ยะลา - กลุ่มคนไทยพุทธในพื้นที่ จ.ยะลา เริ่มกังวลใจหลังมีการพูดคุยสันติภาพ หวั่นตกเป็นชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ชายแดนใต้ แนะทางออกรัฐควรลงพื้นที่สัมผัสวิถีชีวิตของผู้คน
จากกรณีที่รัฐบาลไทย โดย เลขา สมช. และตัวแทนรัฐบาลจะมีการพูดคุยสันติภาพกับตัวแทนกลุ่มขบวนการบีอาร์เอ็น ที่ประเทศมาเลเซีย ในวันพรุ่งนี้ กลุ่มประชาชนในพื้นที่ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบมาตลอดระยะเวลากว่า 9 ปี ก็ติดตามสถานการณ์ของการพูดคุยสันติภาพอย่างต่อเนื่อง และหวาดกลัวถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นหลังการพูดคุยสันติภาพที่จะถึงนี้
ล่าสุด วันนี้ (27 มี.ค.) ที่ทำการชุมชนคูหามุข เขตเทศบาลนครยะลา อ.เมือง จ.ยะลา นายรักชาติ สุวรรณ์ ประธานชุมชนคูหามุข อ.เมือง จ.ยะลา เปิดเผยว่า ชาวไทยพุทธในชุมชนมีการพูดคุยกันถึงกรณีที่รัฐบาลไทยจะเจรจาสันติภาพกับตัวแทนกลุ่มขบวนการบีอาร์เอ็น ที่ประเทศมาเลเซีย ในวันพรุ่งนี้ โดยมีข้อกังวลว่า ชาวไทยพุทธในพื้นที่จะต้องกลายเป็นชนกลุ่มน้อยหรือไม่
หลังการเจรจาจะทำให้เกิดนครรัฐปัตตานีหรือไม่ และถ้าหากเกิดขึ้นจริงประชาชนชาวไทยพุทธจะอยู่กันอย่างไร ทั้งที่ความจริงแล้ว ภาครัฐเองจะต้องลงมาสัมผัสพูดคุยกับประชาชนระดับล่างในพื้นที่ก่อนว่า มีความต้องการอย่างไร และประชาชนในพื้นที่ทั้งกลุ่มคนไทยพุทธ หรือไทยมุสลิมมีปัญหากันจริงหรือม่ ไม่ใช่การดำเนินการเปิดขั้นตอนหารือหาแนวทางเฉพาะจากตัวแทนกลุ่มประชาชน นักวิชาการ โดยไม่ถามความรู้สึก ความต้องการของประชาชนในระดับรากหญ้าที่อาศัยอยู่ในพื้นที่มาโดยตลอด
ประธานชุมชนคูหามุข อ.เมือง จ.ยะลา ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ทุกวันตั้งแต่มีการเริ่มพูดคุยสันติภาพคนชุมชนก็จะมีการมารวมตัวกันพูดคุยถึงกรณีดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง หรือไม่ก็จะมีการจับกลุ่มพูดคุยกันในร้านค้า ร้านน้ำชาว่าต่อไปประชาชนในพื้นที่โดยเฉพาะกลุ่มคนไทยพุทธจะทำตัว และจะดำเนินชีวิตต่อไปอย่างไร ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ออกมายอมรับว่า กลัวเพราะตามความจริงที่ผ่านมา ประชาชนชาวผู้นับถือศาสนาพุทธก็ตกเป็นชนกลุ่มน้อยอยู่แล้ว
เนื่องจากภาครัฐทุ่มเททั้งงบประมาณ และการเอาใจใส่ต่อสิทธิพิเศษแก่กลุ่มไทยมุสลิมมากกว่าคนไทยพุทธมานานแล้ว แต่เมื่อมาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันแล้วถามถึงปัญหาที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้เกิดจากความไม่เข้าใจกัน ความไม่เท่าเทียมกัน หรือมีข้อบาดหมางใจกันต่อกลุ่มคนในพื้นที่ ซึ่งก็ไม่น่าจะใช่ตัวปัญหา เพราะเมื่อก่อนคนในพื้นที่ก็อยู่อาศัยกันมาอย่างเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกันมาโดยตลอด
