xs
xsm
sm
md
lg

ผ่าขบวนการ “บีอาร์เอ็นฯ” ผู้ลงนามสันติภาพ “ตัวจริง” หรือ “ตัวปลอม” / ไชยยงค์ มณีพิลึก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์  มณีพิลึก
 
ภาพการลงนามในข้อตกลงพูดคุยสันติภาพระหว่าง พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กับ นายฮัสซัน ตอยิบ รองเลขาธิการขบวนบีอาร์เอ็นโคออดิเนต หรือขบวนการปฏิวัติแห่งชาติปัตตานี โดยมี พล.อ.ตันสรี ดาโต๊ะสรี บิน โมฮำเหม็ด ซิน ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของมาเลเซีย ร่วมเป็นสักขีพยาน
 
ภาพนี้ถูกเผยแพร่ทางสื่อต่างๆ ไปทั่วโลก ถือเป็นภาพประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในการแก้ปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นยาวนานนับกว่า 100 ปีมาแล้ว เพราะครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยได้มีการลงนามกับตัวแทนของขบวนการแบ่งแยกดินแดน เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาความไม่สงบ
 
โดยการเปิดพื้นที่ “พูดคุย” ตามหลักการแสวงหาทางออกของความขัดแย้ง และความเห็นต่างด้วยหลักการ “สันติภาพ” ซึ่งหลายประเทศที่เกิดความขัดแย้ง และมีการพยายามใช้ความรุนแรงเพื่อแบ่งแยกดินแดนได้ทำกัน และหลายประเทศทำสำเร็จมาแล้ว
 
แน่นอนว่า การลงนามเพื่อการเปิดพื้นที่พูดคุยสันติภาพ ระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทย และตัวแทนบีอาร์เอ็นฯ ในครั้งนี้ ถูกจับตามมองจากทุกภาคส่วนของสังคมว่า เป็นการลงนามกับ “ตัวจริง” ของกลุ่มผู้ก่อการร้ายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่ รวมทั้งเป็นเรื่องการสร้างภาพทาง “การเมือง” ระหว่าง พรรคเพื่อไทย และ พรรคอัมโน ที่เป็นพรรครัฐบาลของมาเลเซียหรือไม่
 
รวมทั้งมีคำถามว่า หลังการลงนามแล้วจะมีการพัฒนาการในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร และเหตุการณ์ก่อการร้ายจะยุติลงจริงหรือ?!
 

 
ก่อนอื่นต้องทำความรู้จัดกับขบวนการแบ่งแยกดินแดน บีอาร์เอ็น โคออดิเนต หรือ ขบวนการปฏิวัติแห่งชาติปัตตานี เสียก่อน โดยขบวนการนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2503 มีประธานคนแรกคือ ฮัสยีอับดุลการีม บินฮัสซัน มีวัตถุประสงเพื่อแบ่งแยกดินแดนแล้วก่อตั้งรัฐปัตตานี
 
มีการวางแผนจับตัวผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีในขณะนั้นเป็นตัวประกัน เพื่อต่อรองกับรัฐไทย แต่การปฏิบัติการล้มเหลว จึงถูกทางการกวาดล้างอย่างหนัก จึงมีการหลบหนีของแกนนำ และการจับอาวุธก่อตั้งกองกำลังขึ้นเพื่อก่อการร้าย ซึ่งต่อมาก็คือ ขบวนการบีอาร์เอ็น นั่นเอง
 
จากนั้นไม่นาน ขบวนการบีอาร์เอ็นฯ ได้เกิดความขัดแย้งกันภายในจนแตกเป็น 3 กลุ่มคือ 1. บีอาร์เอ็น โคออดิเนต 2. บีอารเอ็น คองเกรส และ 3. บีอาร์เอ็น อูลามา ซึ่งปัจจุบัน ทั้งบีอาร์เอ็น คองเกรส และบีอาร์เอ็น อูลามา มีแต่การเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่ไม่ได้ดำเนินการทางทหาร
 
