xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

นักเขียน ม.112 ก่อรัฐประหาร เปลี่ยน “พานแว่นฟ้า” เป็น “พานแว่นแดง?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(จากซ้ายไปขวา) วรพจน์ พันธุ์พงศ์,ไม้หนึ่ง ก.กุนที,วาดรวีและทองธัช เทพารักษ์
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-แม้จะเป็นที่รับรู้กันมาโดยตลอดว่า แวดวงวรรณกรรมของไทย ณ เวลานี้ แตกแยกเป็นฝักเป็นฝ่ายกันอย่างชัดเจนโดยเงื่อนปมสำคัญเป็นผลมาจากอุดมการณ์ทางการเมืองที่ไม่เหมือนกัน แต่เมื่อเกิดกรณีพิพาท “รางวัลพานแว่นฟ้า” ของรัฐสภา ก็ยิ่งตอกย้ำหรือกลายเป็นบทพิสูจน์ที่ยืนยัน รอยร้าวที่ ดำรงอยู่ว่าอาจถึงขึ้น “ผีไม่เผา เงาไม่เหยียบ” เลยทีเดียว

สำหรับกรณีพิพาทรางวัลวรรณกรรมการเมืองพานแว่นฟ้านั้น กลายเป็นข่าวคึกโครมใหญ่โตเมื่อ “สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย” และกรรมการอื่นๆ รวมแล้ว 14 คนประกาศถอนตัวจากการเป็นกรรมการตัดสิน

ทั้งนี้ กรรมการที่ประกาศถอนตัวทั้ง 14 คน ประกอบไปด้วย เจน สงสมพันธุ์ นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์,ชมัยภร บางคมบาง(แสงกระจ่าง),บูรพา อารัมภีร,กนกวลี กันไทยราษฎร์,จิตติ หนูสุข,พินิจ นิลรัตน์,ธาดา เกิดมงคล,เฉลิมศักดิ์ แหงมงาม,นรีภพ จิระโพธิรัตน์,มณฑา ศิริปุณย์ ,ยุทธ โตอดิเทพย์,สาโรจน์ มณีรัตน์,นรีภพ สวัสดิรักษ์ และเอกรัตน์ จิตร์มั่นเพียร

“ในด้านหลักการเห็นด้วยเพราะไม่แตกต่างจากเดิม เป็นการเพิ่มเติมรายละเอียดบางส่วนเข้ามาเท่านั้นเอง แต่ในด้านวิธีปฏิบัตินั้น ไม่สอดคล้องกัน และเพื่อให้การดำเนินการรางวัลพานแว่นฟ้าเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของรัฐสภา ทางกรรมการสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย จึงมีมติลาออกทั้งหมด”เจน สงสมพันธุ์ รองประธานกรรมการตัดสินพานแว่นฟ้าปีที่ 12 ในฐานะนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย กล่าวภายหลังเข้าร่วมประชุมนัดสุดท้ายเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2556

คำถามที่จำต้องแสวงคำตอบก็คือ อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้กรรมการทั้ง 14 คนต้องถอนตัว และวิธีปฏิบัติที่ไม่สอดคล้องกันตามที่เจน สงสมพันธุ์ให้เหตุผลนั้นแท้ที่จริงแล้วคืออะไร

มูลค่าเงินรางวัลที่ถูกเสนอให้เพิ่มขึ้นคือประเด็นหลักใช่หรือไม่

หรือเป็นเพราะกลุ่มนักเขียนเสื้อแดงที่เข้ามาเป็นกรรมการ และประกาศยื่นข้อเสนอให้มีการปรับเปลี่ยนกฎ กติกาบางประการจนเกิดข้อสงสัยว่า ต้องการทำให้รางวัลนี้เป็นรางวัล “พานแว่นแดง” รวมถึงมีการตั้งข้อสังเกตอย่างกว้างขวางว่า มีการล็อกรางวัลนี้ให้กับนักเขียนเสื้อแดงเอาไว้ล่วงหน้า

