xs
xsm
sm
md
lg

ถักทอสะพานข้ามความเหลื่อมล้ำ

เผยแพร่:   โดย: ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ

เป้าหมายการปฏิรูปประเทศไทยในระยะยาวแม้มีความแตกต่างหลากหลายกัน กระนั้นในความแตกต่างหลากหลายของประเด็น แนวทางปฏิบัติ กระทั่งอนาคตที่ปรารถนาฝันใฝ่ให้ประเทศไทยในอนาคตก้าวไปทิศทางนั้นหรือเป็นเช่นนั้นก็เกี่ยวเนื่องกับความไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำเสมอมา ด้วยความไม่เท่าเทียมและอยุติธรรมถั่งโถมสังคมไทยอย่างรุนแรงจนเกิดวิกฤตขัดแย้งแตกแยกที่ส่งผลกระทบร้ายแรง

ครั้นปรารถนาอนาคตต่างกัน การกำหนดจังหวะก้าวการปฏิรูปประเทศไทยในภาพรวม รวมถึงปฏิบัติการในแต่ละประเด็นที่คิดว่าไม่มีความเป็นธรรมก็แตกต่างกันตามไปด้วย ภายใต้เงื่อนไขและปัจจัยเช่นนี้นอกเหนือจากการกำหนดของรัฐบาลว่าอะไรควรเป็นการลงทุนขั้นพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคมโดยอาศัยองค์ประกอบของการตัดสินใจที่รอบคอบ ตลอดจนดำเนินนโยบายตามที่ประกาศไว้ต่อประชาชนช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งและหลังเลือกตั้งโดยการสังเคราะห์อย่างถี่ถ้วนนอกเหนือจากการหวังผลคะแนนเสียงทางการเมืองแล้ว การสร้างพื้นที่สาธารณะของภาคประชาชน-ประชาสังคมเพื่อสร้าง ‘ทางเลือกทางนโยบาย’ ที่คำนึงถึงประโยชน์ของสังคมและประชาชนทุกคนก็สำคัญไม่แพ้กัน แทนที่จะหวังผลระยะสั้นเหมือนดังนโยบายประชานิยมจำนวนหนึ่งซึ่งไม่เตะโครงสร้างอยุติธรรมที่ทำร้ายคนส่วนใหญ่

ด้วยสถานการณ์สังคมไทยเป็นเช่นนี้ การมีจุดหมายการปฏิรูปประเทศไทยร่วมกันเพื่อก้าวข้ามสีเสื้อการเมืองเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมืองจึงจำเป็นยิ่ง โดยหนึ่งภาพอุดมคติคนไทยที่ควรไปให้ถึงเพราะประชาชนทุกคนได้ประโยชน์เสมอเหมือนกันทุกสีเสื้อคือภาพคนไทยในอนาคตของคณะกรรมการปฏิรูปที่มียุทธศาสตร์การสร้างความเป็นธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมที่มองว่าคนไทยต้องมีศักดิ์ศรีและเท่าเทียมกันในฐานะความเป็นมนุษย์ มีโอกาสในการพัฒนาศักยภาพตนเองทั้งทางกาย ใจ ภูมิปัญญา และจิตวิญญาณ มีหลักประกันในด้านเงื่อนไขของการครองชีพและกลไกการคุ้มครองทางสังคม มีส่วนร่วมทางสังคม ตลอดจนมีสำนึกต่อประโยชน์สุขของส่วนรวม รวมถึงเป็นชีวิตที่สงบสุขตามวิถีวัฒนธรรมแห่งสันติภาพและในสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาวะ และปราศจากการคุกคามซึ่งกันและกัน

