xs
xsm
sm
md
lg

โฆษกสภาที่ปรึกษาไฟใต้เห็นชอบลงนามสันติภาพ เชื่อ ม.21 ดึงแนวร่วมกลับใจพัฒนาท้องถิ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นราธิวาส - โฆษกสภาที่ปรึกษาไฟใต้เห็นชอบการลงนามสันติภาพของรัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็น ระบุรัฐกำลังสร้างกลไกสะท้อนการไม่สร้างเงื่อนไขต่อกัน และสนับสนุนการลดความรุนแรงของทุกฝ่ายเพื่อแสวงหาแนวทางสันติอย่างเป็นเอกภาพ เชื่อมาตรา 21 จะช่วยลดความตึงเครียดในพื้นที่ และดึงแนวร่วมมาพัฒนาท้องถิ่นได้

นายปกรณ์ ปรีชาวุฒิเดช รองประธานหอการค้าจังหวัดนราธิวาส ในฐานะโฆษกสภาที่ปรึกษา การบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า การเปิดเจรจากับฝ่ายที่เห็นต่างจากรัฐ จากกรณีที่ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติได้ลงนามข้อตกลงเจรจากระบวนการเพื่อสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กับสมาชิกขบวนการบีอาร์เอ็น หรือขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี ไม่ใช่เรื่องใหม่ของการแก้ปัญหาสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะที่ผ่านมา ได้มีการคุยถึงแนวทางดังกล่าวในหลายเวทีจนออกมาเป็นนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2555-2557 เนื่องจากตลอดระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลพยายามแก้ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่ยืดเยื้อมากว่า 9 ปี จนเห็นว่าต้องเดินหน้าแก้ปัญหาโดยน้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทาน คือ “เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา” มาเป็นแกนหลัก รวมทั้งป้องกันไม่ให้เกิดเงื่อนไขที่จะหล่อเลี้ยงการใช้ความรุนแรงจากทุกฝ่าย

ดังนั้น สิ่งสำคัญที่จะไปสู่แนวทางการสร้างสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ การสร้างกรอบความไว้วางใจซึ่งกันและกันของทุกฝ่าย โดยประเด็นนี้เป็น 1 ใน 9 ข้อของนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2555-2557 และเห็นว่าแนวทางสำคัญในการแก้ปัญหาคือ นโยบายข้อ 8 ที่หมายถึงความจำเป็นที่ต้องมีการสร้างพื้นที่ เพื่อให้เกิดกลไกพูดคุยสำหรับแสวงหาทางออกที่เหมาะสม โดยมุ่งเน้นที่จะพูดถึงการสร้างสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม และให้หลักประกันการเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา โดยเฉพาะกระบวนการเสริมสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเรื่องหนึ่งที่เริ่มมีการพูดถึงอยู่ในขณะนี้คือ การใช้พระราชบัญญัติความมั่นคงในราชอาณาจักรไทย โดยใช้มาตรา 21 เพื่อเปิดเวทีให้กลุ่มที่ถูกระบุว่าเป็นผู้ที่เข้าร่วมกระบวนการสร้างสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่เข้ามามอบตัว และหาแนวทางในการยุติเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งแนวทางดังกล่าวมั่นใจว่าจะลดความตึงเครียดของความขัดแย้งที่นำไปสู่การก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ได้อย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ นายปกรณ์ยอมรับว่า สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลพยายามสร้างกลไกในการแก้ปัญหา คือ พยายามสะท้อนการไม่สร้างเงื่อนไขต่อกัน การสนับสนุนการลดความรุนแรงของทุกฝ่าย วันนี้ กลไกการเจรจาเพื่อสันติภาพจึงเป็นทางออกหนึ่งที่รัฐบาลตัดสินใจทำ ซึ่งในระยะเวลา 2-3 ปีจากนี้ไป เชื่อว่าเราเห็นกระบวนการเปิดโอกาสให้ผู้หลงผิดร่วมพัฒนาพื้นที่ เห็นกระบวนการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ และวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อแสวงหาแนวทางสันติร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพมากขึ้น ซึ่งผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากแนวทางดังกล่าวก็คือ คนไทยทุกกลุ่มที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น