xs
xsm
sm
md
lg

เปิดพื้นที่พูดคุยเพื่อสันติภาพ ขอให้แค่ “เสียหน้า” แต่อย่าง “เสียดินแดน” / ไชยยงค์ มณีพิลึก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
 
คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก 


สถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด พ.ต.ท.จักรกฤษณ์ วงศ์พรหมเวศร์ รอง ผกก.ป.สภ.รือเสาะ จ.นราธิวาส พร้อมตำรวจอีก 2 นาย คือเหยื่อสถานการณ์ที่ต้องพลีชีพในหน้าที่ให้แก่ระเบิดในถนนจากฝีมือของ “อาร์เคเค” ซึ่งตอกย้ำให้เห็นว่า สถานการณ์การก่อการร้ายยังไม่ลดความรุนแรงลง หลังจากการลงนามเปิดพื้นที่พูดคุยสันติภาพระหว่าง พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กับ นายฮัสซัน ตอยิบ ตัวแทนของขบวนกู้ชาติปัตตานี หรือบีอาร์เอ็น โคออดิเนต เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา


เพราะความชัดเจนของการเปิดพื้นที่พูดคุยสันติภาพระหว่าง สมช.กับ บีอาร์เอ็นฯ มีเกิดขึ้นได้ต้องหลังจากวันที่ 28 มีนาคม 2556 ซึ่งจะมีการพูดคุยหลังจากทั้ง 2 ฝ่ายตั้งคณะกรรมการฝ่ายละ 15 คน เพื่อกำหนดกรอบในการพูดคุย เพื่อลดการก่อความรุนแรง และการแสวงหาแนวทาง “สันติภาพ” ที่ต้องมีการพบกัน “ครึ่งทาง” ระหว่าง สมช.กับบีอาร์เอ็นฯ โดยคณะกรรมการทั้ง 2 ฝ่ายจะเป็นผู้ที่มีบทบาทในการกำหนด “แนวทาง” ของการพูดคุยเพื่อให้ “ยุติ” การใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้น


ความจริงที่ต้องยอมรับกันทุกฝ่ายก็คือ หลังการลงนามของทั้ง 2 ฝ่าย เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ก่อให้เกิดสภาวะ “ฝุ่นตลบ” เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในฝ่ายของประเทศไทย เนื่องจากมีผู้เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย ต่างออกมาแสดงความคิดเห็นสู่สาธารณะ ในขณะที่ฝ่ายเห็นด้วยต่างเชื่อว่าการลงนามสองฝ่ายในครั้งนี้เป็น “ข่าวดี” เป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะการยุติสงครามความขัดแย้ง ไม่สามารถจบลงกับการใช้กำลัง และการใช้อาวุธเข้าประหัตประหารกัน


ในขณะที่ฝ่ายเห็นต่างกลัวว่า การลงนาม 2 ฝ่ายที่เกิดขึ้น เป็นการยกระดับของโจรก่อการร้ายให้เป็น “ขบวนการแบ่งแยกดินแดน” มีพื้นที่เคลื่อนไหวเรียกร้องต่อเวทีของ “สหประชาชาติ” และของ “องค์ประชุมมุสลิมโลก” หรือ “โอไอซี” และหากเป็นเช่นนั้น ในอนาคตจะมี “ประเทศที่สาม” เข้ามาแทรกแซงสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งสุ่มเสี่ยงในการที่จะทำให้ปัญหาทั้งหมดบานปลายถึงขั้นต้องเสียดินแดน


ซึ่งความเห็นด้วย และเห็นต่างของทั้งสองฝ่ายต่างต้องรับฟัง เพราะเป็นความคิดเห็นที่ “หวังดี” ต่อประเทศชาติด้วยกัน ดังนั้น รัฐบาลโดย สมช.จะต้องดำเนินการ “การพูดคุย” หรือ “เจรจา” ในรอบที่ 2 ในวันที่ 28 มีนาคมด้วยความสุขุม รอบคอบ และต้องไม่เร่งด่วนจนเกิดความเสียหายขึ้น


