xs
xsm
sm
md
lg

ปราการด่านสุดท้ายของประชาธิปไตย

เผยแพร่:   โดย: ชัยอนันต์ สมุทวณิช

วิวาทะกรณีปาฐกถาของนายกรัฐมนตรีที่มองโกเลียยังไม่จบ มีผู้ออกมาวิจารณ์มากมาย โดยเฉพาะการ์ตูนนิสต์ชื่อดัง “ชัย ราชวัตร” ผมบอกแล้วว่า เราคงคาดหวังให้นายกฯ ยิ่งลักษณ์พูดถึงคดีทักษิณไม่ได้ แต่การที่ผู้นำไปพูดในเวทีโลกวิจารณ์ประเทศตนเองอย่างนี้ แม้จะไม่ผิดแต่ก็ไม่ควร อย่างนี้ฝรั่งเรียกว่า “Bad Taste” หรือการมีรสนิยมต่ำๆ ไม่มีผู้นำประเทศไหนเขาทำกัน ของเราเป็นประเทศแรกในโลก

การที่นายกฯ ไปพูดเช่นนี้ ก็ไม่ใช่ว่าจะคิดเองเขียนเอง แต่เดาได้ว่าคนเขียนปาฐกถาให้น่าจะเป็นคนที่ผิดหวัง และโกรธแค้นการที่ทักษิณโดนทำรัฐประหารอย่างแน่นอน การที่ประเทศไทยมีการปฏิวัติในยุคโลกาภิวัตน์นี้ก็ถือว่าเป็นเรื่องแปลก เพราะดูจะตกยุคไปแยะ หากไม่เหลืออดจริงๆ แล้ว ทหารก็ไม่คงลุกมาปฏิวัติ เพราะเป็นที่ทราบดีว่าทหารต่างระมัดระวังตัว โดยเฉพาะทหารยุคหลัง

รัฐประหารมักจะเกิดขึ้นเมื่อเกิดภาวะอุดตันทางการเมือง กล่าวคือหมดหนทางปกติตามครรลองประชาธิปไตย ที่จะเอารัฐบาลออกจากตำแหน่งซึ่งแสดงว่ารัฐบาลมีอำนาจมากจริงๆ จึงต้องไปพึ่งกำลังทหาร ดังนั้นการมีอำนาจเป็นสิ่งที่พึงปรารถนา แต่การมีอำนาจมากเกินไปก็เป็นภัยแก่ตัวเช่นกัน

แต่ในบางประเทศแม้รัฐบาลจะมีอำนาจมากเพียงใด แต่ก็ไม่มีการปฏิวัติ ดูมาเลเซียเป็นตัวอย่าง มาเลเซียเพิ่งผ่านการเลือกตั้งไปหยกๆ พรรครัฐบาลก็ได้รับชัยชนะอีก ตั้งแต่ได้รับเอกสารมา พรรครัฐบาลชนะเลือกตั้งทุกครั้ง แต่ก็ไม่ใช่มาเลเซียจะมีปัญหา เพราะปัญหานั้นเกิดจากการแย่งชิงอำนาจภายในพรรคด้วยกันเอง และก็มีวิธีการสกปรกด้วย อย่างเช่นกรณีนายอันวาร์ อิบราฮิม เป็นต้น

อันวาร์ ผู้นี้เคยเป็นผู้นำกลุ่มคนหนุ่ม เผลอเดี๋ยวเดียวก็แก่แล้วมีลูกสาวมาช่วย นายอันวาร์เคยเป็นดาวรุ่งพุ่งแรง แต่ถูกแรงกดดันภายในพรรค ว่ากันว่ากลุ่มสายกลางรวมกับกลุ่มอนุรักษนิยม กลัวว่านายอันวาร์จะนำมาเลเซียไปสู่ความก้าวหน้าแบบสุดโต่งเกินไป ข้อกล่าวหานายอันวาร์ก็พิลึกคือ หาว่าเขามีความสัมพันธ์ทางเพศกับผู้ชายด้วยกันคือคนรถของเขา

