กมธ.ทหาร ร่วมอนุฯ แก้ไฟใต้จัดถกเหตุเลขาฯ สมช.ลงนามบีอาร์เอ็น ปธ.กมธ.ยก ไฟใต้เบาลง เลขาฯ สมช.อ้างคุยยังไม่เจรจา รอเกิดความไว้วางใจ เปรียบมาเลย์เป็นเสมียนคอยหาพื้นที่ถก ชี้เพื่อนบ้านเปิดตัวส่งสัญญาณโจรใต้ไม่เอาด้วยและทำเพื่อประโยชน์ AEC ผอ.สันติวิธีฯ ย้ำตัวจริงคุย สมช.ยก “อาเจะห์” หนักกว่า 5 เท่า เผยร่วม ศอ.บต.เปิดเสวนากว่า 200 เวที วอนสื่อทำความเข้าใจคนนอกพื้นที่ แนะถกลับก่อนเผย ชี้เชื่อใจคนกลางไม่จำเป็น ยกเป็นทางออกสุดท้าย
วันนี้ (7 มี.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 7 ม.ค. ที่อาคารรัฐสภา 2 ห้องประชุม 220 คณะกรรมาธิการทหาร (กมธ.) และคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาการก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณากรณีที่เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กับตัวแทนขบวนการบีอาร์เอ็นลงนามประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันว่าจะเข้าร่วมพูดคุยสันติภาพเพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มี พล.อ.สมชาย วิษณุวงศ์ ส.ส.กาญจนบุรี พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานฯ โดยเชิญฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมชี้แจง เช่น พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช. พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธี และธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้าฯ เป็นต้น
พล.อ.สมชายกล่าวเปิดการประชุมว่า การกำหนดนโยบายของรัฐในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ถือว่ามีความก้าวหน้ามากขึ้น จึงเชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมแสดความคิดเห็นการดำเนินงานทั้งในระยะสั้น ระยะยาว โดยหวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ปฏิบัติต่อไป
ส่วน พล.ท.ภราดรกล่าวว่า การทำงานของตนเป็นการเปิดหน้าเพื่อที่จะให้มีการพูดคุยระหว่างกัน ยังไม่มีการเจรจา หรือต่อรองกันใดๆ ทั้งสิ้น โดยนับตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค.เป็นต้นไปก็จะเป็นอีกคณะบุคคลหนึ่งที่จะต้องไปเจรจาอย่างต่อเนื่อง โดยจะมีตัวหลักบางคน และเปลี่ยนบางตัวบุคคลไปเรื่อยๆ เพื่อให้สอดคล้องต่อเรื่องที่จะหารือ ซึ่งจะเริ่มตกผลึกมากขึ้น เรียกว่าการพัฒนาความสัมพันธ์เพื่อให้เกิดความไว้วางใจ เพราะเมื่อลงตัวก็จะนำไปสู่กระบวนการต่อไป โดยเป็นไปภายใต้รัฐธรรมนูญไทย ไม่ต้องกังวล เพราะมาเลเซียเป็นเสมือนฝ่ายเสมียนจัดหาพื้นที่ให้มีการเจรจา เนื่องด้วยมาเลเซียมีพื้นที่ติดต่อกับไทย และกลุ่มผู้ก่อการฯ ก็เชื่อเรื่องความปลอดภัย
