เลขานายกฯ ป้องนาย ซัด “ชัย ราชวัตร” ดูถูกนายกฯ หมิ่นศักดิ์ศรีเพศแม่ จวกเปรียบต่ำกว่าโสเภณีไม่เหมาะสม ฮึ่มฝ่ายกฎหมายเช็กฟ้องหมิ่นทุกเม็ด ชูปาฐกถามองโกเลียประกาศจุดยืนชัด อ้างไม่ได้มีเจตนาประจานสยาม ไล่ฝ่ายค้านไปคิดทำอะไรเสียหายบ้าง ไม่ขัดขวางทำจดหมายโต้ สวน ส.ว.พูดความจริงทำไมต้องขอโทษ รอหนังสือ กมธ.เชิญสอบ เชื่อเจ้าตัวเห็นถึงเวลาแล้วจึงพูด ยันรัฐบาลเป็นประชาธิปไตยแล้วเพราะมาจากการเลือกตั้ง
วันนี้่ (3 พ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 11.00 น. นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนายสมชัย กตัญญุตานันท์ หรือชัย ราชวัตร นักเขียนการ์ตูน นสพ.ไทยรัฐ เขียนข้อความบนเว็บไซต์เฟซบุ๊กส่วนตัววิจารณ์คำปาฐกถาของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ประเทศมองโกเลียว่า หลายส่วนมีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ นายกฯ ก็พร้อมรับฟังการวิพากษ์วิจารณ์ แต่ก็มีบางส่วนรวมถึงสื่อมวลชนมีการวิพากษ์วิจารณ์ ใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสม ถือเป็นการดูถูก ไม่เฉพาะนายกฯ ซึ่งศักดิ์ศรีของนายกฯ ต้องรักษาไว้ ขณะเดียวกันที่แย่ไปกว่านั้นคือการดูถูกศักดิ์ศรีของลูกผู้หญิงคนหนึ่ง
“ผมขอวิงวอนว่าการวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ ขอให้อยู่ในกรอบของการวิพากษ์วิจารณ์เนื้อหาที่นายกฯ ปาฐกถาไป ไม่ใช่เอาเรื่องของความเป็นสตรีเพศ หรือการไปเปรียบเทียบนายกฯ ซึ่งเป็นผู้หญิง กับผู้หญิงขายตัว ซึ่งจริงๆ ผู้หญิงขายตัวก็เป็นผู้หญิงแล้วไปดูถูกผู้หญิงที่ทำอาชีพนั้นด้วยความจำเป็น ซึ่งเป็นปัญหาที่เราต้องช่วยกันแก้ไขก็แย่อยู่แล้ว แล้วนี่ไปเปรียบเทียบนายกฯ ไทยที่ต่ำกว่าอีก ถือเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง ซึ่งผมคิดว่าคนในสังคมปกติคงไม่มีใครยอมรับ และควรที่จะประณามด้วยซ้ำกับบุคคลที่ไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ในเนื้อหา แต่กลับใช้เรื่องของเพศ เรื่องของบุคลิกส่วนตัวมาวิพากษ์วิจารณ์” นายสุรนันทน์กล่าว
เมื่อถามว่าจะมีการฟ้องร้องหรือไม่ นายสุรนันทน์กล่าวว่า ตอนนี้ฝ่ายกฎหมายของนายกฯ กำลังพิจารณาทุกคำพูด และการวิพากษ์วิจารณ์ เพราะหากเป็นการหมิ่นประมาทส่วนตัว ฝ่ายกฎหมายก็กำลังพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรได้บ้าง เมื่อถามว่าขณะนี้พรรคประชาธิปัตย์ส่งหนังสือไปยังประเทศมองโกเลียเพื่อชี้แจงในสิ่งที่นายกฯ พูดไม่หมด โดยเฉพาะการถูกยึดอำนาจรัฐประหารของพี่ชาย นายสุรนันทน์กล่าวว่า การปาฐกถาของนายกฯ ครั้งนี้ถือเป็นการแสดงจุดยืนของนายกฯ อย่างชัดเจน ประสบการณ์ของนายกฯ ที่เจอมา รวมไปถึงอดีตนายกฯ อย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และสิ่งที่ประเทศไทยต้องเจอหลังการรัฐประหารปี 49 เป็นความเลวร้าย เป็นฝันร้ายของประเทศไทย และถือเป็นครั้งแรกที่นายกฯ ได้มีโอกาสมีเวทีที่เหมาะสม เป็นการไปแชร์ประสบการณ์ เล่าประสบการณ์แลกเปลี่ยนความคิดเห็น
“นายกฯ ไม่ได้มีเจตนาไปประจานประเทศไทยตามที่ถูกกล่าวหา ต้องการเพียงเล่าเรื่องเล่าข้อเท็จจริง และถือเป็นอุทาหรณ์สำหรับประเทศอื่นๆ และสำหรับคนในประเทศไทยด้วยว่า ความเป็นประชาธิปไตยนั้นต้องช่วยกันรักษา อย่าไปล้มล้างประชาธิปไตยเพราะประชาธิปไตยถือเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่ทำให้เกิดความมั่นคง และเสถียรภาพทางการเมือง ถือเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ การที่ฝ่ายค้านจะมีความเห็นไม่ตรงกับรัฐบาลก็เป็นสิทธิสามารถทำได้ รัฐบาลก็พร้อมรับฟัง เพราะธรรมดาที่ในโลกประชาธิปไตยจะมีความเห็นที่แตกต่างกัน แต่ขณะเดียวกันฝ่ายค้านก็ต้องคิดเหมือนกันว่า ในอดีตที่ผ่านมาตนเองทำอะไรไว้บ้าง ทำความเสียหายอะไรกับประเทศไว้บ้าง ซึ่งยังมีอีกหลายเรื่องราวของนายกฯ ที่ไม่ได้อยู่ในปาฐกถาที่ประชาชนควรทราบ ดังนั้นหากฝ่ายค้านจะทำจดหมายก็เต็มที่ รัฐบาลไม่ขัดขวาง แต่อยากให้คิดนิดหนึ่งว่าได้ทำอะไรกับประเทศไว้บ้าง” นายสุรนันทน์กล่าว
