ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ระบุรัฐบาลเจรจาโจรใต้เป็นการดำเนินการกันเองของสองฝ่าย ไม่เคยรับฟังความเห็นประชาชนในพื้นที่ที่ต้องการความยุติธรรม แก้ปัญหายาเสพติด ชี้นครรัฐปัตตานีเป็นความต้องการของกลุ่มโจรบีอาร์เอ็นเท่านั้น เรียกร้องฟังเสียงคนในพื้นที่บ้าง ด้าน “มาร์ค” แนะมูลนิธิฯ สรุปแนวทางการใช้กองทุนยุติธรรมดับไฟใต้เสนอรัฐอย่างเป็นระบบ เตือนรัฐบาลหยุดพูดปลายทางถกบีอาร์เอ็น เชื่อแค่ทำหวือหวาสร้างภาพทางการเมืองจนชาวบ้านสับสน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (14 มี.ค.) นายสิทธิพงศ์ จันทร์วิโรจน์ ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม พร้อมคณะเข้าพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านฯ เพื่อนำเสนอรายงานวิจัยเกี่ยวกับการบริหารกองทุนยุติธรรมในการบริการประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจากการวิจัยพบถึงอุปสรรคปัญหาที่งบประมาณไม่เพียงพอ และขาดการประชาสัมพันธ์ทำให้คนเข้าถึงกองทุนน้อย โดยส่วนใหญ่เงินจากกองทุนดังกล่าวจะใช้เพื่อเป็นหลักทรัพย์ประกันตัว ซึ่งบางรายต้องใช้เงินจำนวนมากเนื่องจากมีหลายคดี และที่ผ่านมาการอนุมัติเงินยังเป็นลักษณะปัจเจกบุคคล จึงเสนอว่าควรมีการแก้ไขนโยบายในการมอบเงินให้แก่องค์กรภาคประชาชนที่มีบทบาทในพื้นที่มากขึ้น
ทั้งนี้ ในฐานะที่ดูแลคดีด้านความมั่นคงมาตั้งแต่ปี 2547 ในส่วนของทนายความจะเข้าถึงเงินกองทุนนี้ยาก เพราะต้องมีการลงทะเบียน ขณะเดียวกันหากไปใช้เงินของภาครัฐก็ทำให้ประชาชนไม่ไว้วางใจคิดว่าเป็นทนายของรัฐ
นายสิทธิพงศ์ยังกล่าวถึงกรณีรัฐบาลเจรจากับกลุ่มบีอาร์เอ็นว่า ที่ผ่านมาหลังการเจรจายังเกิดเหตุรุนแรงอยู่ ขณะเดียวกันฝ่ายเจ้าหน้าที่ก็ยังมีปฏิบัติการที่เข้มข้น ดังนั้น หากจะเดินหน้าสู่สันติภาพทั้งสองฝ่ายต้องร่วมกันสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการเจรจาด้วย นอกจากนี้ยังเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการดำเนินการระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มบีอาร์เอ็น แต่ยังไม่มีการรับฟังความเห็นของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ว่าต้องการแนวทางแก้ปัญหาอย่างไร
“จากการลงพื้นที่ยืนยันได้ว่าเรื่องนครรัฐปัตตานีไม่ใช่คำตอบสุดท้ายในการแก้ปัญหา เนื่องจากการสำรวจหลายครั้งพบว่าประชาชนต้องการความเป็นธรรมมาเป็นอันดับหนึ่ง ปัญหายาเสพติดอันดับสอง ตามมาด้วยเรื่องเศรษฐกิจปัญหาปากท้อง ส่วนการปกครองตัวเองอยู่ในอันดับท้าย เพราะประชาชนก็ไม่เข้าใจว่าจะเป็นในรูปแบบใด เพราะการจะจัดรูปแบบการปกครองพิเศษจะต้องคำนึงถึงความหลากหลายของประชาชนในพื้นที่ซึ่งมีทั้งไทยพุทธและมุสลิม จึงต้องมีพื้นที่ให้กับชาวไทยพุทธด้วย”
นายสิทธิพงศ์กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลเข้าใจว่าข้อเสนอเรื่องนครรัฐปัตตานีนั้นเป็นความต้องการของกลุ่มบีอาร์เอ็นเท่านั้น ไม่ใช่ความต้องการของประชาชน จึงอยากให้รัฐบาลรับฟังความเห็นจากประชาชนด้วย ดังนั้นในเดือนนี้ภาคประชาสังคม จะหารือกันระหว่าง 12 องค์กรเพื่อสอบถามความเห็นของประชาชนจะได้สะท้อนไปยังภาครัฐต่อไป
นายอภิสิทธิ์ให้สัมภาษณ์ว่า นายสิทธิพงศ์พร้อมคณะเดินทางเข้าพบเพื่อเสนอการสรุปรายงานของกองทุนยุติธรรม เพื่อให้เห็นว่าควรมีการปรับปรุงการทำงานอย่างไรให้ประชาชนใน 3 จังหวัดได้รับการอำนวยความยุติธรรมได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญเพราะถ้ารัฐบาลเห็นว่าเรื่องความยุติธรรมเป็นหัวใจของการสร้างความสงบสุขก็ควรพิจารณา
