองประธานวิปรัฐสภา ในฐานะผู้ร่วมออกแถลงการณ์คัดค้านและไม่ยอมรับการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ อ้างว่า ศาลไม่ควรรับเรื่อง เนื่องจากอำนาจ 3 ฝ่าย บริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ ปกติจะไม่ก้าวก่ายซึ่งกันและกัน แต่การกระทำของศาลรัฐธรรมนูญเป็นการเบรกและก้าวก่ายการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งอาจเกิดปัญหาในการบริหารประเทศในอนาคตได้

นายดิเรกอ้างว่า โดยความเห็นส่วนตัว ศาลรัฐธรรมนูญไม่น่ารับคำร้อง เพราะไม่เห็นว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 68 จะเป็นการล้มล้างการปกครองตรงไหน การให้ประชาชนยื่นเรื่องพิทักษ์รัฐธรรมนูญผ่านอัยการสูงสุดแต่เพียงหน่วยงานเดียว ก็เพื่อให้เกิดความชัดเจน เป็นมาตรฐานเดียวกันไม่ต้องมาคลุมเครือว่าจะใช้ช่องทางใด

ขณะที่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ให้ความเห็นเช่นกันว่า โดยส่วนตัวมองว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจที่จะรับคำร้องเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณา

ด้านนายโภคิน พลกุล ประธานคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมมาตรา 291 ได้เตรียมออกจดหมายเปิดผนึกค้านอำนาจศาลรัฐธรรมนูญที่รับวินิจฉัยเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายเช่นกัน

ขณะที่นายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ก็เตรียมยื่นหนังสือเปิดผนึกในนาม ส.ส.และ ส.ว.312 คน ต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อปฏิเสธอำนาจศาลรัฐธรรมนูญที่รับคำร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา โดยอ้างว่าเป็นการก้าวล่วงอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ให้อำนาจรัฐสภาแก้รัฐธรรมนูญได้ ที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญเคยแนะนำให้แก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราได้

นอกจากนี้ยังมีกระแสข่าวว่า ส.ส.พรรคเพื่อไทย และ ส.ว.จำนวนหนึ่งกำลังรวบรวมรายชื่อเพื่อเตรียมเสนอเรื่องยื่นถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คนด้วย

ไม่เว้นแม้กระทั่ง นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว.สรรหา ที่ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 62 ประกอบมาตรา 70 ยื่นหนังสือต่อนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา เรียกร้องให้ส่งเรื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบการกระทำของศาลรัฐธรรมนูญ และสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ว่ามีการกระทำที่บิดเบือนพระบรมราชโองการหรือไม่ กรณีเห็นชอบให้นายชัช ชลวร พ้นจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ โดยยังคงดำรงตำแหน่งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และเลือกกันเองให้นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ

ส่วนในฟากการเมืองข้างถนน กลุ่มคนเสื้อแดงได้ชุมนุมที่หน้าอาคารศาลรัฐธรรมนูญ ภายในศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ เพื่อเรียกร้องให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน ยุติการทำหน้าที่โดยเด็ดขาด ตั้งแต่วันที่ 22 เม.ย.และขู่จะยกระดับการชุมนุมขึ้นเรื่อยๆ หากตุลาการทั้ง 9 ยังเพิกเฉย

โดยมีนายนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำคนเสื้อแดงที่ได้สวมชุดอำมาตย์เป็น รมช.พาณิชย์ ออกมาให้ท้าย และอ้างว่า สิ่งที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญปฏิบัติถือเป็นการก้าวก่ายแทรกแซง และในที่สุดจะกลายเป็นชนวนในการสร้างความวุ่นวายในบ้านเมือง

ส่วนคนเสื้อแดงในคราบนักวิชาการ อย่างนายวรพล พรหมมิกบุตร อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ยื่นหนังสือเปิดผนึกต่อ นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นคนเสื้อแดงด้วยกัน เพื่อให้ยื่นต่อนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา และอ้างว่าบทบาทของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันมีหลายประเด็นที่ล่อแหลมต่อการกระทำผิดกฎหมายและผิดต่อรัฐธรรมนูญซะเอง

หลังจากนั้น นายวรพลได้ไปแจ้งความร้องทุกข์ที่กองปราบปราม เพื่อดำเนินคดีกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ และเจ้าหน้าที่ระดับสูงอีกบางคนที่เกี่ยวข้องหรือไม่ กรณีใช้อำนาจวินิจฉัยร้องเรียนตามมาตรา 68 โดยไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากอัยการสูงสุด (ออส.)

