xs
xsm
sm
md
lg

เจตนารมณ์พลเมือง : เจตนารมณ์สมัชชาปฏิรูปประเทศไทย

เผยแพร่:   โดย: ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ

การเปลี่ยนประเทศไทยให้เกิดความเป็นธรรม เท่าเทียม และเสมอภาค ไม่อาจทำได้ภายในห้วงเวลาสั้นๆ และแค่คนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งถึงแม้จะได้รับเสียงข้างมากเข้ามาบริหารชาติบ้านเมืองถ้าหากไม่เคารพเสียงที่แตกต่างออกไปหรือไม่รับฟังเสียงท้วงติงคัดค้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการกำหนดนโยบายสาธารณะที่ขาดความรอบคอบแต่กลับใช้เงินงบประมาณแผ่นดินจำนวนมหาศาลและสร้างภาระผูกพันทางการเงินการคลังทั้งกับรัฐและประชาชนระยะยาว ด้วยที่สุดแล้วการขาดเสียงประชาชนส่วนหนึ่งถึงแม้ถูกมองว่าเป็นเสียงส่วนน้อยเพราะแพ้การเลือกตั้งก็จะทำให้ไม่สามารถผลักดันประเด็นความเป็นธรรมได้สัมฤทธิผลมากนัก เนื่องจากในเสียงส่วนน้อยก็มีกลุ่มคนที่เสียเปรียบทางสังคมอยู่จำนวนมาก

ทั้งนี้การลดความเหลื่อมล้ำเพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคมไทยจะมี ‘ความเป็นไปได้’ สูงสุดก็ต่อเมื่อรัฐรับฟังเสียงประชาชนทุกคน แม้ว่าในทางปฏิบัติจะทำได้ยากมากเมื่อเสียงของประชาชนมีความหลากหลาย หากกระนั้นภายใต้การวาดหวังว่าจะเปลี่ยนแปลงอนาคตประเทศไทยให้ไม่เบียดขับคนเล็กคนน้อยออกไปจากสมการผลประโยชน์ทางนโยบายนั้นรัฐบาลก็ต้องพยายามผสานผลประโยชน์ของประชาชนทุกคนไว้ภายใต้กระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะแต่ละด้านโดยอาศัยกลไกกฎหมายรัฐธรรมนูญรองรับเพื่ออย่างน้อยสุดจะทำให้ประชาชนเห็นว่ารัฐบาลไม่ทอดทิ้งเสียงส่วนน้อยที่ไม่ได้เลือกตนเองเข้ามา

มากกว่านั้นระหว่างการขับเคลื่อนของรัฐบาลที่มีความจริงจังในการแก้ไขวิกฤตความไม่เป็นธรรมโดยการมุ่งเปลี่ยนประเทศไทยในระดับของโครงสร้างก็ต้องเปิดพื้นที่เคลื่อนไหวของประชาชนอย่างกว้างขวางในรูปแบบต่างๆ ทั้งภาคที่เป็นทางการจากการสนับสนุนพรรคการเมืองที่ชื่นชมชื่นชอบในนโยบาย และภาคที่ไม่เป็นทางการจากการเคลื่อนไหวรวมกลุ่มกันเป็นขบวนการทางสังคมบนพื้นที่ต่างๆ

‘พลังพลเมือง’ เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทยจึงอยู่ทั้งในสนามการเลือกตั้ง บนท้องถนน จนถึงเวทีสาธารณะต่างๆ ดังเช่นขบวนการเคลื่อนไหวของพลเมืองในเวทีปฏิรูปประเทศไทยที่จัดมาแล้ว 2 ครั้ง และกำลังจะจัดขึ้นอีกครั้งในช่วงระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม – 2 มิถุนายน ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบแทค ที่นอกจากจะเป็นสนามสำหรับการผสานพลังพลเมืองเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทยแล้ว ยังเป็นตลาดนโยบายสาธารณะขนาดใหญ่ที่มีนโยบายจำนวนมากมายให้เลือกสรรซึ่งล้วนแล้วแต่จะไปแก้ไขความไม่เป็นธรรมที่สร้างความเหลื่อมต่างๆ ทางสังคม ซึ่งไม่สามารถหาซื้อนโยบายเหล่านี้ได้ในท้องตลาดทั่วไป