ทั้งนี้ ทางมูลนิธิฯ จะมีการสัมมนาในวันที่ 28 มีนาคมนี้ จึงอยากให้รัฐบาลรับฟังและใช้ข้อมูลให้เป็นประโยชน์ด้วย ในส่วนของตนก็มีการแลกเปลี่ยนความเห็นว่า มีบางส่วนต้องมีการปรับปรุงกฎหมายโดยเฉพาะกฎหมายพิเศษ เช่น เขาสนับสนุนเรื่องการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือยกเลิกกฎอัยการศึก มาใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง มาตรา 21 แทน แต่ พ.ร.บ.ความมั่นคง มาตรา 21 ก็ยังมีปัญหาเรื่องการบังคับใช้เกี่ยวกับการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่และเงื่อนไขที่กำหนด จึงอยากให้มีการเสนอรัฐบาลอย่างเป็นระบบเพื่อให้นำไปสู่การแก้ไข
ส่วนที่นายสิทธิพงศ์แสดงความเห็นว่าเรื่องนครรัฐปัตตานีไม่ใช่คำตอบของการแก้ปัญหาเพราะไม่ใช่ความต้องการของประชาชนแต่เป็นความต้องการของกลุ่มบีอาร์เอ็นนั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ประชาชนต้องการความปลอดภัย ความยุติธรรม และที่ทางมูลนิธิทนายความฯ นำเสนอก็มีมุมที่น่าพิจารณาว่าในขณะที่เจ้าหน้าที่และผู้ก่อความไม่สงบปะทะกันสองกลุ่มนี้จะมีแนวคิดแก้ปัญหา แต่กลับกลายเป็นว่าเสียงของคนส่วนใหญ่ไม่ได้รับการสะท้อนเท่าที่ควร ซึ่งในขณะนี้รัฐบาลก็เดินโดยที่แต่ละคนไม่มีความสอดคล้องกัน จึงอยากให้เกิดความเป็นเอกภาพ ถ้าหากยึดการพูดคุยเป็นหลักก็ต้องสร้างเอกภาพในทางปฏิบัติเพื่อรองรับการพูดคุยให้ได้ด้วย
นอกจากนี้ อยากให้รัฐบาลหยุดพูดเรื่องมหานครปัตตานี หันมาตั้งหลักใหม่ในเรื่องการพูดคุยขั้นตอนแรก คือ ทำอย่างไรให้ความรุนแรงในพื้นที่ลดหรือหยุดลง และเริ่มกำหนดกรอบว่าการพูดคุยต่อไปในเรื่องแนวทางแก้ปัญหาระยะกลาง ระยะยาวควรจะอยู่ในประเด็นไหนอย่างไร ยังไม่ควรไปพูดถึงปลายทางใดๆ ทั้งสิ้น เพราะการพูดถึงการเขตปกครองพิเศษว่าให้ประชาชนมีโอกาสปกครองตนเองไม่มีปัญหา แต่คำถามคือว่านครรัฐกับคำว่ากากระจายอำนาจสอดคล้องกันจริงหรือไม่ และอยากถามง่ายๆ ว่า ถ้าตนเป็นคนอยู่เบตงให้ไปขึ้นกับปัตตานีเป็นการกระจายอำนาจหรือไม่
“ผมว่ารัฐบาลไปกังวลในเชิงการเมือง ในเชิงสัญลักษณ์มากเกินไป และมีความรู้สึกว่าต้องนำเสนออะไรที่หวือหวาใหม่ เพื่อแสดงว่ากำลังแก้ปัญหาอยู่ แต่สิ่งสำคัญคือต้องไปฟังความต้องการที่แท้จริงในพื้นที่ก่อน เพราะหากรัฐบาลมุ่งแต่จะสนองความต้องการของกลุ่มบีอาร์เอ็นโดยไม่ฟังความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ก็จะไปสร้างปัญหาใหม่ขึ้นมาอีก ดีที่สุดคือทำไปตามขั้นตอนที่ควรจะเป็นและอย่าพูดอะไรล่วงหน้า”
ผู้สื่อข่าวถามว่า คนที่รับผิดชอบในเรื่องภาคใต้ส่วนใหญ่มีแนวคิดเรื่องนครรัฐปัตตานีทั้งสิ้น รวมถึงพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ที่มีข่าวว่าจะดึงเข้ามาช่วยงานด้วย นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า อยากให้ระมัดระวังเพราะเสียงสะท้อนหลายส่วนที่เข้ามาอาจไม่ใช่คำตอบเลย และการเจรจารอบสองที่ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาฯ สมช.จะเดินทางไปพบกลุ่มบีอาร์เอ็นนั้น อยากให้ย้ำว่าขั้นตอนนี้คือการลดความรุนแรงในพื้นที่ให้เกิดความมั่นใจว่าการเข้าสู่การพูดคุยสามารถนำไปสู่ความสงบสุขได้เป็นจุดเน้น โดยไม่ควรไปไกลมากเกินไป และต้องชี้แจงกับประชาชนเท่าที่จำเป็น อย่าพูดมากจนเกินไป