xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลต้องเปิด 15 รายชื่อทีมเจรจากับบีอาร์เอ็นให้สังคมรับรู้ / ไชงยงค์ มณีพิลึก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพการลงนามระหว่าง พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ กับนายฮัสซัน ตอยิบ รองเลขาธิการและฝ่ายการเมืองของขบวนการบีอาร์เอ็น โคออดิเนต เมื่อวันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา
 
คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชงยงค์ มณีพิลึก
 
หลังการลงนามเพื่อเปิดพื้นที่พูดคุยสันติภาพระหว่างตัวแทนของรัฐบาลไทย คือ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กับนายฮัสซัน ตอยิบ รองเลขาธิการ และฝ่ายการเมืองของขบวนการบีอาร์เอ็น โคออดิเนต เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลังจากวันนั้นเป็นต้นมา หลายหน่วยงานไม่ว่าจะเป็น “ต้นเรื่อง” คือ สมช. รมว.กระทรวงกลาโหม ผบ.ทบ. ผบ.ตร. และใครต่อใครอีกจำนวนไม่น้อย ต่างออกมาประโคมโหมโห่ถึงความสำเร็จของการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้  ถึงขนาดมีบางผู้บางคนให้สัมภาษณ์สื่อว่า ไม่เกิน 2 ปีปัญหาความไม่สงบของจังหวัดชายแดนภาคใต้จะยุติ
 
แม้ว่าการลงนามเพื่อแสดงเจตนารมณ์ที่รัฐบาลไทยทำกับขบวนการแบ่งแยกดินแดนบีอาร์เอ็น โคออดิเนต จะถือว่าเป็น “ข่าวดี” ในการที่ทั้ง 2 ฝ่ายจะเปิดพื้นที่พูดคุยเพื่อหาแนวทางในการลดความรุนแรง หยุดความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่การที่ทุกฝ่ายต้องออกมาแสดงความคิดเห็นที่เป็นเสมือนเป็นการจุดประกายแห่งความหวังให้แก่ประชาชนเสียจน “สูง” และ “มากเกิน” ความเป็นจริงนั้น
 
หากวันหนึ่งไม่สามารถทำให้เป็นไปตามที่วาดหวังไว้ สิ่งที่จะติดตามมาก็คือ ประชาชนจะเห็นว่าสิ่งที่หน่วยงานของรัฐได้ดำเนินการคือการ “หลอก” ให้ดีใจ และเห็นว่าเป็น “เกมการเมือง” ของรัฐบาล โดยอาศัยประชาชนเป็นเครื่องมือในการ “สร้างภาพ” และสร้างความ “ชอบธรรม” ให้แก่รัฐบาล
 
โดยข้อเท็จจริง เรื่องราวของวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 เป็นเพียงการลงนามของ 2 ฝ่าย ซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งกันในเรื่อง “อุดมการณ์” ในเรื่องความคิดทาง “การเมือง” ที่แตกต่างกัน เพื่อที่จะหยุดการใช้อาวุธมาประหัตประหารกัน เพื่อมาร่วมพูดคุย “ต่อรอง” หาทางออกให้ทั้ง 2 ฝ่ายได้ในสิ่งที่ต้องการ ซึ่งขณะนี้ ทั้ง 2 ฝ่ายอยู่ระหว่างการแต่งตั้งคณะกรรมการรวม 2 คณะเพื่อเป็น “ตัวแทน” กำหนดกรอบของการพูดคุย โดยในวันที่ 28 มีนาคมที่จะถึงนี้ จะมีการพบปะกันเป็นครั้งที่ 2 ของฝ่ายรัฐบาล และบีอาร์เอ็น หลังจากนั้นจึงจะมี “เวที” เพื่อการพูดคุยแก้ปัญหา เพื่อยุติความรุนแรง ความขัดแย้ง และต่อรองความต้องการของทั้ง 2 ฝ่าย
 