นอกจากนี้ กรณีพิพาทดังกล่าวยังกลายเป็นสงครามวาทกรรมที่ร้อนแรงในโลกไซเบอร์เมื่อสองนักเขียนรุ่นใหญ่อย่าง “วิมล ไทรนิ่มนวล” นักเขียนซีไรต์จากนวนิยายเรื่องอมตะกับ “วัฒน์ วรรลยางกูร” ศิลปินแห่งชาติได้เปิดศึกปะทะคารมกันอย่างเผ็ดร้อนอีกต่างหาก

อย่างไรก็ตาม หากทอดสายตาดูรายชื่อคณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งจาก “ค้อนปลอมตราดูไบ” สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรแล้วก็คงจะเห็นคำตอบได้ชัด เนื่องเพราะปรากฏรายชื่อนักเขียนเสื้อแดงเข้าร่วมเป็นกรรมการตัดสินรางวัลพานแว่นฟ้าหลายต่อหลายคนด้วยกัน

ตัวละครเอกคนแรกเห็นจะหนีไม่พ้น “รวี สิริอิสสระนันท์” หรือที่รู้จักกันดีในนามปากกา “วาดรวี” ตามติดมาด้วยกวีข้าวหน้าเป็ด-ไม้หนึ่ง ก.กุนที หรือที่รู้จักกันในหมู่คนเสื้อแดงว่า “อี๊ด อิสรนาวี” รวมถึงทองธัช เทพารักษ์และวรพจน์ พันธุ์พงศ์ ซึ่งทั้งหมดนั้นล้วนแล้วแต่เป็นนักเขียนที่ร่วมลงชื่อเรียกร้องให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในหมวดว่าด้วยการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ทั้งสิ้น และกรรมการสายเสื้อแดงเหล่านี้ เมื่อเข้ามาก็เสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงกฎกติกาอย่างมโหฬาร

กล่าวสำหรับรางวัลพานแว่นฟ้านั้น เป็นรางวัลการประกวดผลงานเขียน ‘วรรณกรรมการเมือง’ จัดโดยสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยและรัฐสภาไทย เพื่อสนับสนุนการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และให้ประชาชนได้ใช้เสรีภาพแสดงออกทางการเมืองและสืบสานวรรณกรรมการเมืองให้มีส่วนปลุกจิตสำนึกประชาธิปไตย

ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นในปี 2556 นี้นั้น เป็นผลมาจากกรรมการนักเขียนสายเสื้อแดงนำโดย “รวี สิริอิสสระนันท์” หรือ “วาดรวี” ที่ได้รับการแต่งตั้งเข้าไปเป็นกรรมการในปีแรกจากการชักชวนของ “ไม้หนึ่ง ก.กุนที” พร้อมประกาศยกระดับรางวัล กฎ กติกาและเงื่อนไขให้แตกต่างไปจากการประกวด 11 ครั้งที่ผ่านมา โดยเฉพาะเงินรางวัลที่เสนอให้มีการปรับเพิ่มเป็นสองเท่า ซึ่งร่ำ ลือกัน หนาหูในแวดวงน้ำหมึกจากคำให้สัมภาษณ์ของวาดร วีว่า ตัวเลขเงิน รางวัลนั้น เสนอให้เพิ่มสูงถึง 1,000,000 บาทกันเลยทีเดียว

“เวลามองเงินรางวัลของพานแว่นฟ้า ไม่ได้มองแค่ว่า บทกวีชิ้นเดียวควรให้เท่าไหร่ หรือเรื่องสั้นเรื่องเดียวควรให้เท่าไหร่ แต่มองผลของมัน ในฐานะเวทีของการพัฒนาเรื่องสั้นพัฒนามาตรฐานวรรณกรรม 1 ล้านมันไม่มากไปหรอก ถ้าเวทีมันก่อให้เกิดพัฒนาการได้จริงๆ ยกระดับมาตรฐานการเขียนของวรรณกรรมในสังคมได้จริงๆ”วาด รวีให้สัมภาษณ์

