xs
xsm
sm
md
lg

เสนอ “โมเดลปัตตานีมหานคร” ให้ตัวแทนชาวไทยพุทธมีส่วนร่วมไม่ต้องผ่านการเลือกตั้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายมันโซร์ สาและ กรรมการสภาประชาสังคมชายแดนใต้ และผู้ประสานงานเครือข่ายขับเคลื่อน โมเดลปัตตานีมหานคร
ยะลา - “มันโซร์ สาและ” เสนอโมเดลปัตตานีมหานคร บางอย่างตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ได้ ให้ตัวแทนชาวไทยพุทธในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ โดยไม่ต้องผ่านการเลือกตั้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดยะลาว่า ก่อนการพูดคุยสันติภาพของตัวแทนรัฐบาลไทยกับตัวแทนขบวนการบีอาร์เอ็น ที่จะเกิดขึ้นที่ประเทศมาเลเซียในวันที่ 28 มีนาคม คือ วันพรุ่งนี้ มีหลายฝ่ายจับตามองถึงผลที่จะเกิดขึ้นภายหลังการพูดคุยเสร็จสิ้น

ทั้งนี้ นายมันโซร์ สาและ กรรมการสภาประชาสังคมชายแดนใต้ และผู้ประสานงานเครือข่ายขับเคลื่อน โมเดลปัตตานีมหานคร กล่าวว่า เห็นความตื่นตัวของประชาชนในพื้นที่ในเรื่องการเจรจารอบที่สอง ของสภาความมั่นคงแห่งชาติ กับขบวนการบีอาร์เอ็น ในวันที่ 28 มีนาคมนี้ โดยเฉพาะตามร้านน้ำชา ชุมชนมุสลิม และชุมชนไทยพุทธ แต่ประเด็นในการเจรจาจะมีการวางกรอบอะไรที่จะต้องติดตาม ในนามภาคประชาสังคมชายแดนใต้ ที่มีการขับเคลื่อนเรื่องนี้มาโดยตลอด ซึ่งแสดงจุดยืนจะไม่เข้าไปติดกระบวนการของรัฐแต่มีการเสนอเพื่อให้มีกลุ่มที่สาม คือ กลุ่มสังเกตการณ์ที่อยากให้ที่ประชุมเจรจาได้พิจารณา เพราะการแสดงจุดยืนของภาคประชาสังคมต่อกรณีไม่เข้าฝ่ายเพื่อแสดงความเป็นกลาง สิ่งที่อยากจะทำต่อไปคือ สื่อสารสาธารณะในประเด็นในการเจรจาเท่าที่จะสามารถเปิดเผยได้

นายมันโซร์ กล่าวต่อว่า ประเด็นการเจรจากรอบสำคัญคือ ประเด็นสาระพื้นที่ เช่น การศึกษา เศรษฐกิจ โครงสร้างการปกครอง สาธารณสุข ในอนาคต ล้วนจะต้องถูกหยิบยกมาคุยในที่เจรจา แต่สิ่งเหล่านี้ ควรรับฟังเวทีให้มากเพื่อรวบรวมข้อมูล โมเดลการเมืองการปกครองปัตตานีมหานครบางส่วนที่จัดทำขึ้นมา ซึ่งจะตอบโจทย์บางอย่างในการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ เป็นเรื่องที่กรอบการเจรจาต้องหยิบยกขึ้นมาเจรจาในรายละเอียดให้มากที่สุด ที่ผ่านมา ตนได้ยินมาโดยตลอดต่อข้อกังวลของพี่น้องไทยพุทธ ต่อกรณีมีการเปลี่ยนแปลงซึ่งสิ่งเหล่านี้ อยากให้ตั้งสติ

โดยเฉพาะช่วงที่มีการเคลื่อนไหวกระแสปัตตานีมหานคร การทำเรื่องเขตปกครองพิเศษ โครงสร้างการเมืองท้องถิ่น ที่ทำขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ความขัดแย้ง ความต่างในเรื่องภูมิหลังทางวัฒนธรรม ชาติพันธุ์ โดยเฉพาะสองกลุ่มหลักคือ กลุ่มมลายูกับกลุ่มไทยพุทธ ดังนั้น ถ้าโครงสร้างถูกเปลี่ยนแปลง อำนาจในท้องถิ่นมากขึ้นในโครงสร้างของผู้บริหารที่กำหนดพระราชบัญญัติปัตตานีมหานคร มีชาวไทยพุทธเป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัด ในสภาระดับจังหวัด เตรียมเก้าอี้ให้ชาวไทยพุทธ และศาสนาอื่นโดยไม่ต้องผ่านการเลือกตั้ง เป็นเก้าอี้พิเศษ และให้ความสำคัญให้แก่ชนกลุ่มน้อย และในมิติที่สำคัญที่สุดต้องการลดอบายมุขให้มากที่สุด สร้างพื้นที่เป็นพื้นที่สิริมงคล หลักธรรมะของทุกศาสนาก็จะถูกปฏิบัติมากขึ้น ซึ่งข้อเรียกร้องทั้งหมดควรนำไปบรรจุในการเจรจาในครั้งต่อๆ ไป


กำลังโหลดความคิดเห็น