xs
xsm
sm
md
lg

“อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา” คอนเฟิร์ม รมว.ไอซีที ขู่ไม่มีอะไรในกอไผ่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา
“ชูชาติ ศรีแสง” ยันพฤติกรรม “น.อ.อนุดิษฐ์” โดดเชลียร์เจ้านาย ไม่มีอะไรในกอไผ่นอกจากต้นไผ่ ชี้แค่ขู่คนไม่รู้ กม. ระบุติชม “ปูนิ่ม” ด้วยความเป็นธรรมเข้า ป.อาญา ม.329 (3) ถือว่าไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท แม้หากผิด ม.330 ยังให้สิทธิพิสูจน์ยกเว้นโทษ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Chuchart Srisaeng ถึงกรณีที่ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า หากมีการตรวจพบผู้โพสต์ข้อความตามเว็บไซต์ต่างๆ ที่มีเนื้อหาด่าทอผู้นำประเทศ จะทำการติดต่อขอให้เจ้าของเว็บไซต์นั้นๆ ทำการลบข้อความดังกล่าวทันที หรือหากเป็นเว็บไซต์ที่ตั้งขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ในการด่าทอ ว่าร้าย หมิ่นประมาทโดยเฉพาะ ทางกระทรวงก็ถือได้ว่า มีอำนาจในการระงับการใช้งานเว็บไซต์ดังกล่าวทันทีเช่นกัน โทษจากการโพสต์ข้อความด่าทอ ว่าร้ายผู้อื่นให้เกิดความเสียหาย ทางเว็บไซต์ จะเข้าข่ายมีความผิดข้อหาหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 มีโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับนั้น

“จากการอ่านคำสัมภาษณ์ของ รมต.ไอซีทีแล้ว นั่งอ่านพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 อ่านแล้วอ่านเล่าอยู่หลายตลบจนตาลายก็ไม่พบว่ามีบทบัญญัติในมาตราใดที่ระบุว่าการโพสต์ข้อความด่าผู้นำประเทศหรือบุคคลอื่นเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ หากถ้าใครอ่านพบว่ามี กรุณาช่วยบอกกันด้วยครับ

ที่ รมต.ไอซีที ว่า ถ้าพบจะแจ้งให้เจ้าของเว็บไซต์ลบข้อความออกทันที ก็ไม่มีกฎหมายเขียนไว้ให้กระทำได้ ซึ่งในเมื่อไม่มีบทบัญญัติเขียนไว้ว่า การด่าผู้นำประเทศเป็นความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ เจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัตินี้ก็ย่อมไม่มีอำนาจที่จะไปแจ้งให้เจ้าของเว็บไซต์ลบข้อความที่มีการโพสต์กันได้ในตัวมันเองอยู่แล้ว

ส่วนที่กล่าวว่า หากเป็นเว็บไซต์ที่ตั้งขึ้นโดยวัตถุประสงค์ในการด่าทอ ว่าร้าย หมิ่นประมาทโดยเฉพาะ กระทรวงมีอำนาจในการระงับการใช้งานเว็บไซต์ดังกล่าวได้ทันทีนั้น ก็สงสัยอีกว่า รมต.ไอซีที จะรู้ได้อย่างไรว่าเว็บไซต์ใดตั้งขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์ในการด่าทอ ว่าร้าย หมิ่นประมาทโดยเฉพาะ เพราะการตั้งเว็บไซต์หรือเฟชบุ๊ก ไม่ต้องจดทะเบียนและระบุวัตถุประสงค์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เหมือนการจดทะเบียนตั้งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนจำกัด

โดยเฉพาะที่กล่าวว่า กระทรวงมีอำนาจระงับการใช้เว็บไซต์ดังกล่าวได้ทันที ก็สงสัยอีกว่า รมต.ไอซีที จะใช้อำนาจตามกฎหมายฉบับใดหรือจะอาศัยอำนาจที่เป็น รมต.สั่งให้ข้าราชการประจำซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่กระทำ โดยไม่สนใจบทบัญญัติของกฎหมายเหมือนกับที่ผู้มีอำนาจของพรรคเพื่อไทยใช้หรือสนับสนุนให้กลุ่มคนเสื้อแดงกระทำต่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอยู่ในขณะนี้