รวมทั้งสิ่งสำคัญที่สุด ทุกฝ่าย รวมทั้งประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จะต้อง “อดทน” ต่อขบวนการ “พูดคุยสันติภาพ” เนื่องจากกลุ่มผู้ขัดแย้ง และเห็นต่างกับรัฐไทย ไม่เพียงแต่ขบวนการบีอาร์เอ็นฯ ฝ่ายเดียว แต่มีรวมทั้งหมดถึง 9 กลุ่มด้วยกัน ซึ่งหลายกลุ่มเป็นเพียงผู้นำทางจิตวิญญาณ เป็นผู้นำทางความคิด หลายกลุ่มมีกองกำลังเคลื่อนไหวในพื้นที่ เมื่อมีการเปิดโอกาสให้มีการพูดคุย หรือเจรจาเพื่อหาทางออก ทุกกลุ่มจึงต้องการเข้ามามีส่วนร่วม


อันจะเป็นปัญหาหนักของบีอาร์เอ็นฯ ในการ “บริหารจัดการ” ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาในการแก้ปัญหา “ภายใน” ที่ไม่สู้จะมี “เอกภาพ” มากนัก รวมทั้งการเจรจากับกลุ่มติดอาวุธกลุ่มต่างๆ ที่เคลื่อนไหวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะกลุ่มที่เรียกตนเองว่า “นักรบฟาตอนี” ที่อาจจะไม่ยอมรับการ “ชี้นำ” ของบีอาร์เอ็นฯ ในครั้งนี้


ส่วนปัญหาที่กลายเป็น “อุปสรรค” ภายในของเราเองคือ “ความขัดแย้งภายใน” ทั้งทางการเมือง และทางความคิดของ “สำนักคิด” ต่างๆ จนทำให้การลงนามเปิดพื้นที่พูดคุยเพื่อสันติภาพเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็น “ข่าวดี” นั้น เมื่อมาถึงวันนี้ข่าวดีที่เกิดขึ้นก็กลายเป็น “ข่าวร้าย” ในทันที่ที่มีข่าว ซึ่งยังไม่ทราบว่าเป็น “จริง” หรือ “ลวง” ว่า บีอาร์เอ็นฯ มีธงในการเจรจาเพื่อต่อรองกับ สมช.แล้ว นั่นคือ...


รัฐบาลต้องให้ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตหัวหน้าพรรคความหวังใหม่ เป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เพื่อรับผิดชอบในการเจรจาสองฝ่าย และการเจรจาเพื่อหาทางออกนั้น มีการเสนอทางออกจากบีอาร์เอ็นฯ ว่าจะต้องให้พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ปกครองในรูปแบบของ “ปัตตานีมหานคร” หรือเป็น “เขตปกครองพิเศษ”


นั่นคือข่าวที่ยังไม่มีใครยืนยันว่าเป็นข่าวจริง หรือข่าวลวง แต่พลันที่ข่าวนี้แพร่สะพัดออกไป ทำให้คนจำนวนไม่น้อยห่วงใย ไม่เห็นด้วยกับการลงนามเปิดพื้นที่พูดคุยที่ผ่านมา และให้ยกเลิกการไปพูดคุยในวันที่ 28 มีนาคมนี้ เพราะเชื่อในข่าวดังกล่าว รวมทั้งเห็นว่าบีอาร์เอ็นฯ และผู้นำประเทศมาเลเซียมี “ธง” หรือจุดมุ่งหมายที่ต้องการ ก่อนที่จะมีการพูดคุยเพื่อแก้ปัญหายุติความรุนแรง อันจะทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบ


โดยเฉพาะคำว่า “เขตปกครองพิเศษ” และ “มหานครปัตตานี” หรือ “ปัตตานีมหานคร” นั้น เป็นเหมือน “ปีศาจ” ที่ผู้คนจำนวนมากในประเทศนี้ยังรับไม่ได้ ดังนั้น เมื่อมีภาพของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ซึ่งเป็นเจ้าของโมเดลมหานครปัตตานี ยิ่งทำให้เสียงของฝ่ายต่อต้านกระหึ่มยิ่งขึ้น ทั้งที่ข้อเท็จจริงทั้งเรื่องเขตปกครองพิเศษ และเรื่องมหานครปัตตานียังเป็นเรื่องไกลตัว และโอกาสที่จะเป็นไปได้ยังห่างไกลยิ่ง


รวมทั้งข่าวจากหน่วยข่าวความมั่นคงที่ถูกปล่อยออกมาว่า ในวันที่ 18 มีนาคมนี้ กลุ่ม “นักรบฟาตอนี” ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธที่ไม่เห็นด้วยกับการลงนามพูดคุยสันติภาพ มีการประชุมในพื้นที่ประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อกำหนดแนวทางการต่อสู้ด้วยการใช้ความรุนแรง มีการเตรียมกำลัง “เปอร์มูดอ บารู” จำนวน 400 คนเพื่อก่อความไม่สงบในเดือนเมษายนนี้ เพื่อเป็นการยืนยันว่า “ไม่เห็นด้วย” และไม่อยู่ภายในการ “ชี้นำ” ของบีอาร์เอ็นฯ


แต่สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าปัญหา และอุปสรรคที่เกิดขึ้นจะทำให้ข่าวดีเรื่องการลงนามสองฝ่ายเพื่อเปิดพื้นที่พูดคุย เปลี่ยนจาก “ศัตรู” มาเป็น “มิตร” ลดน้อยลง จนอาจกลายเป็นความ “หวาดระแวง” ของคนในประเทศ แต่ขบวนการพูดคุยสันติภาพระหว่าง สมช.และบีอาร์เอ็นฯ จะต้องดำเนินต่อไป เพราะแนวทางการแก้ปัญหาความไม่สงบ หรือการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยืดเยื้อยาวนาน สิ้นเปลืองงบประมาณจำนวนมหาศาล รวมทั้งสูญเสียชีวิต และทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นทุกปี จะต้องหาทางยุติก่อนที่จะมีการสูญเสียมากกว่านี้


ดังนั้น ทุกฝ่าย ทุกภาคส่วนต้องอดทน ต้องให้โอกาสคณะทำงานทั้งสองฝ่ายในการพูดคุย หรือเจรจา “ต่อรอง” ในข้อเรียกร้องที่เกิดขึ้น อย่ามองทุกอย่างที่เกิดขึ้นในทาง “เลวร้าย” จนทำให้การหาทางออกจาก “ไฟสงคราม” ของจังหวัดชายแดนภาคใต้เต็มไปด้วย “กับดัก” ที่หาทางออกไม่เจอ


เพราะสุดท้ายแล้ว หลังวันที่ 28 มีนาคม ถ้า “ไฟใต้” ยังลุกโชน ความรุนแรงยังไม่ลด แสดงว่า “ฮัสซัน ตอยิบ” ไม่มีศักยภาพ และเมื่อถึงเวลานั้น สมช.จะได้ยกเลิกการลงนามเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ก็ไม่ได้เสียหายอะไร


ในเมื่อ 9 ปีที่ผ่านมา กับ “6 รัฐบาล” ได้ใช้นโยบายอันหลากหลายในการ “ดับไฟใต้” ซึ่งก็ล้มเหลวแล้ว ล้มเหลวอีก ถ้าการเปิดพื้นที่พูดเพื่อคุยแปร “ศาสตรา” เป็น “แพรพรรณ” ครั้งนี้ล้มเหลวอีก รัฐบาลก็อาจจะแค่ “เสียหน้า” เท่านั้นเอง.
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น