จึงมีเพียง “บีอาร์เอ็น โคออดิเนต” ที่เป็นผู้อยู่เบื้องหลังในการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีแผน “บันได 7 ขั้น” เพื่อแบ่งแยกดินแดนของจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
แผนบันได 7 ขั้นเริ่มขึ้นอย่างเต็มรูปแบบในปี 2547 ด้วยการบุกเข้าปล้นปืนของกองพลพัฒนาที่ 4 ค่ายนราธิวาสราชนครินทร์ (ค่ายปิเหล็ง) อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นเหตุการณ์ก่อการร้ายระลอกใหม่ที่ใช้ความรุนแรง และโหดเหี้ยมจนถึงปัจจุบัน โดยมีเจ้าหน้าที่รัฐทั้งทหาร ตำรวจ ครูและอื่นๆ รวมทั้งประชาชนทั่วไปเสียชีวิตไปแล้วกว่า 5,000 คน บาดเจ็บกว่า 10,000 ราย โดยรัฐสูญเสียเงินงบประมาณไปแล้วกว่า 200,000 ล้านบาท
 
แต่ถึงวันนี้ การดำเนินการของรัฐก็ยังไม่สามารถตอบโจทย์ในการดับ “ไฟใต้” ที่เกิดขึ้นได้!!
 
ส่วน “นายฮัสซัน ตอยิบ” หรือ “หะยีฮัสซัน” หรือ “อาแซ เจ๊ะหลง” ผู้ซึ่งเป็นตัวแทนของบีอาร์เอ็นฯ ที่เป็นผู้ลงนามในการเปิดพื้นที่พูดคุยเพื่อสันติภาพกับ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช. ก็ไม่ใช่ผู้นำขบวนการรุ่นใหม่ แต่เป็นคน “รุ่นเก่า” ที่มีชื่ออยู่ใน “สารบบ” ของแกนนำการแบ่งแยกดินแดนมานานแล้ว
 
โดยถือเป็นรุ่นเดียวกับ นายซำซูดิง คาน อดีตผู้นำขบวนการพูโล รุ่นเดียวกับ ดร.วัน สุไลมาน ประธานขบวนการเบอร์ซาตู และแกนนำอื่นๆ อีกมากมายที่เคยมีบทบาทในการกุมสภาพของขบวนการแบ่งแยกดินแดน ซึ่งเคยมีการประเมินว่า มีมากกว่า 7 ขบวนการ ในอดีต ก่อนที่แต่ละขบวนการจะเกิดปัญหาภายใน จนต้องยุติ “บทบาททางทหาร” หรือเพียง “บทบาททางการเมือง
 
เป็นที่รับรู้กันว่า ขบวนการต่างๆ เหล่านี้ ในปัจจุบันยังมีการจัดตั้ง “สำนักงาน” ในประเทศที่สาม เพื่อดำรงไว้ซึ่ง “โครงสร้าง” เพื่อตำแหน่ง และประโยชน์ทางการเมือง!!
 
การลงนามแสวงหาสันติภาพในครั้งนี้ สิ่งที่น่าสนใจคือ นอกจากจะมี นายฮาซัน ตอบิน และพวกอีก 5 คนแล้ว ยังมี “นายสะปอิง บาซอ” อดีตผู้จัดการโรงเรียนธรรมวิทยา “นายมะแซ อุเซ็ง” อดีตอุสตาสโรงเรียนสัมพันธ์วิทยา ซึ่งถูกทางการออกหมายจับในข้อหาเป็น “แกนนำระดับสูง” รวมถึงมีผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็น “แกนนำ” ของกลุ่มผู้ก่อการร้ายใน 3 จังหวัดเข้าร่วมในพิธีอย่างครบถ้วน
 
ที่น่าสังเกตอีกประเด็นคือ มีตัวแทนของ “สตรี” ที่เป็นแกนนำของขบวนการบีอาร์เอ็นฯ ร่วมอยู่ด้วย แสดงให้เห็นว่า ขบวนการบีอาร์เอ็นมี “แนวร่วม” และ “นักรบ” ที่เป็นผู้หญิงอยู่ด้วยจำนวนหนึ่ง!!
 

 
ทว่า สิ่งที่สำคัญกว่าการปรากฏตัวของกลุ่มแกนนำบีอาร์เอ็นฯ คือ การที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงตั้งแต่ ผบ.สูงสุด ลงมาของมาเลเซียเข้าร่วมในพิธีลงนามครั้งนี้ เท่ากับประเทศมาเลเซีย “ยอมรับ” ว่า มีกลุ่มคนที่อยู่ในขบวนการแบ่งแยกดินแดนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยอาศัยอยู่ในประเทศมาเลเซียจริง
 
โดยใช้พื้นที่ของประเทศมาเลเซียเป็นที่วางแผนปฏิบัติการ เป็นที่หลบซ่อนหลังการก่อเหตุร้าย ที่ผ่านมา ประเทศมาเลเซีย “ไม่เคยยอมรับ” ว่ามีกลุ่มคนเหล่านี้อยู่ในประเทศมาเลเซีย
 
การที่ “สื่อ” จำนวนมากได้นำเสนอข่าวที่เกิดขึ้น จะทำให้สังคมโลกรับรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น จะทำให้ “โอไอซี” และ “ยูเอ็น” เห็นภาพของความเป็นจริงที่ชัดเจนขึ้น และเป็นผลทางด้านบวกกับการแก้ปัญหาในเวทีโลกของประเทศไทย?!
 
