“วิสรรชนีย์ นาคร” เป็นนามปากกาของ จิราภรณ์ เจริญเดช หรือ “พี่อ้น” ผู้หญิงเก่งอีกคนหนึ่งในวงการน้ำหมึกไทยที่มีพื้นเพดั้งเดิมอยู่ที่ จ.นครศรีธรรมราช ด้วยผลงานการเขียน ทั้งเรื่องสั้น นวนิยาย และบทกวี ชื่อของเธอจึงเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง มีเพื่อนพ้องน้องพี่ มิตรน้ำหมึก และเหล่านักอ่านที่เฝ้าติดตามผลงานของเธออย่างสม่ำเสมอ
วิสรรชนีย์ นาคร เริ่มก้าวสู่เส้นทางวรรณกรรมด้วยการเขียนเรื่องสั้นส่งสำนักพิมพ์บางกอกโพสต์ ขวัญเรือน และกุลสตรี ในปี พ.ศ.2519 ขณะที่กำลังศึกษาอยู่ มศ.5 และหลังจากจบปริญญาตรีจากสาขารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็เข้าทำงานเป็นนักข่าว จากนั้นก็ไปทำรายการ “สโมสรผึ้งน้อย”
ทั้งนี้ นอกจากเธอจะเขียนบทกวีเรื่องสั้น และนวนิยายแล้ว ก็ยังเขียนสารคดีสกู๊ปชีวิตให้แก่นิตยสารต่างๆ ที่เธอรับผิดชอบด้วย พร้อมกับรับหน้าที่เป็นบรรณาธิการนิตยสารที่มีชื่อเสียงหลายฉบับ ไม่ว่าจะเป็น ไฮคลาส, จี.เอ็ม., ลลนา, กรวิก และหนังสือในเครือเดอะเนชั่น อย่าง กรุงเทพธุรกิจ เป็นต้น
ด้วยความขยัน และใฝ่รู้อยู่ตลอดเวลา วิสรรชนีย์ นาคร ทำงานไปพร้อมๆ กับการเรียนปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในสาขาวารสารศาสตร์ และขณะกำลังศึกษาปริญญาเอกอยู่ที่มหาวิทยาลัยรังสิต สาขาสื่อสารมวลชน ก็เกิดเรื่องไม่คาดฝันขึ้น เมื่อต้องล้มหมอนนอนเสื่อด้วยโรคเซลล์เสื่อม จึงส่งผลให้การศึกษาระดับปริญญาเอกหยุดอยู่แค่นั้น
ว่ากันว่า บุคคลที่จะก้าวเข้าสู่แวดวงวรรณกรรมนั้นมักจะเริ่มต้นด้วยการเป็นหนอนหนังสือ วิสรรชนีย์ นาคร ก็เป็นเช่นนั้น เธอฉายแววนักอ่านตัวยงมาตั้งแต่เด็ก ด้วยความที่เธอมีนิสัยรักการอ่าน จึงสนใจอ่านหนังสือทุกชนิด ทุกประเภท อ่านทุกอย่างที่เรียกว่าหนังสือ
“ด้วยการส่งเสริมของครูประพันธ์ ซึ่งเป็นครูภาษาไทย ที่คอยให้คำแนะนำแก่เธอ เรื่องการแต่งโคลงแต่งกลอนในขณะที่กำลังศึกษาอยู่ระดับประถมศึกษา ที่โรงเรียนจารุวัฒนา จ.นครศรีธรรมราช ก็เป็นแรงผลักดัน และส่งผลให้เธอเดินทางสู่สายวรรณกรรม และทำงานเกี่ยวกับหนังสือมาโดยตลอด” พี่สาวของเธอให้ความเห็น
งานเขียนของ วิสรรชนีย์ นาคร เขียน ได้แก่ ลมหายใจแห่งทศวรรษ, ที่นี่…สวนมิสกวัน, เสียงเพรียกจากซีกชีวิต, รอยยิ้มระหว่างแนว, ฉันคือผู้หญิง, เสพซ้ำ สร่างรส เสน่หา ฯลฯ ส่วนงานบรรณาธิการ ได้แก่ หนังสือผ้าไทย, แผ่นดินไทย, มวยไทย, มหรสพไทย, วัดไทย, สถาปัตยกรรมไทย, สมุนไพรไทย, หัตถกรรมไทย, อาหารไทย เป็นต้น
วิสรรชนีย์ นาคร เป็นหนึ่งในนักเขียนกลุ่มนาคร กลุ่มวรรณกรรมที่มีชื่อเสียงกลุ่มหนึ่งของภาคใต้ นักเขียนที่มีชื่อเสียงในกลุ่มนี้ ได้แก่ กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ นักเขียนซีไรต์ผู้ล่วงลับ, ไพฑูรย์ ธัญญา นักเขียนซีไรต์, ประมวล มณีโรจน์, โอภาส สอดจิตต์, รัตนธาดา แก้วพรหม, จิรวรรณ แก้วพรหม, อัตถากร บำรุง, รูญ ระโนด, ธัช ธาดา, เจน สงสมพันธุ์, สมใจ สมคิด, สมคิด ทองสง, วินัย สุกใส, ยงยุทธ ชูแว่น และ นิศรัย หนูหล่อ เป็นต้น