ดังนั้น การที่ตัวแทนหลายหน่วยงานของรัฐที่ต่างออกมาประโคมโหมโห่ถึงความสำเร็จในเบื้องต้น เป็นสิ่งที่ถูกต้อง และเป็นข่าวดีสำหรับประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และประเทศไทย แต่ในขณะเดียวกัน ต้องบอกความจริงให้ประชาชนได้รับรู้ด้วยว่า อย่าคาดหวังความสำเร็จที่กำลังเริ่มต้นสูงเกินไป และอย่าเข้าใจผิดว่าหลังจากวันที่ 28 มีนาคม 2556 ซึ่งเป็นการพบกันครั้งที่ 2 ของคณะพูดคุยสันติภาพแล้ว เหตุการณ์ร้าย ความรุนแรง ความขัดแย้งในพื้นที่จะลดลงแบบทันทีทันใด
 
เนื่องจากขบวนการพูดคุยสันติภาพยังต้องใช้เวลาในการแสวงหาข้อเท็จจริง แสวงหาความจริงใจ ความมั่นใจ เพื่อทำพื้นที่ปลอดภัย และอะไรอีกหลายสิ่งหลายอย่าง การพบกันครั้งที่ 2 เป็นเพียง “จุดเริ่มต้น” ของเวทีสันติภาพ เพื่อให้มีการกำหนดกรอบการพูดคุย แม้ว่าหนึ่งในข้อเสนอที่นายฮาซัน ตอยิบ เป็นผู้เสนอเองคือ การลดความรุนแรงในพื้นที่เพื่อหยุดการฆ่า “พลเรือน” แต่เชื่อว่าคงต้องใช้เวลาในการพูดคุยกับกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่ ดังนั้น ต้องบอกคนในพื้นที่ให้ชัดเจน เพราะมิฉะนั้น จะมีคำถามตลอดเวลาว่า ทำไมไปพูดคุยแล้วเหตุความรุนแรงยังไม่ยุติ  ซึ่งจะเป็นการทำลายความหวัง ความเชื่อมั่นของคนในพื้นที่ให้หมดลง และกลายเป็นความสิ้นหวัง
 
แม้ว่าการเปิดพื้นที่พูดคุยจะต้องมีการ “สื่อสาร” กับคนทั้งประเทศให้เข้าใจ แต่ต้องยอมรับว่า การสร้างความเข้าใจกับ “คนในพื้นที่” มีความสำคัญกว่าการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจกับ “คนนอกพื้นที่” เพราะคนในพื้นที่คือ “พลัง” สำคัญในการสร้างความมั่นใจ ความเชื่อถือ ในการแก้ปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นด้วยการใช้เวทีสันติภาพ นั่นคือ การเปิดพื้นที่พูดคุยกับผู้เห็นต่าง ซึ่งต่อไปก็คือการยกระดับสู่การ “เจรจา” นั่นเอง
 
ดังนั้น สิ่งที่อยากเห็นทั้งก่อนวันที่ 28 มีนาคม และหลังวันที่ 28 มีนาคมคือ “พลัง” คือ “เอกภาพ” ของคนในพื้นที่ในทุกภาคส่วน ไม่ว่าเป็นภาครัฐ หรือภาคประชาชน เช่น ผู้นำศาสนา ผู้นำองค์กรท้องถิ่น อบต. อบจ. เทศบาล หอการค้า สภาอุตสาหกรรม องค์กรนักศึกษา องค์กรนักวิชาการ สถานศึกษาต่างๆ รวมทั้งองค์กรสตรี เยาวชน สื่อมวลชน และอื่นๆ ต้องแสดงออกว่า “เห็นด้วย” และสนับสนุนเวทีการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาล และบีอาร์เอ็นฯ
 
การแสดงออกขององค์กรภาครัฐ และภาคเอกชนในพื้นที่มีมากมาย เช่น อาจจะมีการขึ้นคัตเอาต์ข้อความ การประชุมสัมมนา การที่ผู้นำศาสนาประกาศให้ประชาชนทราบว่าเห็นด้วย และสนับสนุนการแก้ปัญหาความไม่สงบด้วยการเปิดพื้นที่พูดคุยกับบีอาร์เอ็นฯ เพราะการแสดงออกเช่นนี้คือการสร้าง “พลัง” และการมี “เอกภาพ” ที่เป็นความต้องการของประชาชน
 