ทั้งนี้ ถึงภาพคนไทยในอุดมคติของคณะกรรมการปฏิรูปอาจจะแตกต่างจากของคณะกรรมการชุดอื่น ภาคประชาสังคมอื่น หรือของรัฐบาล ฝ่ายค้าน หรือของคนอื่นๆ ในฐานะปัจเจกที่มีความฝันเกี่ยวกับวันข้างหน้าแตกต่างกัน แต่กระนั้นภาพความฝันเชิงอุดมคติของคนไทยส่วนใหญ่ก็คงไม่พ้นการได้ใช้ชีวิตในสังคมที่มีความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ และมีความเท่าเทียมด้านสิทธิและเสรีภาพ เพราะว่าประชาชนส่วนใหญ่ในสังคมรู้ซึ้งถึงความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสทางเศรษฐกิจซึ่งสร้างความอยุติธรรมตามมาเป็นอย่างดี

กล่าวอีกนัยหนึ่ง ภาพอนาคตคนไทยที่พึงประสงค์คือการได้ใช้ชีวิตในสังคมที่มีความเป็นธรรม เท่าเทียม และเสมอภาค ซึ่งการจะก้าวไปถึงฝั่งฝันนั้นได้ก็จำต้องร่วมกันสร้าง ‘สะพานข้ามความเหลื่อมล้ำ’ เพื่อทอดตัวข้ามมหาสมุรทรเวิ้งว้างของความเหลื่อมล้ำและอยุติธรรม ซึ่งตัวสะพานข้ามความไม่เท่าเทียมกันนี้มีด้วยกันหลายรูปแบบและแต่จะแห่งก็สร้างสรรค์ขึ้นตามวัตถุดิบที่เป็นประเด็นที่เห็นชอบเห็นควรของตนเอง แต่ทว่าทั้งหมดทั้งมวลถ้าขึ้นโครงสร้างสะพานให้แข็งแกร่งมากพอก็จะสามารถรองรับกับการเคลื่อนขบวนของประชาชนที่ถูกเอารัดเอาเปรียบที่ตื่นตัวเป็นพลเมืองที่มีความกระตือรือร้น (Active Citizen) ซึ่งอาจรวมตัวกันในรูปของขบวนการทางสังคม (Social Movement) ทีแรกแม้จะเรียกร้องประเด็นสิทธิและเสรีภาพที่ถูกละเมิดเป็นหลัก แต่ต่อมาก็จะขยายตัวสู่การสร้างความเป็นธรรมและเท่าเทียมในภาพรวมได้

การถักทอสะพานการปฏิรูปประเทศไทยในมหาสมุทรแห่งความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมของสังคมไทยอย่างน้อยสุดก็ปรากฏเป็นรูปธรรมขึ้นแล้วกับข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อเสริมสร้างอำนาจชุมชนท้องถิ่นและลดทอนความเสียเปรียบของประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ดังเช่นข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปที่มีมิติครอบคลุมลุ่มลึกกว้างขวาง ทว่าล้วนแล้วแต่สัมพันธ์กับแก่นกลางวิกฤตปัญหาคือ ‘โครงสร้างอำนาจที่ไม่เป็นธรรม’ และ ‘ฉันทามติปฏิรูปประเทศไทย’ ของสมัชชาปฏิรูปประเทศไทยที่เป็นเวทีสาธารณะซึ่งเปิดกว้างกับการเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชนในการร่วมกันคิดค้นเพื่อค้นพบอุปสรรคปัญหาก่อนจัดทำเป็นมติหรือข้อเสนอเชิงนโยบายที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนทุกคนต่อไป ดังกระบวนการของเวทีสมัชชาปฏิรูปประดับชาติ สมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็น และสมัชชาปฏิรูประดับพื้นที่ ที่เป็นพื้นที่สาธารณะให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับประเด็นความไม่เป็นธรรมต่างๆ

หนทางการปฏิรูปประเทศไทยจึงไม่ได้อยู่ในความมืดมิดหรือเดินไปสู่ความไร้จุดหมาย เพราะภายใต้ข้อเสนอข้างต้นทั้งข้อเสนอเชิงนโยบายของคณะกรรมการปฏิรูปและมติปฏิรูปประเทศไทยของสมัชชาปฏิรูปที่ทำงานมาอย่างต่อเนื่อง 3 ปี และไม่ได้สิ้นสุดไปพร้อมกับการหมดวาระแบบเป็นทางการของสมัชชาปฏิรูปก็ทำให้ประเทศไทยไม่ต้องเดินเดี่ยวดุ่มไปในรัตติกาลหรือต้องตั้งเสาสะพานเอง

