xs
xsm
sm
md
lg

“แดง-พท”คุกคามศาลรธน. ร่อนจม.ค้านอำนาจ-มึน!สไกป์แม้วยุบสภา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ ( 22 เม.ย.) กลุ่มคนเสื้อแดงในนามกลุ่มผู้กล้าประชาธิปไตย ประมาณ 200 คน นำโดยนายพงษ์พิสิษฐ์ คงเสนา หรือ เล็ก บ้านดอน ผู้อำนวยสถานีวิทยุคนไทยหัวใจเดียวกัน ชุมนุม หน้าศูนย์ราชการฯ 1 อาคารศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อเรียกร้องให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน ยุติการทำหน้าที่โดยเด็ดขาด เนื่องจากเห็นว่าไม่มีความชอบธรรมในการปฎิบัติหน้าที่ เพราะไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ มาไม่ถูกต้อง แต่กลับใช้อำนาจก้าวก่ายฝ่ายบริหารและกระบวนการยุติธรรม ทำให้เกิดปัญหาในการบริหารประเทศ รัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาได้ สร้างความแตกแยกในสังคม โดยผู้ชุมนุมประกาศจะชุมนุมที่หน้าศาลรัฐธรรมนูญอย่างน้อยเป็นเวลา 3 วัน
ขณะที่ภายในศาลรัฐธรรมนูญได้มีการจัดเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจากนครบาล ทั้งในและนอกเครื่องแบบ รวมทั้งกองร้อยปราบจลาจลจำนวน 1 กองร้อย
นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ขณะนี้คณะตุลาการฯ ยังไม่ได้กำหนดว่าจะมีการประชุมเพื่อพิจารณากรณีพล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา ยื่นคำร้องตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุติการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 68 และมาตรา 237 และระหว่างการพิจารณาขอให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเป็นกรณีฉุกเฉินให้รัฐสภาระงับการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย เมื่อใดเนื่องจากขณะนี้คำร้องดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการตรวจพิจารณาคำร้องของเจ้าหน้าที่สำนักงาน ว่า มีเนื้อหาคล้ายคลึงกับที่กลุ่ม 40 ส.ว.ได้ยื่นไว้ก่อนหน้านี้แล้วหรือไม่ ทั้งนี้นายพิมล ไม่ได้แสดงความเห็นว่าหากคำร้องของพล.อ.สมเจตน์ มีลักษณะเดียวกับที่กลุ่ม 40 ส.ว.ยื่นมาแล้วคณะตุลาการจะพิจารณาให้นำไปรวมเป็นสำนวนเดียวกันหรือไม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ยังไม่มีความชัดเจนว่าประธานศาลรัฐธรรมนูญจะเรียกประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเมื่อใดเพื่อพิจารณาคำขอคุ้มครองชั่วคราวเป็นกรณีฉุกเฉินของพล.อ.สมเจตน์ แต่ก่อนหน้านี้เมื่อได้รับคำร้องของ 40 ส.ว. และนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา คณะตุลาการก็ได้มีการเร่งประชุมเพื่อพิจารณาตามคำร้องขอ ซึ่งโดยปกติแล้วตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะมีการประชุมประจำสัปดาห์ทุกวันพุธ เว้นแต่มีกรณีเร่งด่วนประธานศาลรัฐธรรมนูญก็จะเรียกประชุม ซึ่งเดิมหลังคณะตุลาการฯมีมติไม่รับคำร้องของนายเรืองไกรแล้ว ก็ต้องรอดูว่าจะมีการนัดประชุมวาระพิเศษก่อนวันที่ 1 พ.ค.หรือไม่
นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ขอขยายเวลาทำคำชี้แจงออกไปอีก 30 วัน เนื่องจากเดือนเมษายนมีวันหยุดราชการมาก แต่ได้ให้หลักการไปว่าให้ทำเป็นคำชี้แจงรวม ชี้ให้เห็นว่าเป็นสิทธิ์ของสมาชิกรัฐสภาที่สามารถจะเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญได้และให้ทั้ง 60 ส.ว.ที่ลงชื่อในร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ..ร่วมกันลงชื่อ ซึ่งเป็นการทำคำชี้แจงในส่วนของส.ว.เท่านั้น ไม่รวมกับฝากส.ส. ส่วนตนแม้จะได้ลงชื่อในแถลงการณ์ไม่ยอมรับเขตอำนาจตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเห็นว่ามองจากมุมไหนศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่น่าจะรับคำร้อง แต่ในส่วนคำชี้แจงนั้นตนยังไม่ขอให้คำตอบว่าจะร่วมลงชื่อในคำชี้แจงรวมหรือไม่