“และหากมีการจัดตั้งเป็นเขตปกครองพิเศษ หรือมหานครรัฐปัตตานีขึ้นมาจริงๆ แล้ว กลุ่มคนไทยพุทธในพื้นที่จะอยู่กันอย่างลำบาก ซึ่งไม่รู้จะใช้ชีวิตอยู่กันอย่างไร แต่หากภาครัฐเข้ามาดูแลให้เกิดความเท่าเทียมต่อกันแล้วทุกอย่างก็คงจะดีอย่าทุ่มเทเฉพาะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น” ประธานชุมชนคูหามุขกล่าว
ด้านนายวิวัธน์ หริรักษ์ไพบูรย์ เลขาชุมชนฯ กล่าวว่า สำหรับความคิดเห็นอย่างไรในแนวทางที่รัฐบาลได้จัดให้มีการพูดคุยกับกลุ่มขบวนการนั้น ในความรู้สึกส่วนตัวเห็นด้วยกับการเปิดเวทีพูดคุยครั้งนี้ เพราะอย่างน้อยที่สุดการพูดคุยก็จะนำไปสู่การรับรู้ในเรื่องต่างๆ ซึ่งจะนำไปสู่การเจรจาต่อไป แต่การเจรจาทั้งหมด ประเทศไทยมี 77 จังหวัด แต่มีปัญหาเพียง 3 จังหวัด เมื่อได้ข้อสรุปจากกลุ่มคนไม่กี่คนแล้วเราจะตัดสินว่าจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ไม่ได้ เพราะประเทศไทยมีประชากรกว่า 60 ล้านคน การที่จะทำอะไรควรจะถามคนทั้งประเทศด้วย
การที่จะแบ่งการปกครองออกไป แบ่งเป็นเขตการปกครองส่วนพิเศษก็แล้วแต่ควรจะถามคนไทยทั้งประเทศด้วย จะถามแค่คน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หัวหน้ากลุ่มขบวนการ หรือภาครัฐก็ไม่สมควร ถ้ามองในแง่ความเป็นอยู่ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยนี้ รัฐบาลไทยกระจายไปค่อนข้างครอบคลุม ไม่ว่าจะเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลต่างๆ มีผู้นำผู้บริหารท้องถิ่นซึ่งมาจากการเลือกตั้งประชากรที่เป็นกลุ่มมุสลิมในพื้นที่นั้น เขาก็เลือกคนมุสลิมไปบริหารระดับเทศบาล หรือองค์การบริหารระดับจังหวัดก็แล้วแต่
ที่สำคัญ รัฐยังมี พ.ร.บ.กระจายอำนาจเข้าสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คิดว่าอำนาจในทางประชาธิปไตยรัฐบาลไทยก็ให้มาก เพียงแต่เราจะนำไปสู่การแก้ปัญหานี้อย่างไร ซึ่งเราควรจะมามองปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริงมากกว่า คนในพื้นที่หมายถึงประชากรในพื้นที่คนไทยพุทธ มุสลิมอยู่ด้วยกันมาช้านานมีปัญหาความขัดแย้งกันเองหรือไม่ ในเมื่อไม่มีปัญหาความขัดแย้ง ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากสาเหตุอะไรนั้น รัฐควรจะมาทำวิจัยและเจาะลึกในระดับรากหญ้าก่อน
“เท่าที่ฟังคนในพื้นที่ไม่เคยมีหน่วยงานไหนที่ลงมาสัมภาษณ์ และสัมผัสชีวิตความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ว่าความรู้สึกของคนในพื้นที่เป็นอย่างไร อยู่อย่างไร ถ้าลงมาคลุกคลีกับคนในพื้นที่ก็จะรู้ว่ามีปัญหาความขัดแย้งเกิดจากอะไร”
“ถ้าถามตนว่าไปทะเลาะกับพี่น้องมุสลิมหรือก็ไม่ใช่ ชาวบ้านไทยพุทธส่วนใหญ่ก็ไม่เคยไปทะเลาะกับชาวไทยมุสลิมเลย ความขัดแย้งอื่นๆ มาจากหลายสาเหตุ หลายปัจจัย ควรจะมาทำวิจัยกันมากกว่านี้” นายวิวัธน์ หริรักษ์ไพบูรย์ เลขาชุมชนฯ กล่าว