นายกฯ เผยไทยจับมือกลุ่มบีอาร์เอ็นเซ็นเจตนารมณ์สันติภาพใต้ แค่เริ่มกระบวนการพูดคุย ก่อนเจรจา ยันทำตามกรอบรัฐธรรมนูญ โวบารมี “ทักษิณ” ช่วยล็อบบี้ให้ อ้างเป็นคนไทย อยากให้บ้านเมืองสงบ ด้าน รมว.กลาโหม ชี้แค่วิธีใหม่ หากไม่ได้ผลก็โละทิ้งได้
วันนี้ (28 ก.พ.) เมื่อเวลา 18.15 น.ตามเวลาท้องถิ่น ที่โรงแรมแมริออท ปุตราจายา ประเทศมาเลเซีย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้แถลงถึงผลสำเร็จในการมาเยือนประเทศมาเลเซีย และยังได้แสดงความมั่นใจในความร่วมมือของมาเลเซีย ต่อการแก้ปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่ากระบวนการที่เกิดขึ้นที่มาเลเซียครั้งนี้เป็นเจตนารมณ์ร่วมกันที่ต้องการสร้างสันติสุขในพื้นที่ และมาเลเซียได้แสดงเจตนารมณ์ที่ไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรง และไม่สนับสนุนการแบ่งแยกดินแดน รวมถึงไม่ยินยอมให้ผู้ก่อความไม่สงบมาใช้พื้นที่ของมาเลเซียในการเคลื่อนไหวเพื่อก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย
“สิ่งที่มั่นใจคือเจตนารมณ์ร่วมกันที่อยากเห็นสันติภาพเกิดขึ้น โดยเริ่มจากการเจรจาและพูดคุย จากนั้นจึงมาพิจารณาถึงขั้นตอนการดำเนินการ รวมทั้งการน้อมนำกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เข้าใจ-เข้าถึง-พัฒนา มาใช้” น.ส.ยิ่งลักษณ์ ระบุ
นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ส่วนการที่นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ระบุว่าการพูดคุยกันระหว่างเจ้าหน้าที่ของไทยกับตัวแทนกลุ่มบีอาร์เอ็นเกิดขึ้นได้ มาจากการสนับสนุนส่วนหนึ่งของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีนั้น ต้องยืนยันว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ก็เป็นคนไทยคนหนึ่ง ที่อยากเห็นบ้านเกิดเมืองนอนมีความสงบสุข ซึ่งก็หมือนกับทุกๆ คน จึงไม่อยากให้มองเจตนารมณ์ผิดเพี้ยนไป เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นวาระของชาติที่ทุกคนต้องช่วยแก้ปัญหา และอย่ามองเป็นเรื่องการเมือง เราพร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็นของทุกคน
น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวต่อว่า วันนี้ถือเป็นเพียงการเริ่มกระบวนการพูดคุย ยังไม่เข้าสู่การเจรจาอะไร และไม่ได้พูดคุยเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น แต่เราต้องการพูดคุยกับทุกกลุ่มทุกคน ต้องมีการศึกษาก่อน จากนั้นจึงไปสู่ขั้นตอนการเจรจา ซึ่งทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ ส่วนที่มีบางฝ่ายเกรงว่าจะเป็นการยกระดับให้กลุ่มก่อความไม่สงบ กลายเป็นปัญหาระดับชาตินั้น ขอยืนยันว่าครั้งนี่เป็นการพูดคุยเท่านั้น และขอขอบคุณทุกฝ่ายที่เป็นห่วง ส่วนจะลดความรุนแรงในพื้นที่ได้หรือไม่นั้น คงต้องบอกว่าเราเห็นิศทางการแก้ปัญหาที่ดีขึ้น และถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี
ด้าน พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม กล่าวว่า การพูดคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็นครั้งนี้ต้องถือว่าเป็นจุดเริ่มต้น และถือเป็นการริเริ่มวิธีการใหม่ รวมถึงกลุ่มอื่นๆ จะทยอยมาพูดคุยด้วย ทั้งนี้ กลุ่มบีอาร์เอ็นเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุด ส่วนจะได้ผลมากน้อยแค่ไหนนั้น ก็ต้องรอดู หากไม่ถูกทางก็สามารถปรับเปลี่ยนวิธีการได้
จากนั้น ตัวแทนผู้ประกอบการร้านต้มยำกุ้งในมาเลเซีย ได้เข้าพบนายกรัฐมนตรี โดยขอให้นายกรัฐมนตรีดูแลเรื่องการส่งคนไทยใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้มาทำงานที่ร้านดังกล่าวโดยขอให้มีการลดขั้นตอนการตรวจสอบคนไทยที่จะมาทำงานในมาเลเซีย และขอให้ตั้งกองทุนเพื่อเป็นประโยชน์ให้กับสมาชิกผู้ประกอบการร้านต้มยำกุ้ง นายกฯ กล่าวว่า เพิ่งทราบว่าร้านต้มยำกุ้งมีถึง 7,000 ร้านในมาเลเซีย ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี ทำให้เห็นว่าคนไทยสามารถขยายกิจการในต่างประเทศได้
ส่วนเรื่องของการลดขั้นตอนดังกล่าว ตนได้เจรจากับนายกรัฐมนตรีของมาเลเซียแล้ว ซึ่งเราจะติดตามและดำเนินการเรื่องนี้ให้อย่างจริงจัง สำหรับการขอให้ตั้งกองทุนนั้น ก็มีกระทรวงที่เกี่ยวข้องมีกองทุนที่สามารถให้การสนับสนุน และให้กระทรวงมหาดไทยติดตามเรื่องนี้ ขณะเดียวกัน ตนอยากขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการร้านต้มยำกุ้งในการช่วยจัดตั้งศูนย์จำหน่ายสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (โอทอป) ในมาเลเซียด้วย