xs
xsm
sm
md
lg

BRN ส่งสัญญาณไม่เอาภาคประชาสังคมเป็นคณะกรรมการพูดคุยสันติภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - รายงานข่าวฝ่ายความมั่นคงเผย บีอาร์เอ็นแสดงความไม่พอใจ ที่สภาความมั่นคงแห่งชาติของไทย เอาภาคประชาชนร่วมเป็นคณะกรรมการคุยสันติภาพ 28 มี.ค.นี้ เนื่องจากคู่ขัดแย้งคือ รัฐบาลกับบีอาร์เอ็น

วันนี้ (26 มี.ค.) รายงานข่าวจากฝ่ายความมั่นคงเปิดเผยว่า นายฮาซัน ตอยิบ รองเลขาธิการ และคณะกรรมการของบีอาร์เอ็นฯ แสดงความไม่พอใจกับการที่สภาความมั่นคงแห่งชาติของไทย ได้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชน ในการกำหนดกรอบการพูดคุยสันติภาพ 2 ฝ่าย ที่จะมีขึ้นในวันที่ 28 มี.ค. ที่เกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซีย โดยทางฝ่ายบีอาร์เอ็นฯ ได้ส่งสัญญาณถึง พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติว่า การพูดคุย 2 ฝ่ายเพื่อยุติความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ควรมีกรรมการจากภาคประชาชน เนื่องจากบีอาร์เอ็นฯ เห็นว่าคู่ขัดแย้งครั้งนี้ เป็นเรื่องของรัฐบาลกับบีอาร์เอ็นฯ และบีอาร์เอ็นฯ ไม่ใช่คู่ขัดแย้งกับประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้

รวมทั้งหากมีปัญหา บีอาร์เอ็นฯ สามารถที่จะสื่อสารกับประชาชนในพื้นที่ได้ การส่งสัญญาณแสดงความไม่พอใจเอาตัวแทนจากภาคประชาสังคมในครั้งนี้ จึงน่าจะทำให้การเดินทางไปพูดคุยสันติภาพรอบที่ 2 ในวันที่ 28 มีนาคมนี้ ของสภาความมั่นคงแห่งชาติต้องมีการทบทวน และปรับเปลี่ยนตัวคณะกรรมการ ซึ่งอาจจะมีเฉพาะตัวแทนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากภาครัฐเท่านั้น

ในขณะที่ นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล สมาชิกสภาที่ปรึกษาและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สปต. ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการการสื่อสารและการมีส่วนร่วมเปิดเผยว่า ถ้าบีอาร์เอ็นฯ ไม่ต้องการตัวแทนจากภาคประชาชนให้เป็นคณะกรรมการใน 15 คน สภาความมั่นคงแห่งชาติก็ไม่จำเป็นต้องตั้งภาคประชาสังคมไปเป็นตัวแทนในการเปิดพื้นที่พูดคุย เพื่อให้เวทีของการพูดคุยสามารถเดินไปได้โดยไม่ต้องมีเงื่อนไข ซึ่งในหลายๆ ประเทศที่มีความขัดแย้ง เช่น ที่อาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย หรือที่มินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์ ภาคประชาสังคมก็ไม่เป็นคณะกรรมการในการเจรจา แต่ภาคประชาสังคมจะทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้แก่คณะกรรมการเท่านั้น

ส่วนกรณีที่ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. ได้มีคำสั่งให้นายตำรวจระดับ ผบก. 1 นาย และ ผกก.2 นาย ซึ่งมีบ่อนการพนันในพื้นที่ โดยย้ายนายตำรวจที่มีปัญหาทั้ง 3 นาย มาปฏิบัติหน้าที่ในศูนย์ปฏิบัติการตำรวจภูธรจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่มีกำหนดนั้น เรื่องดังกล่าวมีการวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอย่างมาก ถึงการย้ายข้าราชการที่มีความผิดมาทำหน้าที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ต่อเรื่องนี้ นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล สมาชิกสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยว่า การโยกย้ายข้าราชการที่มีความผิด มีความบกพร่องต่อหน้าที่ และมีมลทินมาปฏิบัติหน้าที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเรื่องที่ไม่ควรกระทำ เพราะเป็นการทำให้ประชาชนในพื้นที่เห็นว่า เป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ความไม่สงบของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในอดีต ข้าราชการที่ทำความผิดร้ายแรงมักถูกส่งมาปฏิบัติหน้าที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จนทำให้เกิดเงื่อนไขกับประชาชน และกับพื้นที่ ดังนั้น จะได้นำเรื่องการย้ายข้าราชการที่มีความผิดมาปฏิบัติหน้าที่ยัง ศชต. เข้าสู่การหารือของสภาที่ปรึกษาฯ เพื่อที่จะทำการคัดค้านการย้ายข้าราชการที่มีปัญหามาทำหน้าที่ยังจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น