ผ่าประเด็นร้อน
จะว่าสื่อสารกันผิดก็ไม่น่าเป็นไปได้สำหรับคำพูดของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการหน่วยงานด้านยุทธศาสตร์แก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ชื่อยาวเหยียดน่าเวียนหัว อย่างศูนย์ปฏิบัติการคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.กปต.) ที่เพิ่งเปิดเผยเมื่อวานนี้ (18 กุมภาพันธ์) หลังร่วมประชุมหน่วยงานความมั่นคงที่มี นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นประธานว่า เขาถูกนายกฯ “บังคับ” ให้ลงพื้นที่เพื่อดูแลสถานการณ์ ซึ่งในการให้สัมภาษณ์กับนักข่าวดังกล่าวเขาก็บอกว่าจะลงไปหลังจากเสร็จสิ้นการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเสียก่อน นั่นคือต้องรอไปจนถึงเดือนมีนาคม
น่าสังเกตก็คือ ในการให้สัมภาษณ์ของ ร.ต.อ.เฉลิม นอกจากใช้คำว่าบังคับ หรือไม่ก็ “กำชับ” ให้ลงไปในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งทั้งสองคำดังกล่าวความหมายก็ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก เพราะสื่อออกมาในลักษณะการสั่งการ “บีบบังคับ” ให้ต้องทำอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยในที่นี้ก็คือเร่งรัดให้ลงไปนั่นเอง
แน่นอนว่าสถานการณ์ชายแดนใต้เวลานี้อยู่ในขั้นเลวร้าย ยังไม่มีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน ศักยภาพของคนร้ายนับวันมีมากขึ้น ล่าสุดเพิ่งก่อเหตุกลางเมืองปัตตานีในเวลาไล่เลี่ยกันนับสิบจุด มีคนเสียชีวิตและบาดเจ็บ และนั่นยังไม่นับความเสียหายทางเศรษฐกิจและเสียความเชื่อมั่นตามมา ซึ่งปัญหาความรุนแรงที่บานปลายดังกล่าว รัฐบาลก็ไม่มีทางปฏิเสธความรับผิดชอบไปได้ แต่อย่างไรก็ตาม ในเมื่ออาสาเข้ามาแล้วก็ต้องมีความตั้งใจในการแก้ไขปัญหา สร้างขวัญและกำลังใจให้กับคนในพื้นที่
แม้ว่าจะว่าไปแล้วสถานการณ์ที่เลวร้ายอย่างที่เป็นอยู่มีสาเหตุมาจากการเพาะเชื้อไฟให้ลุกโชนมาตั้งแต่ยุคของ ทักษิณ ชินวัตร พี่ชาย นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ใช้นโยบาย “รัฐตำรวจ” อุ้มฆ่านั่นเอง
แต่ขณะเดียวกัน ในตอนนี้สำหรับ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เมื่อได้รับแต่งตั้งจากนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ให้ดูแลงานด้านยุทธศาสตร์แก้ปัญหาชายแดนใต้ ก็ออกอาการอิดออดไม่เต็มใจ และผ่านมาหลายเดือนเขาก็ไม่เคยเหยียบพื้นที่เลยแม้แต่ครั้งเดียว แต่กลับเดินทางไปมาเลเซียอ้างไปเจรจาเพื่อแก้ปัญหา พร้อมกับภาพที่เห็นเหมือนกับอยู่ในสภาพที่เขา “เมาไวน์” โดยอ้างว่าเขาเป็นไทยพุทธ สามารถดื่มเหล้าได้อะไรประมาณนั้น
ทั้งที่จะว่าไปแล้วการเดินทางลงพื้นที่ชายแดนใต้ของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง หากจะลงไปจริงๆก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องนั่งรถไฟชั้น 3 ไปแบบโดดเดี่ยว ตรงกันข้ามย่อมต้องเกิดความวุ่นวาย เนื่องจากต้องใช้กำลังตำรวจและทหารอารักขากันเต็มพิกัด แต่ปริศนาก็คือทำไมถึง “ยังไม่กล้า” ลงไปสักที เพราะจะว่าไปแล้วทุกคนก็ย่อมรู้ดีว่าแม้เขาจะลงไปการแก้ปัญหาก็ไม่ได้ดีขึ้น แต่ในฐานะที่รับผิดชอบงานด้านยุทธศาสตร์ทำไมถึงไม่ยอมลงไป มีปัญหาอะไรที่ซ่อนอยู่ กันแน่ หรือว่าไม่มีอะไรซับซ้อน เพียงแค่ตัวเขา “ขี้ขลาดตาขาว” เท่านั้น และรู้ดีว่าในพื้นที่ดังกล่าวเป็น “เขตทหาร” ที่ปิดกั้นไม่ให้เขาแสดงอาการ “แอ็กต์อาร์ต” ได้ตามปกติหรือเปล่า
อย่างไรก็ดี ไม่ว่าสาเหตุที่แท้จริงเป็นอย่างไร ในฐานะที่เป็นรัฐมนตรีดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งก็เหมือนกับงานด้านความมั่นคงกลายๆ อยู่ก่อนแล้ว และเมื่อได้รับแต่งตั้งเพิ่มเติมให้ดูแลงานด้านยุทธศาสตร์แก้ปัญหาชายแดนใต้ก็น่าจะเกี่ยวเนื่องกัน ก็น่าจะทำให้การแก้ปัญหาเดินหน้าได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่การที่บอกว่าถึงขั้น “ต้องบังคับ ให้ลงพื้นที่มันก็เกินไปหน่อย ขณะเดียวกัน ถ้าไม่เต็มใจก็ให้ลาออกไป หรือไม่ก็นายกรัฐมนตรีก็ต้องปลดรองนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ เฉลิม อยู่บำรุง โดยเร็วที่สุด เพราะถือว่าไร้ประโยชน์ อีกทั้งการไม่ยอมลงพื้นที่ยังเป็นท่าทีที่เป็นเสมือนการดูถูกเหยียดหยามคนที่นั่นอีกด้วย
เพราะปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นถือว่าเป็นเรื่องอัปยศ เป็นครั้งแรกที่รัฐมนตรีในรัฐบาลไม่ยอมปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มที่ ต้องการทำหน้าที่ในสิ่งที่ตัวเองคิดว่าถนัดและชอบเท่านั้น ทั้งที่ตำแหน่งดังกล่าวถือว่าเป็นรัฐมนตรีที่ต้องมีหน้าที่ดูแลปัญหาทุกข์สุขของชาวบ้านทั่วไปเสมอหน้ากัน
ขณะเดียวกัน เพื่อความเป็นธรรมกับ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ด้วยว่าหากข้อสงสัยดังกล่าวไม่เป็นความจริง เขาก็ต้องกล้าเปิดเผยออกมาให้รับรู้กันด้วย แต่เท่าที่ติดตามความเคลื่อนไหวและนิสัยของเขามานานมันน่าจะมีสาเหตุเดียวคือ “ขี้ขลาด” และไม่เจ๋งจริงเท่านั้นเอง สมควรต้องปลดทิ้งสถานเดียว!!