ในเวลาเดียวกัน คณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) ที่มีนายอุกฤษ มงคลนาวิน เป็นประธาน ได้ออกมารับลูก ทันที ด้วยการเผยแพร่บทความ“ข้อเสนอปรับปรุงศาลรัฐธรรมนูญ”ที่นายอุกฆษเขียนเอง

นายอุกฤษอ้างว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีสำคัญช่วงระยะเวลา 7-8 ปีที่ผ่ามน ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างว่าเป็นคำวินิจฉัยที่อาจมีปัญหาเกี่ยวกับความถูกต้องเป็นธรรม และหลายคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยโดยก้าวล่วงการใช้อำนาจอธิปไตยขององค์กรอื่นโดยไม่มีอำนาจ และขัดต่อหลักการแบ่งอำนาจ เช่น คดีการเพิกถอนการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2549 คดียุบพรรคการเมืองหลายพรรค คดีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นพิธีกรในรายการ “ชิมไปบ่นไป” หรือคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญกรณีรับคำร้องตามรัฐธรรมนูญมามตรา 68 ไว้พิจารณา

นายอุกฤษจึงเสนอแก้ไขปัญหาของศาลรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญได้เฉพาะแต่ในกรณีที่เป็นร่างกฎหมายที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว และก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยเท่านั้น และวิธีการที่จะทำให้บทบัญญัติใดของกฎหมายตกไป หรือเป็นอันใช้บังคับไม่ได้ เฉพาะแต่ฝ่ายนิติบัญญัติในฐานะผู้แทนปวงชนเท่านั้นที่จะปรับปรุง หรือทำการแก้ไขเพิ่มเติม

กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วยประธานศาลรัฐธรรมนูญคนหนึ่ง และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนอื่นอีก 14 คน รวมเป็น 15 คน และองค์คณะในการนั่งพิจารณา และในการทำคดีวินิจฉัย ต้องประกอบด้วยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่น้อยกว่า 10 คน และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนตุลาการทั้งหมด

กำหนดให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีวาระการดำรงตำแหน่งเพียง 4 ปี และให้ดำรงตำแหน่งเพียงวาระเดียว นอกจากนี้ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญควรมีที่มายึดโยงกับประชาชนผู้เป็นเจ้าของอธิปไตยด้วย

กำหนดระยะเวลาในการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญในแต่ละประเภทคดีไว้อย่างชัดเจน และจะต้องมีการกำหนดเวลาในการเผยแพร่คำวินิจฉัยกลาง และความเห็นในการวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทุกคนในราชกิจานุเบกษาภายใน 30 วัน ด้วย

สรุปแล้ว นายอุกฤษซึ่งมานั่งเป็นประธาน คอ.นธ.ตามใบสั่งของ นช.ทักษิณ ต้องการที่จะลดบทบาทและอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญลง ให้วินิจฉัยได้เฉพาะร่างกฎหมายที่สภาเห็นชอบแล้วเท่านั้น

ที่สำคัญคือการอ้างว่าศาลรัฐธรรมนูญต้องยึดโยงกับประชาชน นั่นหมายความว่า นายอุกฤษต้องการให้นักการเมืองมีส่วนในการคัดเลือกตุลการรัฐธรรมนูญด้วย คล้ายกับที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ให้มีตุลการ 15 คน โดยเป็นผู้พิพากษามาจากการคัดเลือกของศาล 7 คน และผู้ทรงคุณวุฒิมาจากการสรรหาของวุฒิสภา 8 คน

อันเป็นช่องโหว่ให้ นช.ทักษิณ ชินวัตร เข้ามาแทรกแซงศาลรัฐธรรมนูญได้ ผลก็คือ คำตัดตัดสินที่เป็นการหักดิบกฎหมายเพื่อช่วยนักการเมืองทุนสามานย์ อาทิ คดีซุกหุ้นภาคแรกของ นช.ทักษิณ การวินิจฉัยให้พรรคการเมืองสามารถยุบรวมกันได้หลังการเลือกตั้ง(เพื่อให้พรรคไทยรักไทยของ นช.ทักษิณมีเสียงข้างมากจนยึดครองสภาได้) รวมทั้งการไม่รับวินิจฉัยเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนของ นช.ทักษิณกรณีการขายหุ้นชินคอร์ปฯ เป็นต้น

นช.ทักษิณเสพติดการได้ประโยชน์จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่เขาเข้าไปแทรกแซงได้ ในยุคที่เขายังเป็นนายกรัฐมนตรี แต่เมื่อมีการปรับปรุงระบบศาลรัฐธรรมนูญใหม่ ตามรัฐธรรมนูญ 2550 เขาไม่สามารถสั่งศาลรัฐธรรมนูญซ้ายหันขวาหันได้อีกต่อไป

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันได้ขัดขวางกระบวนการล้างผิดให้ นช.ทักษิณมา ด้วยการวินิจฉัยระงับการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 วาระ 3 และล่าสุดได้รับวินิจฉัยการแก้ไขมาตรา 68 ที่ไปตัดสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญของประชาชน

นี่จึงเป็นเหตุให้ นช.ทักษิณเปิดเกมรุกฆาตทุกแนวรบ เพื่อให้ตุลาการรัฐธรรมนูญกลับมาเป็นข้ารับใช้ของเขาให้ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น