ฉับพลันทันทีที่ปรากฏตัวเลขเงินรางวัล 1 ล้านบาทจากคำให้สัมภาษณ์ของวาด รวี การสั่นไหวในแวดวงวรรณกรรมก็กระพือขึ้นราวกับคลื่นยักษ์สึนามิ เพราะมีผู้ที่ไม่เห็นด้วยเป็นจำนวนมากที่ติติงถึงเรื่องเงินรางวัลที่มากเกินไป

หนึ่งในนั้นก็คือ วิมล ไทรนิ่มนวล เจ้าของรางวัลซีไรต์ ปี 2543 จากนวนิยายเรื่อง “อมตะ” และผู้เขียนนวนิยายดังๆ อีกมากมาย อาทิ คนทรงเจ้า, โคกพระนาง และงู

ขณะที่นักเขียนสายเสื้อแดงก็ตอบโต้กลับมาด้วยความร้อนแรงไม่แพ้กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “วัฒน์ วรรลยางกูร” นักเขียนรางวัลศรีบูรพา ที่ชัดเจนว่า ยืนอยู่ข้างคนเสื้อแดงเต็มทั้งตัวและหัวใจ

เฟซบุ๊กของ “วิมล ไทรนิ่มนวล” ปรากฏขึ้นในวันที่ 29 เมษายน ในหัวข้อโพสต์ว่า “นักเขียนแดงกำลังรวย ตอนที่1” โดยนักเขียนซีไรต์ ได้นำเสนอเรื่องของ “นักเขียนแดง” กลุ่มหนึ่งที่กำลังกดดันให้รางวัลพานแว่นฟ้าเพิ่มเงินรางวัลเป็น 1,000,000 บาท เพื่อแจกนักเขียนแดงด้วยกัน เพราะกรรมการรางวัลนี้ก็เป็นคนเสื้อแดงด้วยกันทั้งนั้น และยังตั้งข้อสงสัยอีกว่า วรรณกรรมพานแว่นฟ้าจะกลายเป็น “เครื่องมือทางการเมือง” หรือไม่

“ปีนี้เงินรางวัลพานแว่นฟ้า ทะยานเสียดฟ้า ราคารางวัลละ ๑ ล้านบาท!! ข่าวบอกว่า กลุ่มคนที่เรียกร้องเรื่องนี้ (เงิน) คือ วาดรวี/ ไม้หนึ่ง ก. กุนที/ และ วัฒน์ วรรลยางกูร นักเขียนทั้งหลายอย่าเพิ่งดีใจ ว่าเงินรางวัลสูงขนาดนี้สามารถช่วยนักเขียนให้ตั้งตัวได้! ขอให้กลับไปดูงานที่ได้รับรางวัลปีที่แล้วกับปีนี้ ว่ามี เนื้อหาในแนวไหน บางคนบอกว่า ต้องออกในแบบ ขอบฟ้าเรื่อแดง! นั่นคือ เนื้อหาต้องออกไปทางพวกแดง ประเภทปฏิวัติ โค่นล้มสังคมเก่า สร้างสรรค์สังคมใหม่ ส่วนโค่นล้มแล้วจะเป็นอย่างไรต่อไป...ถ้าเขียนบอกด้วยก็ดี เรียกว่ามี ทางออกให้สังคม แต่รับรองว่าต้องออกไปทางแดง เป็นหลัก ถ้าอยากเห็นเป็นรูปธรรมก็ดูพวกเสื้อแดงเขาทำกันอย่างทุกวันก็พอ ไม่ต้องอาศัยจินตนาการแต่ประการใด ดังนั้น นักเขียนที่จะมีโอกาสได้รับรางวัลจึงจะต้องสังกัดฝ่ายเสื้อแดง เพราะกรรมการก็เป็นแดงเสียส่วนมาก หรืออาจจะทั้งหมด! (โปรดติดตามโดยไม่ต้องระทึกพลัน)

