xs
xsm
sm
md
lg

“ทูตสุรพงษ์” เตือนรัฐลงนามบีอาร์เอ็นไร้ผล ซ้ำทำประเทศพัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ทูตสุรพงษ์” ชี้รัฐบาลเจรจาบีอาร์เอ็นผิดเวลา เท่ากับสร้างความชอบธรรมให้กลุ่มก่อการร้าย เตือนไม่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น เนื่องจากพวกนี้ใช้วิธีรบพลาง เจรจาพลาง อย่าหวังจะหยุดก่อเหตุ เชื่อปูทางสู่เขตปกครองพิเศษ โดยจะมีมาเลเซีย และประเทศมหาอำนาจเข้าแทรกแซง แล้วถึงตอนนั้นไทยจะไม่มีสิทธิตัดสินอนาคตของประเทศเอง

วันที่ 5 มี.ค. นายสุรพงษ์ ชัยนาม อดีตเอกอัครราชทูต 5 ประเทศ กล่าวในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV ถึงกรณีที่ สมช. ลงนามสันติภาพกับกลุ่มก่อความไม่สงบบีอาร์เอ็น ว่า 1.ไม่มีใครที่ไม่เห็นด้วยกับการหาทางระงับความรุนแรง แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ถูกเวลาหรือไม่ อย่างเหตุการณ์โจมตีค่ายนาวิกโยธิน แล้วภายใน 2 วันก็มีการโจมตีต่อ หลังจากนั้น นายกฯ ไปมาเลเซีย จังหวะไม่ถูกเลย เพราะมีความรุนแรงแล้วไปเพื่อลงนามกับฝ่ายก่อความรุนแรง เท่ากับเป็นการส่งสัญญาณให้แก่ทุกฝ่าย ทั้งมาเลเซีย กลุ่มก่อความไม่สงบทุกกลุ่ม และประชาคมโลก ให้เห็นว่า รัฐไทยยอมลงนามกับกลุ่มก่อคววามไม่สงบทั้งๆ ที่มีการใช้ความรุนแรงก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน แสดงว่ารัฐไทยยอมรับว่าสามารถใช้ความรุนแรงบีบรัฐไทยได้ อันนี้เป็นการส่งสัญญาณที่ผิดมาก ทั้งทางการเมือง และจิตวิทยา

2.ต้องไม่ลืมว่า ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของมิติภายในและภายนอก ภายนอกประกอบด้วย แหล่งพักพิงทางกายภาพ อย่างเช่นพอก่อเหตุแล้วก็หนีไปมาเลเซีย มาเลเซียเป็นแหล่งพักพิงให้ตลอด การเมืองและการทูต เช่น ประชาคมของประเทศอิสลาม อย่าง OIC กลุ่มก่อความไม่สงบจะใช้องค์กรนี้ในการประณามรัฐไทยที่ใช้ความรุนแรง เพื่อเรียกร้องความสนใจให้กลุ่มเขา ส่วนปัญหาภายใน เช่น การลงนามสนธิสัญญาต่างๆ ของสหประชาชาติ เช่น สนธิสัญญาเคารพสิทธิมนุษยชน กลุ่มก่อความไม่สงบก็เอาตรงนี้มาอ้างเพื่อกดดันไทย

3.การลงนามครั้งนี้เท่ากับว่ารัฐบาลไทยยอมรับกลุ่มบีอาร์เอ็น และจะมีกลุ่มอื่นๆ ตามมาอีก ถือว่าไปประทับความชอบธรรมให้เขาโดยพฤตินัยและนิตินัย ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาต้องการมาก ซึ่งตรงนี้อันตราย

4.การลงนามครั้งนี้เท่ากับว่ารัฐบาลยอมเปิดพื้นที่ในทางการเมือง การทูต และสื่อให้กลุ่มเหล่านี้ ต่อไปคงมีการพบปะอีกหลายกลุ่ม สิ่งที่เขาต้องการมากที่สุดคือ พื้นที่ทางสื่อ เขาก็จะใช้เต็มที่ในการโฆษณาชวนเชื่อ ทำให้เราต้องเหนื่อยมากยิ่งขึ้นอีกในการชี้แจง ในอดีตพวกนี้ไม่ค่อยได้พื้นที่อะไรเลย แต่ต่อไปนี้ได้พื้นที่สื่ออย่างกว้างขวางเลย