ด้านนางนรรัตน์ พิมเสน เลขาธิการวุฒิสภา กล่าวว่า ฝ่ายกฎหมายฯ จะยื่นเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอขยายเวลาในการส่งคำชี้แจง จากกำหนดที่ต้องส่งวันสุดท้ายคือ 26 เมษายน จะขอขยายเวลาเพื่มอีก 30 วัน เนื่องจากเอกสารชี้แจงยังไม่เรียบร้อย และยังไม่ได้ข้อสรุปว่าส.ว.แต่ละคนเห็นอย่างไร ซึ่งขณะนี้มีส.ว.มาเซ็นรับทราบทำคำชี้แจงเพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญแล้วกว่า 40 คน
ที่พรรคเพื่อไทย นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทยเตรียมยกร่างจดหมายเปิดผนึกส่งถึงศาลรัฐธรรมนูญรวมถึงประชาชนว่า การรับเรื่องวินิจฉัยการแก้รัฐธรรมนูญรายมาตราของศาลรัฐธรรมนูญไม่ถูกต้อง เป็นการก้าวล่วงอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากปล่อยให้มีการยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญต่อไป ระบบถ่วงดุลจะมีปัญหา เพราะอำนาจในการออกกฎหมายเป็นของสมาชิกรัฐสภา
ยืนยันว่าการทำหนังสือเปิดผนึกถึงศาลรัฐธรรมนูญและประชาชนครั้งนี้ไม่ใช่การขัดแย้ง หรือล้มองค์กรอิสระ แต่ต้องการให้รักษาหลักการแบ่งแยกอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการไว้
นายสามารถ แก้วมีชัย สส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ยืนยันว่า จะยังคงรวบรวมรายชื่อ สส.และสว.เพื่อเข้าชื่อถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ว่าเข้าข่ายล้มล้างการปกครองหรือไม่ โดยจะยื่นเรื่องต่อประธานวุฒิสภาและส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ไต่สวนก่อน ซึ่งตามขั้นตอน ปปช.ต้องส่งเรื่องกลับมาให้วุฒิสภามีมติถอดถอนอีกครั้ง ทั้งนี้ตามรัฐธรรมนูญต้องใช้เสียงไม่ต่ำกว่า 3 ใน 5 ของจำนวนสว.การถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง อย่างไรก็ตามไม่กังวลว่าสุดท้ายจะสำเร็จหรือไม่ เนื่องจากมีเสียงของ สว.สรรหาครึ่งหนึ่งอยู่ในวุฒิสภา แต่ถือว่าได้แสดงออกถึงความต้องการคัดค้านอำนาจศาล เพื่อคงไว้หลักการแบ่งแยกอำนาจที่รัฐสภามีอำนาจโดยชอบธรรมในการแก้ไขกฎหมาย
ทั้งนี้ กระบวนการถอดถอนไม่ใช่มติของพรรคเพื่อไทย จึงไม่จำเป็นต้องเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมพรรค แต่เป็นหน้าที่ของ สส.และ สว.312 คนที่ลงชื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเเละถูกยื่นคำร้องก่อนหน้านี้ โดยหลังจากนี้แกนนำ สส.และสว.จะมีการหารือกันอีกครั้งถึงการเข้าชื่อถอดถอน โดยต้องรอให้หลังเสร็จสิ้นการยื่นจดหมายเปิดผนึกคัดค้านอำนาจศาลต่อศาลรัฐธรรมนูญก่อน ซึ่งขณะนี้คณะทำงานฝ่ายกฎหมายกำลังยกร่าง และรอดูท่าทีตอบรับของศาลรัฐธรรมนูญหลังจากรับจดหมายเปิดผนึกของสมาชิกรัฐสภา
นายอำนวย คลังผา ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวว่า คาดว่าจะมีเนื้อหาไม่แตกต่างไปจากแถลงการณ์ร่วม ที่ไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ รับวินิจฉัยการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราของ ส.ส.และ ส.ว. 312 คนเมื่อช่วงที่ผ่านมา โดยจะชี้ให้เห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญกำลังก้าวล่วงอำนาจของรัฐสภา จะยืนยันว่ารัฐสภามีอำนาจในการออกกฎหมาย อย่างไรก็ตามเมื่อศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องในเรื่องดังกล่าวไปแล้วก็ไม่เป็นไร ส่วนศาลจะวินิจฉัยออกมาในทางใดก็ว่ากันไป แต่จะยืนยันว่ารัฐสภามีอำนาจแก้รัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ขอตั้งข้อสังเกตว่าทำไมในยุคของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี แก้ไขรัฐธรรมนูญได้ แต่พอมาเป็นรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี กลับแก้ไม่ได้.