“ดังนั้น จึงมีคนเขาตั้งข้อสังเกตว่า เงินรางวัล-รางวัลละ ๑ ล้านบาทนั้น เขาเรียกร้องเพื่อจะ “แจกเงินนักเขียนแดง” หรือไม่?เงินทั้งหมดนี้ รวมทั้งค่าใช้จ่ายสารพัด ล้วนเป็นเงินภาษีของประชาชนแต่พอ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ติงคนกลุ่มดังกล่าวว่า อย่าคิดเรื่องเงินให้มากนัก ก็โดนถล่มตามวิถีประชาธิปไตยของพวกแดงทันที”

ขณะที่ “วัฒน์” ก็ตอบโต้กลับมาอย่างดุเดือดไม่แพ้กันว่า “เรื่องเงินรางวัลล้านบาท เป็นข่าวลือ อาจมาจากการพูดเปรยในที่ประชุมของกรรมการบางคน แต่ในความเป็นจริงคือ แสนบาท แค่แสนบาทก็หืดจับ กว่าจะหามาได้เดิมรางวัลห้าหมื่นบาท เราเห็นว่ากระจอกเกินไปสำหรับรางวัลระดับอำนาจนิติบัญญัติ ขนาดประกวดคำขวัญยาเสพติดหนึ่งบรรทัด เขายังให้เป็นแสนๆ บาทหรือประกวดศิลปกรรมแห่งชาติ รูปเขียนรูปเดียว รางวัลเหรียญทอง ยังได้สามแสนบาท ยุคนี้เงินแสนบาทมันนิดเดียว คุณจะมามีปัญหาอะไรกันนักหนาวะ”

จากนั้นวิมล ไทรนิ่มนวลที่โพสต์ตอบกลับวัฒน์อย่างหนักเช่นกันว่า ข้อเสนอเรื่องเงินรางวัลที่เพิ่มขั้นเฉียดล้านนั้นเป็นเรื่องจริงในที่ประชุม และจบลงด้วยการได้รับอนุมัติมาดังตัวเลขที่เพิ่งประกาศไป

“สิ่งที่ผมเห็นด้วยกับความพยายามของคณะกรรมการหรือผู้เกี่ยวข้องครั้งนี้ก็คือ การเพิ่ม “ราคาของรางวัล” เพราะมีเจ้าภาพที่เป็นองค์กรใหญ่อย่างรัฐสภา ก็ต้องให้สมฐานะ และก็เห็นใจนักเขียนในประเทศนี้ ที่เป็นแค่ตัวประกอบในสังคม หรือเครื่องมือสร้างภาพลักษณ์ขององค์กรทางธุรกิจ จึงควรจะมีราคาถึงหลักแสนอย่างวันนี้ แต่ถ้าถึงหลักล้าน ผมก็เห็นว่ามากเกินไป สำหรับเรื่องสั้นเรื่องเดียว และบทกวีชิ้นเดียว...

“แต่อยากให้นำเงินล้านที่มีความพยายามจะให้ได้มานั้น เป็นทุนให้นักเขียนไปสร้างสรรค์งาน เช่นเดียวกับนักวิชาการขอทุนจากองค์กรต่างๆ ไปวิจัย มันจะเป็นประโยชน์มากกว่าที่จะถมเงินเข้าไปในรางวัลเพื่อนักเขียนไม่กี่คน และจะเป็นประโยชน์ขึ้นอีก ถ้านำเงินมาเป็นค่าแปลงานเขียนที่ได้รับรางวัลและที่รับทุนไปเขียนนั้นเป็นภาษาต่างประเทศ แล้วใส่ลงไปในเว็บบล็อก”

“ข้อความที่ผมยกมานี้ คงเป็นคำตอบของวัฒน์ได้ว่า คุณจะมามีปัญหาอะไรกันนักหนาวะ”

อย่างไรก็ตาม ต้องบอกว่ากรณีรางวัลพานแว่นฟ้าและกรณีวิวาทะร้อนระหว่างวิมล ไทรนิ่มนวล และวัฒน์ วรรลยางกูร เป็นเพียงแค่ปลายเหตุเท่านั้น เพราะต้นเหตุที่แท้จริงก็คือ อุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกัน และเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า วงวรรณกรรมจะเกิดเหตุเช่นนี้ให้เห็นอยู่เป็นระยะๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น