ทั้งนี้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 บัญญัติใว้ว่า ในกรณีที่มีการกระทำความผิดตามพรบ.นี้ ซึ่งได้กล่าวมาแล้วว่า ไม่มีความผิดฐานด่าผู้นำประเทศหรือบุคคลอื่นใดรวมอยู่ด้วย ให้ดำเนินการตามมาตรา 19 ที่บัญญัติว่า การใช้อํานาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 18 (4) (5) (6) (7)และ (8) ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ยื่นคําร้องต่อศาลที่มีเขตอํานาจเพื่อมีคําสั่งอนุญาตให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ดําเนินการตามคําร้อง ทั้งนี้ คําร้องต้องระบุเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลใดกระทําหรือกําลังจะกระทําการ อย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ เหตุที่ต้องใช้อํานาจ ลักษณะของการกระทํา ความผิด รายละเอียดเกี่ยวกับอุปกรณ์ที่ใช้ในการกระทําความผิดและผู้กระทําความผิด เท่าที่สามารถจะระบุได้ ประกอบคําร้องด้วย ในการพิจารณาคําร้องให้ศาลพิจารณาคําร้องดังกล่าวโดยเร็ว

เมื่อศาลมีคําสั่งอนุญาตแล้ว ก่อนดําเนินการตามคําสั่งของศาล ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ส่งสําเนา บันทึกเหตุอันควรเชื่อที่ทําให้ต้องใช้อํานาจตามมาตรา 18 (4) (5) (6) (7) และ (8)มอบให้ เจ้าของหรือผู้ครอบครองระบบคอมพิวเตอร์นั้นไว้เป็นหลักฐาน แต่ถ้าไม่มีเจ้าของหรือผู้ครอบครอง เครื่องคอมพิวเตอร์อยู่ ณ ที่นั้น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ส่งมอบสําเนาบันทึกนั้นให้แก่เจ้าของหรือ ผู้ครอบครองดังกล่าวในทันทีที่กระทําได้

ที่กล่าวมาคือบทบัญญัติของกฎหมาย จะเห็นได้ว่า แม้การกระทำที่มีความผิดตามพรบ.ฉบับนี้ การที่จะกระทำการใดๆ แก่ผู้กระทำผิด ก็ต้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้พนักงานเจ้าหน้าที่กระทำการใดๆ ที่ต้องการกระทำ ถ้าศาลไม่อนุญาตก็ไม่อาจกระทำได้ ไม่ใช่ รมต.ไอซีที มีอำนาจกระทำได้ดังที่กล่าวอ้าง

อดีตผู้พิพากษาระบุต่อว่า ไม่ต้องพูดถึงการด่าผู้นำประเทศหรือบุคคลอื่นซึ่งไม่ได้เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ จึงไม่อาจไปยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ศาลอนุญาตให้พนักงานเจ้าหน้าที่ไปดำเนินการอะไรได้ หรือแม้จะไปยื่นศาลก็ไม่อาจอนุญาตได้

ส่วนที่ รมต.ไอซีที กล่าวว่า การโพสต์ข้อความด่าทอ ว่าร้ายผู้อื่นให้ได้รับความเสียหาย ทางเว็บไซต์ จะเข้าข่ายความผิดข้อหาหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ก็ไม่ถูกต้องบทบัญัติของกฎหมาย

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 บัญญัติไว้ดังนี้ ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทําให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทําความผิดฐานหมิ่นประมาท

ที่ว่า รมต.ไอซีที กล่าวไว้ไม่ถูกต้องนั้น เพราะสาระสำคัญของความผิดฐานหมิ่นประมาทต้องเป็นการใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง และไม่เข้าการกระทำตามมาตรา 329 จึงจะมีความผิดฐานหมิ่นประมาท ไม่ใช่ว่า การโพสต์ข้อความด่าทอว่าร้ายผู้อื่นให้ได้รับความเสียหายก็จะเข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นประมาทเสมอไป

มาตรา 329 ผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต
(1) เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม
(2) ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่
(3) ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทํา หรือ
(4)ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องราวการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลหรือในการประชุม
ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

แม้จะเป็นการใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง แต่ถ้าเป็นการกระทำที่เข้าข่ายดังที่กล่าวไว้ในมาตรา 329 อนุมาตรา 1 ถึง 4 โดยเฉพาะสำหรับการพูดถึงผู้นำของประเทศ ถ้าเป็นการแสดงความเห็นโดยสุจริต ติชมด้วความเป็นธรรม ซึ่งเป็นวิสัยของประชาชนที่เป็นผู้เสียภาษี เป็นเจ้าของประเทศย่อมกระทำ ก็ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

