เลขาฯ สมช.เผยเมื่อวานนำเลขา ศอ.บต.พร้อมรองปลัด กห.และ ผบช.สันติบาล บุกมาเลย์ คุยบีอาร์เอ็นรอบสอง เห็นพ้องให้อดีต ผอ.ข่าวกรองมาเลย์ประสาน กำหนด 28 มี.ค.คุยอีกครั้ง บีอาร์เอ็นรับปากเชิญกลุ่มผู้ก่อเหตุร่วมเจรจา ยกร่างกรอบคุยสันติภาพ รับยังไร้ข้อสรุป
วันนี้ (6 มี.ค.) พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 5 มี.ค.ที่ผ่านมา ตนพร้อมด้วย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก รองปลัดกระทรวงกลาโหม และ พล.ต.ท.สฤษดิ์ชัย เอนกเวียง ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล ได้เดินทางไปยังประเทศมาเลเซียเพื่อพูดคุยกับแกนนำกลุ่มบีอาร์เอ็นเป็นครั้งที่สอง โดยมีฝ่ายความมั่นคงประเทศมาเลเซียอำนวยความสะดวก ซึ่งทางประเทศมาเลเซีย ได้เสนอ นายดาโต๊ะ ซัมนามีน อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ มาเป็นผู้อำนวยความสะดวก โดยฝ่ายตนกับกลุ่มบีอาร์เอ็นได้มาตกลงยอมรับเห็นพ้องว่า จะให้นายดาโต๊ะ เป็นตัวประสาน ซึ่งเราก็ได้ตอบตกลงกับประเทศมาเลเซียไปแล้ว หลังจากนั้นได้มีการพูดคุยถึงกรอบการทำงานร่วมกันต่อไปในอนาคต
“ทางฝ่ายเรา และกลุ่มบีอาร์เอ็น ได้กำหนดไว้ว่าวันที่ 28 มี.ค.นี้ จะมีการพบปะพูดคุยกันอีกครั้ง โดยทางกลุ่มบีอาร์เอ็น จะไปปรับ และไปสื่อสารเพื่อเชิญกลุ่มอื่นๆ ให้เข้ามาร่วมในการดำเนินการครั้งนี้ ส่วนของเราจะกลับมาออกแบบเพื่อที่จะเตรียมบุคลากร เพื่อพูดคุยในครั้งต่อไป ประเด็นจะมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น จึงได้เน้นภาคประชาสังคม และภาคประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้ามามีส่วนร่วม รวมถึงภาควิชาการ เพราะเห็นว่าประเด็นเหล่านี้จะได้มีการตกผลึก โดยเฉพาะบุคคลที่เชิญมาส่วนใหญ่จะเป็นคนในพื้นที่มาร่วมกันหารือเพราะจะได้ตรงกับความประสงค์ในการพูดคุยกันถึงทางออกว่าควรจะออกมาเป็นในลักษณะใด” พล.ท.ภราดร ระบุ
พล.ท.ภราดร กล่าวอีกว่า ประเด็นสำคัญในการพูดคุย คือการกำหนดรูปแบบการพูดคุยสันติภาพ พร้อมกับการยกร่างกรอบการพูดคุย หรือทีโออาร์ ซึ่งคณะกรรมการที่จะร่วมดำเนินการประกอบด้วยผู้แทนจากกระทรวงกลาโหม กระทรวงยุติธรรม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) สถาบันการศึกษาพระปกเกล้า รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ที่จะเกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ภาคใต้จะเข้าร่วมด้วย โดยจะเน้นคนในพื้นที่สถาบันการศึกษาเป็นหลัก ส่วนจะมีคณะทำงานในเรื่องนี้กี่กลุ่มคงจะต้องหารือกันอีกครั้ง เพราะจะต้องมีการแตกกลุ่มย่อยเพื่อเข้าไปรับผิดชอบการทำงาน
พล.ท.ภราดร กล่าวว่า กลุ่มอาร์บีเอ็น รับปากว่าจะไปเชิญกลุ่มต่างๆ ที่ก่อเหตุในพื้นที่เข้ามาร่วมกัน แต่ยังไม่ทราบว่าจะมีกี่กลุ่ม ดังนั้นต้องรอความชัดเจนอีกครั้งในวันที่ 28 มี.ค.นี้ แต่สำหรับประเด็นที่จะยกขึ้นมาพูดคุยกันคือการลดเหตุความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ขณะนี้ยังไม่ได้เกิดการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้นต้องรอการพูดคุยกันในรายละเอียดอีกครั้ง โดยการพูดคุยกันในวันนั้นจะมีตัวแทนของกลุ่มบีอาร์เอ็น รวมถึงนายฮัสซัน ตอยิบ มาร่วมด้วย แต่สำหรับฝ่ายตนจะมีตนเป็นหัวหน้าคณะกลุ่มตามเดิมยืนพื้น 4 คนเดิม