เมื่อถามว่า 58 ส.ว.เรียกร้องให้ออกมาขอโทษที่นายกฯไปพูดที่มองโกเลีย เลขาฯ นายกฯ กล่าวว่า ทำไมต้องขอโทษเพราะนายกฯ พูดความจริง การพูดความจริงแล้วต้องขอโทษเหรอ ถ้า ส.ว.เหล่านั้นมีมุมมองที่แตกต่างก็สามารถเสนอความคิดเห็นของตัวเองได้ แต่ก็ชัดเจนว่าในระบอบประชาธิปไตยมีหลายกลไกที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ซึ่งวุฒิสภาก็เป็นกลไกหนึ่งที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เพราะคงมีน้อยประเทศที่วุฒิสภาจะมาจากเลือกตั้งครึ่งหนึ่ง แต่งตั้งครึ่งหนึ่ง ซึ่งตนคิดว่าก็ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนที่กรรมาธิการวุฒิสภาจะเรียกนายกฯไปชี้แจงนั้น ตนยังไม่เห็นจดหมายเชิญ เห็นแต่การเชิญผ่านสื่อ ถ้าเชิญนายกฯ ผ่านสื่อก็คงยังพิจารณาอะไรไม่ได้
เมื่อถามว่า หลายคนมองว่าประเทศกำลังนิ่งๆ อยู่แต่นายกฯ กลับมาเปิดแผลความขัดแย้งในประเทศเอง นายสุรนันทน์กล่าวว่า เป็นเรื่องที่นายกฯเล่าเรื่องจริงที่เป็นจุดยืนทางการเมือง และนายกฯ คิดว่าถึงเวลาที่เหมาะสมที่จะให้ความเห็นทางการเมืองตรงนี้ เพราะเสถียรภาพทางการเมืองก็ต้องมีประชาธิปไตย เพราะถ้ามีกลุ่มบุคคลที่ไม่เห็นด้วยกับระบอบประชาธิปไตยเราก็ควรจะเตือนเป็นอุทาหรณ์ เพราะหากจะย้อนให้เป็นเหมือนปี 49 อีก ครั้งนี้ก็คงจะยากแล้วที่จะฟื้นฟูความเชื่อมั่น และ 2 ปีที่ผ่านมานายกฯเดินสายทั่วโลกกว่าจะฟื้นฟูความเชื่อมั่นของประเทศกลับมาได้ถึงจุดนี้ ซึ่งก้าวต่อไปนี้ สิ่งที่นายกฯตั้งใจในการปาฐกถาเป็นอุทาหรณ์ และในที่สุดแล้วต้องการเห็นความปรองดอง ความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์เกิดขึ้นในประเทศ
เมื่อถามว่า การพูดนอกประเทศในลักษณะอย่างนั้น มันจะเป็นประโยชน์หรืออุทาหรณ์อะไรให้กับคนในประเทศ นายสุรนันทน์กล่าวว่า เป็นเวทีที่เหมาะสม เพราะการที่มองโกเลียเชิญนายกฯไทยไป เขาก็มองเห็นแล้วว่านายกฯ มาจากการเลือกตั้ง ก็เหมาะสมที่จะไปพูดในเวทีประชาธิปไตย และถือเป็นนายกฯ คนแรกที่ไปเยือนมองโกเลียอย่างเป็นทางการ เพราะมองโกเลียได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมายาวนาน ดังนั้นเมื่อจะเชิญไปเวทีนี้ก็แสดงว่าเขายอมรับนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง และในหลายๆ เวทีต่อไปจากนี้ในโลกตนก็เชื่อว่านายกฯ จะไปปาฐกถาพิเศษอีก ส่วนจะเป็นเรื่องอะไรก็ต้องติดตามกัน แต่ยอมรับว่าผลกระทบครั้งนี้เป็นผลกระทบที่เราได้แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่าประชาธิปไตยในโลก ทุกประเทศมาแชร์ประสบการณ์กัน มีการเติบโตที่ไม่เท่าเทียมกัน และทุกประเทศก็มีปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข การมาแลกเปลี่ยนกันก็จะทำให้ประชาธิปไตยเข้มแข็ง
เมื่อถามว่า คิดว่าขณะนี้รัฐบาลยืนอยู่บนประชาธิปไตยแล้วหรือยัง นายสุรนันทน์กล่าวว่า รัฐบาลยืนอยู่บนประชาธิปไตยแล้ว เพราะรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งของประชาชนอย่างแท้จริง แต่ยังมีกลไกบางอย่างที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งต้องได้รับการแก้ไข เมื่อถามว่า ประเด็นที่นี้จะทำให้การเดินหน้าสร้างความปรองดองของรัฐบาลสะดุดหรือไม่ เลขาฯ นายกฯ กล่าวว่า ความจริงแล้วประสบการณ์ของหลายประเทศที่มีความขัดแย้งทางการเมือง และเริ่มกระบวนการปรองดอง ซึ่งกระบวนการปรองดองนั้นต้องเริ่มด้วยการพูดความจริง มาดูว่าเราจะมาเจอกันตรงจุดไหนได้ ถึงเวลาแล้วที่คนไทยต้องรู้ความจริงจากผู้นำของประเทศ