“การบังคับสภาพวิถีโดยมาเลเซียจะจำกัดพื้นที่การเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ก่อการฯ เอง เหตุหนึ่งที่มาเลเซียเปิดตัวอย่างชัดเจนเป็นการส่งสัญญาณบอกกลุ่มก่อความไม่สงบว่า หากต่อไปนี้คุณทำอะไรมาและจะหลบมาอยู่ในมาเลเซียนั้นไม่ได้อีกต่อไป และผู้ที่ต่อสู้กับเราเขาก็สู้มานานและก็เริ่มเห็นสัญญาณเหมือนกันแล้วว่าเขาจะหันไปทางไหนต่อ และก็จะส่งสัญญาณไปยังกลุ่มใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นว่ามันกำลังจะไม่ที่ไปแล้ว ซึ่งสภาวะแวดล้อมนี้มาเลเซียก็มีความจำเป็นจะต้องเร่งทำเพื่อรองรับต่อการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เพราะหากมีความขัดแย้งตามแนวชายแดนความร่วมมือก็จะไม่แข็งแรง มาเลเซียจึงไม่พึงประสงค์จะให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว” พล.ท.ภราดรกล่าว
ด้าน พล.อ.เอกชัยกล่าวว่า ขอยืนยันว่าคนที่มาลงนามร่วมกับเลขาฯ สมช.คือตัวจริงที่อยู่ในระดับฝ่ายเสนาธิการ คอยกำหนดยุทธการและวางแผน ซึ่งการลงนามความร่วมมือครั้งนี้ถือว่าเป็นจุดเปิดที่ดี แต่ต้องมีความระมัดวังมากขึ้น เพราะจากเดิมมีกลุ่มผู้ก่อการฯทั้งหมด 12 กลุ่ม ปัจจุบันเหลือประมาณ 5-9 กลุ่ม เนื่องจากมีการรวมตัวกันระหว่างกลุ่มที่แนวคิดคล้ายคลึงกัน ซึ่งการแก้ปัญหาของเรานับว่ายากกว่ากรณีของอาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย 5 เท่า เนื่องจากอาเจะห์มีโครงสร้างของกลุ่มผู้ก่อการอย่างชัดเจน แต่ของเราไม่ใช่ เพราะการเจรจาอาจจะทำให้กลุ่มหนึ่งอาจพอใจ แต่อีกกลุ่มอาจไม่ เราจึงต้องหาจุดสนใจของแต่ละกลุ่มเหมือนกัน และพิจารณาเป็นเรื่องๆไป ไม่จำเป็นต้องทำทีเดียวเบ็ดเสร็จ
พล.อ.เอกชัยกล่าวต่อว่า การทำความเข้าใจประชาชนในพื้นที่ที่แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 1. ประชาชนที่เห็นด้วยกับผู้ก่อการร้าย 2. ประชาชนที่อยากอยู่ในประเทศไทย แต่ไม่ชอบรัฐ 3. ประชาชนที่รู้สึกเฉยๆ ซึ่งที่ผ่านมาเราเปิดพื้นที่เสวนามาแล้ว 3 ปี รวมกว่า 200 เวที ประกอบกับ ศอ.บต.ที่ได้ทำความเข้าใจกับประชาชน ผู้นำศาสนา หรือการเปิดทีวีช่องภาษามลายู จึงทำให้พื้นที่ได้เปิดพอสมควรแล้ว นอกจากนี้ การทำความเข้าใจต่อคนนอกพื้นที่กว่า 65 ล้านคนที่ยังไม่มีความเข้าใจ และมักด่าว่าผู้คนที่อยู่ในพื้นที่ก็เป็นสิ่งสำคัญ หวังว่าสื่อมวลชนจะช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ได้
“การจัดการความขัดแย้งของต่างประเทศจะไม่ทำเหมือนที่เราเคยจัดให้มาพูดคุยกันที่สถาบันพระปกเกล้าแล้วถ่ายทอดสด ที่นับเป็นความล้มเหลวมาก โดยการตกลงจะต้องมีการพูดแบบลับก่อนจนจะตกลงกันได้แล้วค่อยนำมาเปิดเผย ส่วนมาเลเซียก็ทำหน้าที่ในฐานะผู้อำนวยการประชุม ไม่ได้เป็นตัวกลางประสานการเจรจา ซึ่งก็ยังไม่จำเป็นเพราะถ้าหากเราคุยกับฝ่ายผู้ก่อการฯ รู้เรื่องทำให้เชื่อใจก็ไม่จำเป็น แต่เมื่อไหร่ที่มันไม่ลงตัวอาจจะต้องมีตัวกลางมาประสานหรือไม่ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นชาติต่างประเทศ และถ้าหากถามผมว่าจะให้ต่างชาติเข้ามาร่วมคิดร่วมตัดสินใจ นี่จะต้องเป็นทางออกสุดท้ายที่จะทำ เพราะสังคมไทยมักไม่ค่อยยอมรับต่างประเทศ และสุดท้ายการทำงานต่างๆ ต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญของไทย” พล.อ.เอกชัยกล่าว