แม้จะมีความผิดฐานหมิ่นประมาท แต่สามารถพิสูจน์ได้ว่า ข้อความที่ถูกหาว่าหมิ่นประมาทเป็นความจริง ก็ไดัรบการยกเว้นไม่ต้องรับโทษ ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา ๓๓๐ ที่ว่า ในกรณีหมิ่นประมาท ถ้าผู้ถูกหาว่ากระทําความผิดพิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ

นายชูชาติโพสต์อีกว่า ถ้าเราโพสต์ข้อความว่า รมต. ป.เดินทางไปต่างประเทศกับผู้จัดการของบริษัทรับเหมาก่อสร้างแห่งหนึ่งซึ่งกำลังประมูลงานรับจ้างก่อสร้างงานของกระทรวงที่ ป.เป็น รมต. และต่อมาบริษัทดังกล่าวเป็นผู้ประมูลงานได้ จึงน่าสงสัยหรือเชื่อว่าจะมีการจ่ายเงินให้แก่ รมต.ป. แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า การประมูลงานครั้งนี้เป็นไปโดยถูกต้องตามระเบียบการประมูลงานก่อสร้างของราชการทุกประการ ไม่มีการตุกติกใดๆ และ รมต. ป.ก็ไม่ได้รับผลประโยชน์ใดๆ จากผู้จักการบริษัทดังกล่าวเลย การไปต่างประเทศด้วยกันก็เป็นตามคำเชิญของต่างประเทศ เช่นนี้ ก็ต้องถือว่า เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ ตามมาตรา 329 (3) ย่อมไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

ถ้าเราโพสต์ข้อความว่า บริษัท ก. จ่ายเงินให้ รมต ป. เป็นเงิน 500 ล้านบาท เป็นการตอบแทนที่สามารถประมูลงานของกระทรวงที่ ป.เป็น รมต.ได้ ถ้าปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีการจ่ายเงินให้กัน 500 ล้านบาทจริง เช่นนี้ แม้จะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ก็ไม่ต่องถูกลงโทษตามมาตรา 330

กล่าวโดยสรุปการโพสต์ข้อความต่างๆ ไม่ว่าจะกล่าวว่าผู้นำหรือใครก็ต้องพิจารณาว่าจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญาหรือไม่ เท่านั้นเหมือนกัน

การที่ รมต.ไอซีที ออกมากล่าวขู่ประชาชนไม่ให้โพสต์ข้อความด่าเจ้านายของตัวเอง โดยอ้างว่าจะใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์จัดการนั้น ก็ไม่มีอะไรในกอไผ่นอกจากต้นไผ่ คือข่มขู่ได้เฉพาะคนที่ไม่รู้กฎหมาย แต่ก็เป็นเรื่องปกติของผู้คนในพรรคไทยรักไทยที่มักจะทำอะไรก็ไม่เคยคำนึงถึงหลักกฎหมายมักจะทำตามพอใจของตนเองเป็นใหญ่ ถือว่าตนเองมีอำนาจจะทำอะไรก็ได้ หรือข้าคือกฎหมายนั่นเอง”

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ก่อนหน้านี้ นายชูชาติ ศรีแสง ได้โพสต์ข้อความถึงกรณีที่ นายชัย ราชวัตร โพสต์เฟซบุ๊กว่า “โปรดเข้าใจ กะหรี่ไม่ใช่หญิงคนชั่ว กะหรี่แค่เร่ขายตัว แต่หญิงคนชั่วเที่ยวเร่ขายชาติ” ดังนี้

ข้อความดังกล่าว ชัย ราชวัตร เป็นเปรียบเปรยให้เห็นว่า ผู้หญิงที่หาเลี้ยงชีพด้วยการขายบริการทางเพศไม่ใช่เป็นคนชั่ว แต่ผู้หญิงที่เป็นคนชั่วคือคนที่เร่ขายชาติ โดยที่ชัย ราชวัตร ไม่ได้กล่าวเฉพาะเจาจงว่าผู้หญิงคนนั้นเป็นใคร

การที่กลุ่ม ส.ส.หญิงพรรคเพื่อไทย และกลุ่มคนเสื้อแดงออกมาประท้วง ชัย ราชวัตร โดยอ้างว่าเป็นดูหมิ่นเหยียดหยามสุภาพสตรีทั้งหลาย หรือกลุ่มที่ไปประท้วงที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐที่มีนางลัดดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ อดีตรัฐมนตรี อดีต ส.ส.พะเยาหลายสมัยเป็นผู้นำมีการถือป้ายที่มีข้อความกล่าวหาว่าชัย ราชวัตร ดูหมิ่นว่าแม่บังเกิดเกล้าของเขาว่าเป็นกะหรี่ ก็ทำให้สงสัยว่าคนพวกนี้อ่านภาษาไทยไม่ออกหรืออ่านออกแต่ไม่รู้ความหมาย จึงคิดว่าชัย ราชวัตร กล่าวหาว่าแม่พวกเขาเป็นกะหรี่