เหตุที่มาเลเซียไม่มีการปฏิวัตินี้ ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะพวกทหารเขาถือหลักการเป็นทหารอาชีพไม่เข้าแทรกแซง ผมเคยสนิทสนมกับผู้บัญชาการทหารบกของมาเลเซีย เขามักจะบอกว่าเขาจะไม่ยุ่งกับการเมืองเลย อีกประการหนึ่งก็เป็นเพราะพรรคการเมืองของมาเลเซียมีความเข้มแข็งมาก และมีมาตรการต่างๆ ในการแก้ปัญหาภายในของตนเอง โดยที่ผู้นำทหารไม่เข้ามาเกี่ยวข้อง

มีกรณีใดบ้างที่ทหารจะเข้าแทรกแซงทางการเมือง ในประการแรกคือ การที่การเมืองเข้าไปยุ่งกับทหารก่อน โดยเฉพาะในการโยกย้ายทหาร ดังที่เคยปรากฏมาแล้วในกรณีที่มีความพยายามจะย้ายพล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก นอกจากนั้นก็มาจากการที่ทหารรู้สึกว่าถูกกระทบผลประโยชน์ เช่น ถูกตัดงบประมาณมากๆ เป็นต้น

แต่มาระยะหลังๆ นี้ ทหารให้เหตุผลว่ารัฐบาลมีการโกงกินกันมาก และมีการปล่อยให้เกิดการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ นี่เป็นเหตุที่ทหารอ้างในการทำการปฏิวัติถึงสองครั้ง แต่ในปัจจุบันมีข้อคิดว่าทหารจะเข้าแทรกแซงก็ต่อเมื่อบ้านเมืองเกิดความวุ่นวาย ประชาชนต่อสู้กันเองจนเกิดสงครามกลางเมือง

สถานการณ์เช่นนี้เป็นที่คาดคิดกันอยู่ เพราะเวลานี้สังคมเราแตกแยกกันอยู่แล้ว รอแต่ให้มีสถานการณ์ที่คนอดทนไม่ได้ เช่น การออก พ.ร.บ.ล้างมลทินให้ทักษิณ เป็นต้น แต่ก็ยังไม่กล้า จึงดำเนินการอย่างอื่นเช่น พยายามต่อต้านล้มล้างองค์กรอิสระที่อาจมีอำนาจมาคัดง้างกับรัฐบาลได้

ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่จะมีคนพุ่งเป้าไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นองค์กรที่รัฐบาลคุมไม่ได้ และคนที่ถูกโจมตีมากที่สุดก็บังเอิญเป็นคนดีที่สุด เก่งที่สุดเสียด้วยคือ นายจรัญ ภักดีธนากุล

นายจรัญเป็นคนเรียนเก่งได้เป็นที่ 1 ของคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ และเมื่อสอบเนติบัณฑิตก็ได้ที่ 1 เช่นกัน เคยเป็นปลัดกระทรวงยุติธรรมตั้งแต่อายุยังน้อย คุณจรัญเป็นนักกฎหมายที่เก่งและซื่อสัตย์ ไม่ยอมสยบให้แก่อำนาจใดๆ

นายอะไรจำชื่อไม่ได้ออกมาร้องแรกแหกกระเชอว่า นายอภิสิทธิ์ มีสิทธิอะไรมาไล่นายกฯ แล้วคุณล่ะมีสิทธิอะไรมาขับไล่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

ศาลรัฐธรรมนูญประสบกับมรสุมทางการเมืองเป็นระยะๆ ตราบใดที่ยังคงยึดมั่นในความเป็นอิสระอยู่ ศาลรัฐธรรมนูญจึงเป็นปราการด่านสุดท้ายของระบอบประชาธิปไตย

หากฝูงชนบ้าคลั่งล้มศาลรัฐธรรมนูญได้ คำถามก็คือเป้าต่อไปของพวกเขาคือสถาบันใด?
กำลังโหลดความคิดเห็น