5.เมื่อเราเข้าสู่กระบวนการพูดคุย ผู้ใหญ่หลายคนบอกถ้าไม่ได้ผลก็ถอย มันไม่ง่ายอย่างนั้น ถ้าถอนมันเท่ากับเพิ่มแรงกดดันให้ตัวเอง เพราะกลุ่มเหล่านี้ และประชาคมโลกก็จะโจมตีว่าเราไม่จริงใจต่อการเจรจา เขาจะรุกตลอดเวลา รัฐไทยกลายเป็นฝ่ายตั้งรับ

6.ตนไม่มั่นใจว่าทางหน่วยงานรัฐเข้าใจคำจำกัดความของการเจรจาพูดคุยหรือไม่ มันคนละความหมายกันกับกลุ่มก่อความไม่สงบ สำหรับรัฐไทยอาจมองซื่อๆ ว่าเจรจาเพื่อยุติปัญหาโดยสันติวิธี แต่สำหรับกลุ่มก่อการร้ายแล้วการเจรจาคือ รูปแบบการต่อสู้ทางการเมืองรูปแบบหนึ่ง ดำเนินคู่ขนานกับการปฏิบัติการทางทหาร เรียกว่ารบพลาง เจรจาพลาง สมมติเขาเพลี่ยงพล้ำทางทหารก็จะเรียกร้องให้พูดคุย

7.คนที่ไปลงนามด้วยก็ไม่รู้เป็นปีกด้านการเมืองของบีอาร์เอ็นหรือเปล่า เรายังไม่รู้เลยว่าปีกการเมืองของพวกนี้คือใคร อยู่ที่ไหน แล้วที่มาลงนามด้วยเป็นปีกจริง หรือว่าอุปโลกน์ขึ้นโดยมาเลเซีย

8.มาเลเซียเสนอตัวมาเป็นผู้ไกล่เกลี่ย แต่ทางเราไม่รับขอให้เป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวกในการเจรจาพอ แต่ไม่ว่าจะเป็นผู้ไกล่เกลี่ย หรือผู้อำนวยความสะดวก มันไม่เคยมีที่เป็นกลาง และจะไม่มีวันมี กรณีนี้มาเลเซียมีพรมแดนติดไทย ตามประวัติศาสตร์เขาย่อมมองจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นส่วนขยายอิทธิพลของมาเลเซียแน่นอน อย่าคิดว่าเขาไม่ได้ประโยชน์อะไร เพราะเขาจัดกลุ่มมาให้เราเจรจาแสดงว่าเป็นกลุ่มที่เขาควบคุมได้

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า การที่มาเลเซียกล้าเสนอตัวเข้ามา แสดงว่ามั่นใจว่าเขาจะประสบผลสำเร็จ และเป็นผลดีต่อมาเลเซีย แม้บอกว่าไม่สนับสนุนการแบ่งแยกดินแดน ไม่สนับสนุนความรุนแรง ไม่อนุญาตให้กลุ่มก่อการร้ายใช้มาเลเซียเป็นฐานปฏิบัติการโจมตีไทย อย่างหลังนี้บอกไม่สนับสนุนแต่ทำไมคนพวกนี้อยู่ในฝั่งคุณตลอดเวลา แล้วที่ไม่สนับสนุนแบ่งแยกดินแดน ไม่ใช่เพราะเขาใจดี แต่เขาเห็นว่ามันไม่จำเป็น ขอแค่ให้ 3 จังหวัดชายแดนใต้สามารถปกครองตนเองได้ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง แล้วต่อไปมีปัญหาอะไรในภาคใต้ไทยต้องปรึกษามาเลเซีย

ความจริงแล้วเป็นเรื่องที่วินวินกับรัฐบาลชุดนี้กับรัฐบาลมาเลเซีย เพราะมาเลเซียกำลังจะมีเลือกตั้ง อย่างน้อยที่สุดเขาจะเอาเรื่องที่ไทยยอมให้เขาเป็นผู้อำนวยความสะดวก ไปเป็นเครื่องมือในการหาเสียง ให้เห็นว่าขนาดเพื่อนบ้านยังไว้ใจรัฐบาลชุดนี้เลย แล้วคนไทยที่จังหวัดชายแดนใต้ถือสองสัญชาติเยอะ สามารถกลับมาเลเซียไปเลือกตั้งเทคะแนนให้พรรคอัมโนได้ ส่วนข้อดีต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ จากการที่นายนาจิบ (นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย) ชมว่าการเจรจาเกิดขึ้นเพราะทักษิณ เหมือนต้องการให้ทักษิณได้ล้างบาปจากกรณีกรือเซะ ตากใบ ทนายสมชาย ซึ่งจะได้ช่วยฟอกผิดให้ระดับหนึ่ง แล้วอาจจะถึงขั้นนำไปอ้างเพื่อการนิรโทษกรรม จะทำให้เห็นว่า ขนาดประเทศอื่นยังให้การยอมรับ สมควรต้องนิรโทษกรรมให้

นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า การไปลงนามไม่แน่ใจว่าหน่วยงานด้านความมั่นคงทั้งหลายของไทย ได้เตรียมการตั้งแต่ต้นหรือเปล่า หรือมารู้หลังจากที่รัฐบาลตัดสินใจไปแล้ว เลยต้องไปตามน้ำ อีกอันที่อันตรายคือ ได้เตรียมความพร้อมความเข้าใจของคนในชาติ หรือยัง คนในชาติยังไม่รู้ผลดีผลเสีย และเหตุผลในการตัดสินใจ แสดงว่ารัฐบาลไม่ได้ซีเรียสในเรื่องเขตปกคปรองพิเศษ ถึงไม่ทำความเข้าใจกับประชาชนก่อน

นี่คือการปูทางไปสู่เขตปกครองพิเศษ โดยจะอ้างว่าช่วยลดความเหลื่อมล้ำ แต่ตนคิดว่าในที่สุดถ้าไม่ระมัดระวังประเทศไทยจะตกอยู่ในฐานะลำบากมาก เสถียรภาพประเทศจะแย่ลงไปอีก อีกทั้งประเทศมหาอำนาจเตรียมเข้ามาแซกแทรงแน่นอน แล้วถึงตอนนั้นไทยจะไม่มีสิทธิตัดสินอนาคตของประเทศเอง

นายสุรพงษ์ ยังกล่าวด้วยว่า ถ้าประเทศไทยไม่อ่อนแอ ไม่แตกแยก ประเทศเพื่อนบ้านจะไม่กล้าทำแบบนี้ กรณี นายฮุนเซน ก็เช่นกัน ถ้าเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ไทยจะกลายเป็นตัวตลก ตกเป็นเหยื่อให้ประเทศต่างๆ เข้ามาหาผลประโยชน์ กรณที่ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต (รมว.กลาโหม) พบ นายเตีย บัญ บนเขาพระวิหาร ก็เข้าข่ายกฎหมายปิดปากอีกเหมือนในอดีต ที่กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จเยือนปราสาทพระวิหารเมื่อ 83 ปีที่แล้ว แสดงว่ารัฐบาลนี้ต้องการให้ท่าทีของฝ่ายไทยในการชี้แจงด้วยวาจาของทีมกฎหมายทั้งสองฝ่ายที่จะมีขึ้น 17-19 เมษายนนี้อ่อนปวกเปียกลงอีก 7-8 ปีที่ผ่านมา ไม่เคยมีรัฐบาลไหนใช้นโบายต่างประเทศตอบสนองตัวเอง และพรรคพวกมากเท่ากับไทยรักไทย เพื่อไทย พลังประชาชน




“รอยเตอร์” ชี้กลุ่มก่อความไม่สงบภาคใต้ไม่คาดหวังกับการเจรจาสันติภาพไทย-บีอาร์เอ็นชี้แกนนำเจรจาไร้อำนาจสั่งการนักรบในพื้นที่
“รอยเตอร์” ชี้กลุ่มก่อความไม่สงบภาคใต้ไม่คาดหวังกับการเจรจาสันติภาพไทย-บีอาร์เอ็นชี้แกนนำเจรจาไร้อำนาจสั่งการนักรบในพื้นที่
สำนักข่าวรอยเตอร์เผยแพร่รายงานพิเศษในวันอังคาร (26) เกี่ยวกับสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย โดยอ้างมุมมองของสมาชิกขบวนการก่อความไม่สงบในพื้นที่ซึ่งยังคงเชื่อว่า การเปิดเจรจาสันติภาพที่มีมาเลเซียเป็นตัวกลาง ระหว่างทางการไทยกับแกนนำกลุ่มแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ (บีอาร์เอ็น) ซึ่งกำลังจะเปิดฉากขึ้นในวันพฤหัสบดี (28) นั้น ถือเป็นความพยายามที่ “ไร้ความหมาย” ในการยุติหนึ่งในความขัดแย้งที่นองเลือดที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ดำเนินมากว่า 9 ปีและมีผู้ต้องสังเวยชีวิตไปแล้วมากกว่า 5,300 คน
กำลังโหลดความคิดเห็น