นอกจากนั้น การลงนามระหว่างตัวแทนขบวนการบีอาร์เอ็นฯ กับตัวแทนรัฐบาลไทยในครั้งนี้ ยังมีข้อดีที่สุดอีกเรื่องหนึ่ง นั่นคือใน “เงื่อนไขของการลงนามมีข้อตกลงที่ชัดเจนว่า การพูดคุยจะอยู่ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญของไทย
 
หมายความว่าจะไม่มีการพูดถึง “การแบ่งแยกดินแดน” ยกมาเป็นประเด็นเจรจาสันติภาพอย่างเด็ดขาด ซึ่งประเด็นนี้คงจะทำให้ทุกฝ่ายที่ห่วงใยสามารถคลายความกังวลลงได้ในระดับหนึ่ง?!
 
อนาคตของจังหวัดชายแดนภาคใต้จะเป็นอย่างไร หลังมีการลงนามเพื่อพูดคุยสันติภาพ นี่คือคำถามที่ติดตามมาทันทีหลังมีการลงนาม เพราะอย่างน้อยก็ยังมีทั้ง “คาร์บอมบ์และ “จักรยานยนต์บอมบ์” รวมถึงการก่อวินาศกรรม และปฏิบัติการป่วนเมืองในลักษณะอื่นๆ เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 
 
อันเป็นการชี้ว่า แม้จะเป็นการลงนาม “ถูกตัว” ก็ไม่ได้หมายความว่าเหตุร้ายรายวันจะยุติในทันที ต้องให้เวลาฝ่ายขบวนการบีอาร์เอ็นฯ ในการดำเนิน “พูดคุยกับกลุ่มติดอาวุธอย่างน้อย 2-3 เดือน
 
อีกทั้งเชื่อกันว่า ถ้าเป็นการลงนามถูกตัวแล้ว แต่เหตุร้ายยังรุนแรงขึ้นในพื้นที่ เพราะจะมีกลุ่ม “สุดโต่ง” ที่ “เห็นต่าง” ที่ต้องการใช้ความรุนแรงเพื่อแบ่งแยกดินแดน คนเหล่านั้นไม่เห็นด้วยกับแนวทางสันติภาพ มีแต่จะต้องดิ้นรนต่อสู้อย่างรุนแรง ซึ่งเป็นสิ่งที่ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” และหน่วยงานพิทักษ์ประชาชนต่างๆ ต้องเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
 
และสุดท้ายถ้า นายฮาซัน ตอยิบ ไม่ใช่ “ตัวจริง” ของกลุ่มก่อการร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีผู้วิเคราะห์ว่าเป็นกลุ่ม “รุนดา กัมปูลัน เกซิล” หรือที่รู้จักในชื่อย่อว่า “อาร์เคเค” ซึ่งเป็นกำลังส่วนหนึ่งที่แยกออกมาจากขบวนการบีอาร์เอ็นฯ และไม่ได้ขึ้นตรงกับบีอาร์เอ็นฯ ที่มี นายฮัสซัน ตอยิบ เป็นผู้นำ
 
สังคมไทยก็คงจะได้เห็นการเคลื่อนไหว และการออกมาปฏิเสธแนวทางสันติภาพให้ได้รับทราบกันอีกครั้งหนึ่ง?!
 
แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม การลงนามระหว่างตัวแทน “รัฐบาลไทย” กับตัวแทน “บีอาร์เอ็นฯ” ในครั้งนี้ นับเป็นการเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีการ “ลองผิด ลองถูก” มาโดยตลอด
 
ถ้าการ “ทดลอง” ในครั้งนี้ยังคง “ล้มเหลว” ก็ไม่มีอะไรเสียหาย แต่ถ้าเป็นการทดลองที่ถูกต้อง นั่นหมายถึงการได้เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์แล้วอย่างแท้จริง
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น