ทว่าด้วยเงื่อนไขข้อจำกัดหลายประการก็ทำให้ไม่อาจผลักดันนโยบายหลายด้านในตลาดนโยบายสาธารณะแห่งนี้ไปสู่การปฏิบัติได้ในเวลาอันใกล้ โดยเฉพาะการติดขัดกับวิกฤตการขาดเจตจำนงทางการเมือง (political will) ของรัฐในการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของการรวมศูนย์อำนาจที่จะต้องแก้ไขด้วยการกระจายอำนาจที่ถึงท้องถิ่นชุมชนและประชาชน ตลอดจนปรับเปลี่ยนสัมพันธภาพทางอำนาจระหว่างกลุ่มคนต่างๆ ในสังคม โดยเฉพาะระหว่างกลุ่มคนล่างสุดพีระมิดที่ถูกเอารัดเอาเปรียบและกลุ่มคนบนสุดที่กดขี่ขูดรีด ซึ่งแต่ละประเด็นก็ต้องแก้ไขทั้งในมุมของกฎหมาย การบริหารจัดการของรัฐ วัฒนธรรมสังคม ไปจนถึงการปรับเปลี่ยนตนเองของประชาชนที่จะต้องไม่จำนนต่อนโยบายที่ไม่มีความเป็นธรรมต่างๆ และที่สำคัญต้องมีการผสานความร่วมมือกันทั้งในเชิงประเด็น (issue based) และพื้นที่ (area based) ดังที่สมัชชาปฏิรูปประเทศไทยกำลังผสานวิกฤตความไม่เป็นธรรมทั้งเชิงประเด็นและพื้นที่เข้าด้วยกันนั่นเอง

ซึ่งระยะยาวบนหนทางการปฏิรูปประเทศไทยนั้นสมัชชาปฏิรูปประเทศไทยที่มีพลเมืองเป็นพลังสำคัญจะทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ทั้งภาคราชการ ภาคการเมือง ภาคประชาชน/ชุมชน/ท้องถิ่น ภาควิชาการ และภาคเอกชน ในการสร้างนวัตกรรมและกลไกที่ทุกภาคส่วนเป็นเจ้าของร่วมกันเพื่อดำเนินการปฏิรูปประเทศไทยอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่องจากช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมาในประเด็นสำคัญๆ ดังนี้

1) การทำงานอย่างต่อเนื่องของคณะกรรมการเครือข่ายเพื่อการปฏิรูปทั้ง 14 คณะ ภายใต้คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) 2) การขับเคลื่อนเพื่อขยายผลกิจกรรมการปฏิรูปต่างๆ ที่ทำมาแล้ว และจะทำต่อไปให้กว้างขวางและมีพลังยิ่งขึ้น 3) การระดมพลังภาคีเครือข่ายในการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องเพื่อติดตามการดำเนินการ จนเกิดผล รวมทั้งเกิดกลไกทางสังคมต่างๆ อาทิ กลไกทางกฎหมาย กลไกทางวิชาการ ในประเด็นนโยบายสาธารณะ ที่มีมติสมัชชาปฏิรูปแล้ว และที่จะพัฒนาต่อไป

4) การสร้างความเข้มแข็งและขีดความสามารถเพื่อพัฒนางานด้านวิชาการในการพัฒนานโยบายสาธารณะทุกระดับทั่วประเทศ 5) การส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดเครือข่ายสื่อเพื่อการปฏิรูป ทั้งสื่อกระแสหลัก สื่อชุมชน เครือข่ายทางสังคม เพื่อเปิดพื้นที่สาธารณะสื่อสารเพื่อการสร้างพลังจากทุกภาคส่วนในสังคม และ 6) การดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนากลไกและกระบวนการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะอย่างมีส่วนร่วมบนพื้นฐานทางปัญญาเพื่อสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยการสร้างและพัฒนากลไกและกระบวนการสมัชชาปฏิรูปในทุกระดับ รวมทั้งกลไกและกระบวนการในรูปแบบอื่นๆ ด้วย

ทั้งนี้ ‘เจตนารมณ์สมัชชาปฏิรูประเทศไทย’ ที่ใช้กระบวนการฉันทามติก่อนจะผลิตออกมาเป็นชุดของข้อเสนอเชิงนโยบาย/มติปฏิรูปประเทศไทย จะมีความสอดคล้องกับ ‘เจตนารมณ์ของประชาชน’ จนสร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับของโครงสร้างสังคมไทยได้แค่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับว่าระหว่างทางจะสามารถดึงพลเมืองเข้ามาร่วมได้มากน้อยแค่ไหน และในระยะยาวหลังการสิ้นสุดของสมัชชาปฏิรูปประเทศไทยแบบเป็นทางการ จะมีนวัตกรรมหรือกลไกใหม่อะไรที่สามารถหลอมรวมพลเมืองเข้ามาเป็นพลังเปลี่ยนประเทศไทยให้เกิดความเป็นธรรม เท่าเทียม เสมอภาค
กำลังโหลดความคิดเห็น