เพราะตราบใดที่นโยบายการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมุ่งเน้นการเปิดพื้นที่พูดคุยเพื่อสันติภาพ เพื่อลดความรุนแรงระหว่างรัฐบาล และบีอาร์เอ็นฯ มีลักษณะที่ “เงียบๆ” มีเพียง “ข่าว” ความเคลื่อนไหวของการใช้สัมภาษณ์ของ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช. และของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีเพียงฝ่ายเดียว โดยที่ภาครัฐ การเมืองท้องถิ่น และประชาชนต่างเห็นด้วย และดีใจเงียบๆ ภายในบ้านของตนเอง สิ่งที่เกิดขึ้นจึงเหมือนกับว่า ประชาชนในพื้นที่ไม่ได้รับรู้ ไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วม และสนองตอบกับนโยบายดังกล่าว
 
ประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่งคือ รายชื่อคณะกรรมการ 15 คนที่เป็นผู้ “ถูกกำหนด” ให้พูดคุยในรายละเอียดของกรอบของความต้องการของทั้ง 2 ฝ่ายนั้น รัฐบาลจะต้องให้ประชาชนได้รับรู้ว่าเป็นใคร มาจากไหน เพราะคณะกรรมการชุดนี้จะต้องเป็นที่ “ยอมรับ” ของคนในพื้นที่ และคนในประเทศ
 
หากคณะกรรมการเหล่านี้ไม่มี “ต้นทุน” ทางสังคม ประชาชนจะเกิดความไม่เชื่อถือ เมื่อไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็น “ตัวแทน” ของคนทั้งประเทศแล้ว สิ่งที่ไปทำการตกลงกับบีอาร์เอ็นฯ ก็อาจจะกลายเป็นความหวาดระแวงว่าเป็นผลประโยชน์ของชาติ หรือของบีอาร์เอ็นฯ
 
แน่นอนว่าการเปิดเผยรายชื่อทีมเจรจาที่เป็นของภาคประชาสังคม หรือตัวแทนประชาชน อาจจะเกิดปัญหาความไม่ปลอดภัยแก่ตัวตนของผู้ถูกเปิดเผย หรืออาจจะเป็น “เป้าหมาย” ของกลุ่มผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการเปิดพื้นที่พูดคุยสันติภาพ แต่เชื่อเถอะว่าไม่ว่าจะเปิดเผย หรือปิดลับ รายชื่อคณะกรรมการทั้ง 15 คนจะไม่เป็น “ความลับ” หลังการพบปะกันในวันที่ 28 มีนาคมอีกต่อไป ดังนั้น ผู้ที่เป็นตัวแทนภาคประชาชนจึงต้อง “กล้า” ที่จะเปิดเผยตัวเพื่อทำหน้าที่แก้ปัญหาของชาติด้วย
 
และสุดท้าย การพูดคุยของคณะกรรมการที่จะมีขึ้นในวันที่ 28 มีนาคมนี้ และในครั้งต่อๆ ไป ต้องมีการเปิดเผยต่อประชาชนทราบ และต้องมีเวทีให้ประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมในขบวนการแก้ปัญหาด้วย เพื่อมิให้เป็นการพูดคุยที่ “ผูกขาด” เฉพาะคณะกรรมการ 2 ฝ่าย ทั้งนี้ ก็เพื่อป้องกันความ “เพลี่ยงพล้ำ” อันจะเกิดแก่ประเทศชาติ และประชาชน
 
เนื่องเพราะ “เวทีทางการทหาร” สามารถมีการ “แพ้” และ “ชนะ” กันได้หลายครั้งกว่าสงครามความขัดแย้งจะยุติ ต่างกับ “เวทีทางการเมือง” หรือ “เวทีเจรจา” ที่ถ้าพลาดแล้วจะ “แพ้หมดทั้งกระดาน”
 
ดังนั้น หากนโยบายยุติสงครามประชาชน ลดความรุนแรง หยุดความหวาดระแวง หยุดการขัดแย้งด้วยเวทีการพูดคุยสันติภาพที่กำลังดำเนินการอยู่ทำได้เช่นนี้ จึงจะทำให้สังคมยอมรับ และตอบโจทย์ของการแก้ปัญหาไฟใต้ได้อย่างแท้จริง
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น