ประธานวุฒิสภา โยนฝ่ายกฎหมายวุฒิฯ ขยายคำชี้แจงศาล รธน.กรณีแก้ ม.68 ไปอีก 30 วัน เน้นแจงสิทธิ์ของสมาชิก ยังไม่ตอบลงชื่อในคำชี้แจงหรือไม่ ด้านเลขาฯ วุฒิฯ เผยมี 40 ส.ว.เซ็นรับทราบแล้ว ขณะที่ หน.โฆษกศาล รธน.เผยตุลาการยังไม่ได้กำหนดจะประชุมพิจารณากรณี “สมเจตน์” ร้องระงับหรือไม่
วันนี้ (22 เม.ย.) ที่รัฐสภา นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา กล่าวถึงการทำคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีศาลรับคำร้องของ นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ที่ว่าการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ขอขยายเวลาทำคำชี้แจงออกไปอีก 30 วัน เนื่องจากเดือนเมษายนมีวันหยุดราชการมาก แต่ได้ให้หลักการไปว่าให้ทำเป็นคำชี้แจงรวม ชี้ให้เห็นว่าเป็นสิทธิ์ของสมาชิกรัฐสภาที่สามารถจะเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญได้และให้ทั้ง 60 ส.ว.ที่ลงชื่อในร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ..ร่วมกันลงชื่อ ซึ่งเป็นการทำคำชี้แจงในส่วนของ ส.ว.เท่านั้น ไม่รวมกับฝาก ส.ส.ส่วนตนแม้จะได้ลงชื่อในแถลงการณ์ไม่ยอมรับเขตอำนาจตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเห็นว่ามองจากมุมไหนศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่น่าจะรับคำร้อง แต่ในส่วนคำชี้แจงนั้นตนยังไม่ขอให้คำตอบว่าจะร่วมลงชื่อในคำชี้แจงรวมหรือไม่
ด้าน นางนรรัตน์ พิมเสน เลขาธิการวุฒิสภา กล่าวว่า ฝ่ายกฎหมายฯ จะยื่นเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอขยายเวลาในการส่งคำชี้แจง จากกำหนดที่ต้องส่งวันสุดท้ายคือ 26 เมษายน จะขอขยายเวลาเพื่มอีก 30 วัน เนื่องจากเอกสารชี้แจงยังไม่เรียบร้อย และยังไม่ได้ข้อสรุปว่าส.ว.แต่ละคนเห็นอย่างไร ซึ่งขณะนี้มี ส.ว.มาเซ็นรับทราบทำคำชี้แจงเพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญแล้วกว่า 40 คน
ขณะที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ขณะนี้คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ยังไม่ได้กำหนดว่าจะมีการประชุมเพื่อพิจารณากรณี พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา ยื่นคำร้องตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุติการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 68 และมาตรา 237 และระหว่างการพิจารณาขอให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเป็นกรณีฉุกเฉินให้รัฐสภาระงับการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย เมื่อใดเนื่องจากขณะนี้คำร้องดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการตรวจพิจารณาคำร้องของเจ้าหน้าที่สำนักงาน ว่า มีเนื้อหาคล้ายคลึงกับที่กลุ่ม 40 ส.ว.ได้ยื่นไว้ก่อนหน้านี้แล้วหรือไม่ ทั้งนี้ นายพิมล ไม่ได้แสดงความเห็นว่าหากคำร้องของพล.อ.สมเจตน์ มีลักษณะเดียวกับที่กลุ่ม 40 ส.ว.ยื่นมาแล้วคณะตุลาการจะพิจารณาให้นำไปรวมเป็นสำนวนเดียวกันหรือไม่
มีรายงานว่า ยังไม่มีความชัดเจนว่าประธานศาลรัฐธรรมนูญจะเรียกประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเมื่อใดเพื่อพิจารณาคำขอคุ้มครองชั่วคราวเป็นกรณีฉุกเฉินของ พล.อ.สมเจตน์ แต่ก่อนหน้านี้เมื่อได้รับคำร้องของ 40 ส.ว.และนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา คณะตุลาการก็ได้มีการเร่งประชุมเพื่อพิจารณาตามคำร้องขอ ซึ่งโดยปกติแล้วตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะมีการประชุมประจำสัปดาห์ทุกวันพุธ เว้นแต่มีกรณีเร่งด่วนประธานศาลรัฐธรรมนูญก็จะเรียกประชุม ซึ่งเดิมหลังคณะตุลาการฯมีมติไม่รับคำร้องของนายเรืองไกรแล้ว ได้ตกลงที่จะนัดประชุมอีกครั้งในวันที่ 1 พ.ค.เพื่อพิจารณาเรื่องที่ค้างอยู่แต่เมื่อ พล.อ.สมเจตน์ มายื่นคำร้องดังกล่าวเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ต้องรอดูว่าจะมีการนัดประชุมวาระพิเศษก่อนวันที่ 1 พ.ค.หรือไม่