xs
xsm
sm
md
lg

“ประยุทธ์” เผยโผทหารเสร็จวันนี้ แย้ม “กิตติ” มทภ.4-ยินดี ”สะแปอิง-มะแซ” ถกดับไฟใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ภาพจากแฟ้ม)
ผบ.ทบ.เผยโผทหารเสร็จแล้ว ไม่ปรับแก้ แย้มสเปก มทภ.4 เป็นคนในพื้นที่ใต้ พบ “กิตติ” รองแม่ทัพจ่อขึ้นแทน “อุดมชัย” ส่วน “ปรีชา” น้องชาย “ประยุทธ์” นั่งแม่ทัพ 3 คุมเหนือ อีกด้านเผยยินดี “สะแปอิง-มะแซ” ถก สมช.ดับไฟใต้ ยันรัฐไม่ขัดแย้งกันเอง เตือนระวังต่างชาติจุ้น เผยเตรียมแผนรับมือเปลี่ยนใช้ พ.ร.บ.มั่นคงแทน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

วันนี้ (6 มี.ค.) ที่หน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศ กองทัพบก (นปอ.) เมื่อเวลา 09.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมคณะกรรมการพิจารณาปรับย้ายนายทหารชั้นนายพลกลางปี 2556 เมื่อวันที่ 5 มี.ค.ที่ผ่านมาที่มี พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหมเป็นประธานการประชุมว่า เป็นการประชุมหารือร่วมกันในทุกเหล่าทัพ และคณะกรรมการทั้งหมดได้เข้าประชุมร่วมกันครบทุกคน โดยทั้งหมดเป็นไปตามที่เหล่าทัพเสนอขึ้นมา และ รมว.กลาโหมจะดูภาพรวมในฐานะที่เป็นคณะกรรมการ ทั้งนี้ ผบ.เหล่าทัพได้ชี้แจงเหตุผลและหลักการในการปรับย้ายทั้งหมด ซึ่งเป็นไปได้ด้วยดี ไม่มีข้อขัดแย้งใดๆ ทั้งสิ้น ขอให้รอดูว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร ตนไม่ต้องการให้ทุกคนมาให้ความสำคัญในเรื่องนี้มากนัก เพราะเป็นเรื่องภายในของเหล่าทัพทหาร ดังนั้นไม่ว่าใครจะเป็นอะไรก็ตาม เขาจะต้องปฏิบัติหน้าที่ตามกรอบวินัยของกองทัพ โดยจะดำเนินการอย่างอื่นที่ฝ่าฝืนกฎหมายไม่ได้

“ในวันนี้ทุกเหล่าทัพจะส่งบัญชีรายชื่อปรับย้ายนายทหารกลางปีให้กับ รมว.กลาโหม โดยในส่วนของกองทัพบก บัญชีโยกย้ายได้ดำเนินการเสร็จมาก่อนหน้านี้แล้ว และไม่มีการปรับแก้ไขแต่อย่างใด เพราะทุกอย่างดำเนินการตามขั้นตอน ส่วนบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4 แทน พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 ที่จะเกษียณอายุราชการในปีนี้นั้น ขณะนี้ได้มีการพิจารณาเรียบร้อยแล้ว โดยดูจากคุณสมบัติและการทำหน้าที่ คนที่จะมาดำรงตำแหน่งนี้ต้องเป็นคนเก่าที่อยู่ในพื้นที่ ไม่ใช่คนใหม่ที่มาจากที่อื่น เพราะต้องเป็นคนที่เคยทำงานในพื้นที่ภาคใต้ เนื่องจากจะต้องมีการสานต่องาน รวมถึงเรื่องของความอาวุโสด้วย” ผบ.ทบ.กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม ได้หารือเกี่ยวกับการจัดทำบัญชีรายชื่อโกยย้ายนายทหารกลางปี ร่วมกับ ผบ.เหล่าทัพเมื่อวันที่ 5 มี.ค.ที่ผ่านมา ทาง รมว.กลาโหมได้ให้ ผบ.เหล่าทัพกลับไปจัดทำบัญชีรายชื่ออีกครั้ง โดยการปรับย้ายในครั้งนี้ไม่มีการปรับย้ายตำแหน่งงมากนัก ซึ่งบัญชีรายชื่อโยกย้ายกลางปีจะมีทั้งหมด 79 อัตรา โดยในส่วนของกองทัพบกมีการปรับย้าย 35 อัตรา โดยเบื้องต้น ผบ.ทบ.ได้ปรับย้ายในส่วนของตำแหน่งของ พล.ท.ชาญชัยณรงค์ ธนารุณ แม่ทัพภาคที่ 3 ที่จะเกษียณอายุราชการในปลายเดือน ก.ย.นี้ ให้มาดำรงตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก ในอัตราพลเอก โดยขยับ พล.ท.ปรีชา จันทร์โอชา (ตท.15) แม่ทัพน้อยที่ 3 ซึ่งเป็นน้องชายของ พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นมาดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 3 ส่วน พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 จะถูกขยับเข้ามากินอัตราพลเอกก่อนที่จะเกษียณอายุราชการในปลายปีนี้ในตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ โดย พล.ท.อุดมชัย ได้เสนอชื่อ พล.ท.กิตติ อินทรสร (ตท.14) รองแม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งถือเป็นนายทหารที่อยู่ในพื้นที่ภาคใต้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทน ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนแต่อย่างใด

นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ยังมีความต้องการปรับเปลี่ยนในตำแหน่งของ พล.ต.สุรศักดิ์ บุญศิริ ผุ้บัญชาการกองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ (ผบ.พล.ม.2 รอ.) และพล.ต.ศักดา สารีพันธ์ ผู้บัญชาการกองพลทหารปืนใหญ่ (ผบ.พล.ป.) ขยับขึ้นมากินอัตราพลโทในตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบกก่อนจะเกษียณอายุราชการ แต่เนื่องจากติดขัดเรื่องอัตรา เพราะการปรับย้ายในส่วนของกองทัพบกครั้งมีพลเอก 4 ตำแหน่ง พลโท 3 ตำแหน่ง และพลตรีมีเพียง 11 ตำแหน่ง ซึ่งหากมีการปรับเปลี่ยนจะมีผลกระทบจึงทำให้ไม่สามารถขยับตำแหน่งได้ อย่างไรก็ตาม การพิจารณาบัญชีปรับย้ายยังไม่ถือเป็นที่สิ้นสุด โดย พล.อ.อ.สุกำพล จะเชิญ ผบ.เหล่าทัพมาพูดคุยหารือข้อสรุปอีกครั้งในวันที่ 9 มี.ค.นี้

อีกด้านหนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ยังให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่จะมีการหารือร่วมกับกลุ่มบีอาร์เอ็นรอบ 2 ว่า เรื่องนี้ต้องถาม พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เพราะสมช. และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต) ทำหน้าที่ในการแสวงหากลุ่มที่มีความขัดแย้ง ส่วนกรณีที่นายสะแปอิง บาซอ และนายมะแซ อุเซ็ง แกนนำกลุ่มบีอาร์เอ็นจะร่วมพูดคุยด้วยนั้น ถ้ามาได้ก็มาไม่มีปัญหาอะไร ขอให้เข้ามาหารือกัน ตนในฐานะที่เป็นรองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) จะติดตามสถานการณ์และให้ข้อเสนอแนะต่างๆว่า ต้องระมัดระวังอะไรบ้าง ซึ่งเท่าที่ทราบทั้ง 2 คนพยายามเข้ามาช่วยและเข้ามามีส่วนร่วม แต่ครั้งที่แล้วแจ้งมาว่าไม่สบาย ถ้าครั้งนี้หายดีเขาคงมา ทั้งนี้อาจจะต้องกำหนดระยะเวลาว่าจะใช้เวลาเท่าใด และพื้นที่ไหนที่ควรยุติความรุนแรงให้ได้ หากยังยุติความรุนแรงไม่ได้ เขาจะไปพุดคุยกับผู้ปฎิบัติให้มากขึ้น เนื่องจากมีหลายกลุ่ม ทุกคนต้องเข้าใจว่าเราพยายามรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก

“แนวทางทุกอย่างคณะทำงานได้กำหนดไว้แล้วว่า ต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป ทั้งนี้คงเป็นเรื่องการกำหนดกรอบการพูดคุยโดยผ่านตัวแทน แต่อย่าใช้คำว่าเจรจา ขณะนี้เข้าใจว่ากลุ่มที่เข้ามาพูดคุย คือ ตัวแทนที่จะไปพูดคุยกับคนที่สร้างความรุนแรง ต้องดูผลว่าสำเร็จหรือไม่ ถ้าไม่สำเร็จก็ไปหาวิธีอื่น อย่างไรก็ตามเรามีวิธีการหลักคือการบังคับใช้กฎหมาย การดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม การสร้างความเข้าใจ การพัฒนา รวมถึงการแสวงหาทางออกท่ามกลางความขัดแย้ง ปัจจุบันการสื่อสารที่ไร้พรมแดน การที่เราพูดอะไรไปในบางครั้งนั้นมันไปทั่วโลก ต้องระมัดระวังไม่ให้คนอื่นเข้ามาวุ่นวายในประเทศของเรา และสื่อต้องระวังการนำเสนอข่าว เพราะหากเขาเห็นว่าเราแก้ไขปัญหาไม่ได้ เขาจะเข้ามาช่วย ทุกวันนี้ผมมองว่า เป็นการแก้ไขปัญหาภายในอยู่ การมีความร่วมมือกับต่างประเทศถือเป็นสิ่งที่ดี สิ่งที่เราได้จากประเทศเพื่อนบ้าน คือ การไม่ให้เป็นแหล่งซ่อนตัวของผู้ก่อเหตุ ไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรงและการไม่แบ่งแยกดินแดน” ผบ.ทบ.กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เราพยายามสร้างความเข้าใจ อย่าบอกว่าอะไรถูกหรือผิด ซ้ายหรือขวา แต่ต้องใช้หลักการ พร้อมทั้งเสนอแนะข้อสังเกตและข้อพิจารณา ทั้งนี้การตัดสินใจไม่ได้ขึ้นอยู่กับตนเพียงคนเดียว ต้องมองว่าประเทศชาติอยู่ด้วยระบบบริหารราชการแผ่นดิน เราขัดแย้งกันเองไม่ได้อยู่แล้ว โดยเฉพาะเรื่องที่มีผลกระทบต่อชาติต้องช่วยกัน ท้ายที่สุดต้องมีคำตอบออกมาว่า จะไปอย่างไรกันต่อ วันนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่น่าพอใจ เพราะนอกจากการบังคับใช้กฎหมาย เรายังมีการพูดคุยเพิ่มขึ้น ส่วนจะสำเร็จหรือไม่ก็ว่าไปตามขั้นตอนทีละขั้น

ส่วนกรณีที่ สมช.เตรียมใช้ พ.รบ.ความมั่นคงแทน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในพื้นที่ 5 อำเภอในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ถือเป็นแนวทาง ซึ่งเราได้เตรียมการเพื่อกำหนดขั้นตอนและระยะเวลายุทธศาสตร์ที่เราต้องเดิน ซึ่งการลดพื้นที่ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินสามารถทำได้ โดยฝ่ายความมั่นคงเสนอว่า 1. จะต้องมีมาตรการต่างๆ เพื่อให้เจ้าหน้าที่เกิดความสบายใจในการทำหน้าที่โดยถูกต้อง ไม่ไปละเมิดสิทธิ หาหลักฐานให้ได้โดยเร็ว ซึ่งเราต้องค่อยๆแก้ไข ไม่อยากให้คิดว่า ใช้กฎหมายดังกล่าวแล้วจะแรงไป อย่ามองว่ากฎหมายไม่ดี เพราะเราต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย ทั้งกฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.ความมั่นคงเป็นกฎหมายที่ให้โอกาสเจ้าหน้าที่ในการทำงาน แต่ประเด็นสำคัญคือ ม.21 ของ พ.ร.บ.ความมั่นคงที่เปิดโอกาสให้คนออกมามอบตัว แต่ถ้าเป็นคดีที่มีความรุนแรงก็ไม่เข้าข่ายต้องไปต่อสู้กันในกระบวนการยุติธรรม ตนพยายามย้ำกับกองทัพภาคที่ 4 ว่า อย่าบอกว่า ม.21 แก้ได้ทุกคน ทุกเรื่องและทุกปัญหา เพราะยังมีกฎหมายอาญาที่สูงกว่า พ.ร.บ.ความมั่นคง


กำลังโหลดความคิดเห็น