ดังข้อเสนอการสร้างความเป็นธรรมในระบบงบประมาณ การสร้างความเป็นธรรมในการจัดการทรัพยากรแร่ การปฏิรูปฐานทรัพยากรเพื่อความยั่งยืนและเป็นธรรม การปฏิรูปนโยบายการจัดการน้ำ การปฏิรูปการเกษตรเพื่อสังคมที่เป็นธรรมและความมั่นคงทางอาหาร การปฏิรูปการจัดการที่ดินเพื่อการเกษตร การปฏิรูประบบการเกษตรพันธสัญญา จนถึงการปฏิรูประบบประกันสังคมเพื่อความเป็นธรรม ที่จะทอดตัวยาวเป็นสะพานพาประชาชนผู้คับแค้นขื่นขมขจัดวิกฤตปัญหานานาที่เกิดจากโครงสร้างสังคมไม่เป็นธรรม

ทั้งนี้ ข้อเสนอสำคัญข้างต้นนี้ถ้าถูกนำไปปฏิบัติการจะสามารถคานอำนาจของนโยบายที่ถูกกำหนดจากภาคการเมืองซึ่งมักถูกสร้างจากความพึงพอใจในคะแนนเสียงที่จะได้รับเป็นสำคัญ โดยทั้งหมดเป็นข้อเสนอที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมแต่อย่างใดเพราะมุ่งรักษาสถานภาพทางเศรษฐกิจ-สังคม (Status Quo) ของกลุ่มคนบนยอดพีระมิดที่ได้เปรียบทางสังคม ควบคู่กับเปิดกว้างให้ทุนเข้ามากอบโกยทรัพยากรธรรมชาติไปจากชุมชนท้องถิ่นด้วยวาทกรรมการพัฒนา นอกจากนั้นข้อเสนอเหล่านี้ยังสามารถคลี่คลายสถานการณ์ความรุนแรงของปัญหาการรวมศูนย์อำนาจที่แม้มีแนวทางกระจายอำนาจ หากแต่การกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปท้องถิ่น (Decentralized) ก็ไปไม่ถึงชุมชนที่มีประชาชนเป็นฐานเสียที

มติและข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปประเทศไทยให้มีความเป็นธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมจึงเปรียบเสมือนการร่วมกันถักทอสะพานข้ามมหาสมุทรแห่งความเหลื่อมล้ำและความอยุติธรรม แต่ทว่าใช่ว่าจะมีแต่สะพานสายนี้เท่านั้น ยังคงมีสะพานอีกมากสายที่ทำหน้าที่พาประชาชนก้าวข้ามความไม่เท่าเทียมต่างๆ นานา และมากกว่านั้นสามารถสร้างสะพานขึ้นเมื่อใดก็ได้ ถ้าประชาชนตื่นตัวและร่วมกันลงมือทำ โดยเฉพาะระดับของการเข้ามามีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะ โดยเฉพาะการกำหนดนโยบายสาธารณะที่จะเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา (Catalyst) ให้เกิดการสร้างสะพานใหม่ๆ ขึ้นอย่างกว้างขวางในประเทศไทย

ด้วยเหตุนี้มติสมัชชาปฏิรูปที่เป็นเป้าหมาย (End) จึงเป็นตัวสะพานที่ทอดข้ามมหาสมุทรแห่งความเหลื่อมล้ำและอยุติธรรมของสังคมไทยได้ ในขณะเดียวกันกระบวนการของสมัชชาปฏิรูปก็จะเป็นวิธีการ (Mean) หรือสะพานที่เชื่อมร้อยภาคประชาชนและชุมชน ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ ภาคธุรกิจ และภาคการเมือง มาร่วมกันถักร้อยมติปฏิรูปประเทศไทยให้สามารถ ‘ตอบโจทย์’ วิกฤตการณ์ความเหลื่อมล้ำและความต้องการความยุติธรรมของประเทศไทยได้
กำลังโหลดความคิดเห็น