ที่รัฐสภา นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต สว.สรรหา ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 62 ประกอบมาตรา 70 ยื่นหนังสือต่อ ประธานวุฒิสภา เรียกร้องให้ส่งเรื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบการกระทำของศาลรัฐธรรมนูญ และสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ว่ามีการกระทำที่บิดเบือนพระบรมราชโองการหรือไม่
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว ว่า ทุกฝ่ายมีขอบเขตอำนาจหน้าที่ของตนเอง ศาลรัฐธรรมนูญก็มีหน้าที่เฉพาะในการดูแลพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ซึ่งในการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ที่มีผู้ไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญก็มีการยกคำร้องไปแล้ว เพียงแต่ชี้ประเด็นว่าควรจะเป็นอย่างไรเท่านั้น ในครั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญเพิ่งจะรับคำร้องแต่กลับมีการคัดค้านแล้วก็ดูกระไร ๆ อยู่ เพราะหากเริ่มตั้งคำถามซึ่งกันและกันก็จะเป็นปัญหา เนื่องจากเป็นการเพิ่มความขัดแย้งระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและตุลาการมากขึ้น โดยเห็นว่าฝ่ายรัฐบาลก็ต้องการที่จะผลักดันไปสู่เป้าหมายที่ไม่ว่าจะฝ่ายนิติบัญญัติ ตุลาการ หรือทุก ๆ ฝ่ายจะต้องอยู่ภายใต้ฝ่ายบริหารเกือบหมด ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย จึงคิดว่าสิ่งที่รัฐบาลกำลังทำอยู่เป็นความพยายามที่จะนำไปสู่การล้มอำนาจตุลาการเพราะมีการท้าทายอำนาจตุลาการมาโดยตลอดหากตัดสินถูกใจก็เฉย ๆ แต่ถ้าไม่พอใจคำตัดสินก็จะสร้างกระแสเข้ามาล้มระบบตรงนี้ซึ่งอันตราย
ส่วนกรณีที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ออกมาระบุว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร สไกป์มาในการประชุมส.ส.ว่า หากแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่สำเร็จจะมีการยุบสภาจะทำให้ดีกรีทางการเมืองร้อนแรงขึ้นหรือไม่นั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เป็นเป้าหมายเพราะถึงที่สุดแล้วพ.ต.ท.ทักษิณ ก็ปักธงอย่างเดียวว่า จะกลับบ้านมาโดยไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเหมือนกับคนอื่น โดยรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยก็วนเวียนอยู่ตรงนี้ผ่านมาเกือบสองปีแล้ว
ผู้สื่อข่าวถามถึงโอกาสความเป็นไปได้ที่จะมีการยุบสภาในระยะเวลาอันใกล้นี้ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตอบยาก ตนคิดว่าสิ่งที่สำคัญคือถ้าพูดอย่างนี้พรรคเพื่อไทยก็จะดำรงอยู่เพียงเพื่อเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณ เท่านั้น ส่วนจะเป็นเพราะพ.ต.ท.ทักษิณ มีความมั่นใจว่าจะชนะเลือกตั้งจึงนำเรื่องการยุบสภามาเป็นเงื่อนไขสุดท้ายหรือไม่นั้น ตนอยากให้มองว่าในการเลือกตั้งซ่อมที่เชียงใหม่ก็มีการตั้งเป้าว่าจะได้คะแนนเป็นแสนเพื่อสร้างความชอบธรรมด้วยซ้ำ แต่ผลก็ไม่ได้ออกมาอย่างนั้น
สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่อยู่ในระหว่างการแปรญัตติในชั้นกรรมาธิการนั้น ในส่วนของตนได้แปรญัตติเกี่ยวกับมาตรา190 แล้ว โดยตนยืนยันว่าข้อตกลงที่มีผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม อย่างกว้างขวางต้องผ่านกระบวนการของสภา เพียงแต่ทำกระบวนการให้มีความกระชับขึ้นเท่านั้น
ที่พรรคเพื่อไทย มีการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ประชาสัมพันธ์ของพรรค นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมายพ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า จะมีการจัดเวทีปราศรัยใหญ่ "เพื่อไทยเพื่ออนาคตประเทศไทย" ตามจังหวัดใหญ่ ๆ เริ่มต้นปลายเดือนเม.ย.ด้วย โดยจะเป็นลักษณะเดียวกับการจัดเวทีผ่าความจริงของพรรคประชาธิปัตย์ ชี้แจงถึงเรื่องที่รัฐบาลถูกบิดเบือนข้อมูลใส่ร้าย
ช่วงเช้าวันเดียวกัน ฝ่ายกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ ได้เรียกประชุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ รวม 44 คน ที่ถูกกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ เรียกให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาในคดีบริจาคเงินเข้าพรรค เดือนละ 2 หมื่นบาท ผ่านการตัดบัญชีเงินเดือน ส.ส. โดยทุกคนจะร่วมแสดงพลังความเป็นหนึ่งเดินทางไปเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา ในวันที่ 23 เม.ย.นี้ โดยนัดหมายขึ้นรถที่พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมทีมกฎหมายพรรค ในเวลา 08.00 น.
นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี ดีเอสไอ ระบุมีแกนนำประชาธิปัตย์บางคนโทรศัพท์มาตำหนิการทำงานว่า เหมือนเป็นการกดดันเจ้าพนักงานหรือไม่ ขอเรียกร้องให้แกนนำพรรคประชาธิปัตย์เคารพหลักนิติรัฐ นิติธรรม หากมีหลักฐานก็จะร้องเอาผิดกับแกนนำพรรคที่โทรศัพท์ไปกดดัน .
กำลังโหลดความคิดเห็น