ผู้ที่คิดว่าตนเองได้รับความเสียหาย ได้มอบให้ทีมกฎหมายของพรรคเพื่อไทย ที่มีผู้ที่นำเงินค่าขนม 2 ล้านบาทไปทิ้งไว้ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จนถูกศาลฎีกาลงโทษจำคุก 6 เดือน รวมอยู่ด้วย ไปร้องทุกข์กล่าวหาว่า ชัย ราชวัตร ดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาและความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

นายชูชาติระบุว่า ชัย ราชวัตร ไม่ระบุว่าใครเป็นกะหรี่ หรือใครคือคนชั่วที่เร่ขายชาติ และสำหรับคำว่า กะหรี่ ก็พูดชัดเจนว่าไม่ใช่คนชั่ว จึงไม่ได้ใส่ความใครในอันที่จะทำให้เกิดความเสียหาย ย่อมไม่มีความผิด

ส่วนที่ว่าหญิงคนชั่วเที่ยวเร่ขายชาติ ก็ไม่ได้ระบุว่าเป็นใคร แต่ถ้าจะฟังว่า หมายถึงคนที่ไปอ่านข้อความที่มีคนเขียนให้ที่มองโกเลีย ก็ต้องพิจารณาต่อไปอีกคือ

มาตรา 329 ผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต...(3) ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทํา... ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

ทั้งนี้ เมื่อ ชัย ราชวัตร เป็นประชาชนคนไทยคนหนึ่ง โดยปกติคนที่เป็นคนไทยจริงทั้งกายและใจก็ย่อมรัก หวงแหนประเทศไทย ไม่ยอมให้ใครไม่ว่าจะเป็นคนต่างชาติหรือคนที่ตัวเป็นไทยแต่ไม่เคยรักประเทศไทย มาดูหมิ่นดูแคลน เหยียดหยาม กล่าวใส่ร้ายหรือด่าประเทศให้ได้รับความเสียหาย การที่คนที่ได้ชื่อว่าเป็นหัวหน้ารัฐบาลแม้จะเป็นเพียงตัวหุ่นมีคนคอยเชิดกำกับสั่งการทุกอย่างก็ตาม ไปพูดในลักษณะสาวไส้ให้กากินทำให้ประเทศไทยได้รับความเสียหาย แล้ว ชัย ราชวัตร ก็แสดงความคิดเห็นโดยสุจริตติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนคนไทยที่รักประเทศไทยย่อมต้องกระทำ จึงน่าจะไม่มีความผิด ตามมาตรา 329 (3)

“แต่หากฟังว่า ชัย ราชวัตร มีความผิด ก็ดูต่อไปอีก

มาตรา ๓๓๐ ในกรณีหมิ่นประมาท ถ้าผู้ถูกหาว่ากระทําความผิดพิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ

กล่าวคือถ้าฟังว่า การกระทำของชัย ราชวัตร มีความผิดฐานหมิ่นประมาท แต่ถ้าสามารถพิสูจน์ได้ว่า ข้อความที่มีคนเขียนให้หุ่นเชิดอ่านนั้น ทำให้ประเทศไทยเสียหาย ถูกนานาประเทศดูถูกเหยียดหยาม ฯลฯ ก็น่าจะถือได้ว่าเป็นการขายชาติ เมื่อเป็นการขายชาติก็ต้องเป็นการกระทำชั่วแน่นอน สิ่งที่ชัย ราชวัตร กล่าวจึงเป็นความจริง ถ้าฟังได้เช่นนี้ชัย ราชวัตร ก็ไม่ต้องรับโทษ หมายความว่า แม้จะมีความผิดแต่ศาลลงโทษไม่ได้

ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นความเห็นส่วนตัวซึ่งถ้าคดีนี้ขึ้นสู่การพิจารณาของศาล ผู้พิพากษาที่พิจารณาพิพากษาอาจมีความเห็นต่างจากที่กล่าวมาก็ได้ซี่งก็เป็นเรื่องปกติธรรมดา ครับ”


กำลังโหลดความคิดเห็น