วิสรรชนีย์ นาคร มีฝีไม้ลายมือในการเขียนชนิดหาตัวจับยาก แต่ก็ไม่ค่อยได้ปรากฏตัวในภาคของนักเขียนมากนัก ด้วยภารกิจก่อนล้มหมอนนอนเสื่อ คือ การบริหารกองบรรณาธิการจุดประกาย สำนักตักศิลาของบรรดานักข่าว นักเขียน ศิลปินระดับพระกาฬ
“โรคเซลล์เสื่อม” คือคำจำกัดความอาการป่วยที่เธอประสบ เป็นโรคที่พบไม่มากนักในโลกนี้ และยังไม่มียารักษาโดยเฉพาะ ตั้งแต่เมื่อ 4 ปีที่แล้ว อาการมือเท้าไม่มีกำลังทำให้เธอเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลหลายแห่ง จนสุดท้ายมาพักรักษาที่โรงพยาบาลท่าโรงช้าง อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี ด้วยการดูแลเอาใจอย่างดีของหมอ พยาบาล และญาติพี่น้อง อาการป่วยไข้ ณ วันนี้ของวิสรรชนีย์ นาคร คือ เคลื่อนไหวร่างกายไม่ได้ ต้องให้อาหารทางสายยาง และต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ
กระนั้น... ก็ยังไม่สามารถหยุดใจรักในการเขียนหนังสือของเธอได้!!
วิสรรชนีย์ นาคร ยังคงมีความพยายามที่จะสร้างงานเขียน เพื่อบอกเล่าถึงความจริงที่อยู่ภายในจิตใจของเธอ เหมือนทุกๆ ครั้งที่เธอคิดอะไร เธอก็จะส่งผ่านมันออกมาด้วยตัวอักษรอย่างลุ่มลึก และเฉียบคม ดังที่เธอส่งความรู้สึกผ่านทางตัวอักษรอีกครั้งหนึ่งหลังจากที่ล้มป่วยลงในวันคล้ายวันเกิดเมื่อปี 2554 โดยการบอกจด ด้วยวิธีที่น้องสาวเอาแผ่นอักษรพยัญชนะ และสระ มาชี้ให้เธอเลือก โดยแสดงการเลือกด้วยสายตาทีละตัวๆ จนประสมกันเป็นกลอนครบ 1 บท
วิธีการเขียนในลักษณะนี้เช่นเดียวกับที่ ฌ็อง-โดมินิก โบบี้ อดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสาร ELLE แห่งประเทศฝรั่งเศส ที่กะพริบตาทีละครั้งเพื่อเลือกพยัญชนะ และสระมาประสมกันเป็นคำ จนเกิดเป็นหนังสือชื่อเรื่อง “ชุดประดาน้ำและผีเสื้อ” ขึ้น
กลอน 1 บทนั้น วิสรรชนีย์ นาคร กะพริบตาเขียนไว้ ดังนี้
“...จากใจพี่อ้น
ซาบซึ้งในทุกมือที่มาช่วย
ต่างร่วมด้วยดูแลพร้อมรักษา
พยาบาลทุกคนกรุณา
อยากเปล่งเสียงคำว่าแสนขอบคุณ
จิราภรณ์ เจริญเดช
27 สิงหาคม 2554...”
ถึงแม้ชีวิตจะมีเรื่องไม่คาดฝันราวกับโชคชะตาเล่นตลก แต่ผีเสื้อปีกงามแห่งวงการวรรณกรรมนาม “วิสรรชนีย์ นาคร” ก็ยังขยับปีกโบยบินได้
ด้วยสายตาที่เฝ้ามองอยู่อย่างให้กำลังใจ พี่น้องผองเพื่อน และทุกคนที่ทราบข่าว ต่างส่งความปรารถนาดีอย่างล้นเปี่ยมให้เธอกลับมาโฉบร่อนอย่างเริงร่าเหมือนอย่างที่เธอเคยทำมาตลอดอีกครั้งหนึ่ง
(ขอขอบคุณข้อมูลจาก คุณวรรณทนีย์ สุวรรณโณ พี่สาวของ “วิสรรชนีย์ นาคร” และลุงบุญเสริม)