xs
xsm
sm
md
lg

สมช.ต้องเลิกเล่นบท “โฆษกบีอาร์เอ็นฯ” / ไชยยงค์ มณีพิลึก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช. (แฟ้มภาพ)
 
คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
 
เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 20 ก.ค.เป็นต้นมา ซึ่งมีการสูญเสียตำรวจ ครู ผู้นำท้องที่ ประชาชนทั้งพุทธและมุสลิมกว่า 10 ศพ และบาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่ง นั่นคือการส่งสัญญาณให้เห็นว่า สถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าสู่สภาวะปกติ คือจะมีเหตุร้ายเหตุรุนแรงเกิดขึ้นวันละ 3-5 เหตุการณ์ เหมือนอย่างที่เคยเกิดและเป็นตลอดระยะเวลา 9 ปีที่ผ่านมา
 
แม้จะมีความพยายามจากหน่วยงานของรัฐ และภาคประชาสังคมในชายแดนใต้ ที่ออกมาให้ข่าวแยกแยะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้เห็นว่า หลายเหตุการณ์ไม่เกี่ยวกับขบวนการบีอาร์เอ็น โคออดิเนต แต่เป็นการกระทำของคนร้ายกลุ่มอื่น และเป็นเรื่องที่มาจากความขัดแย้งเรื่องทางการเมืองท้องถิ่น เรื่องผลประโยชน์จากการค้ายาเสพติด
 
เพื่อต้องการ “ชี้นำ” ให้สังคมเห็นว่าในห้วงของเดือน “รอมฏอน” ปีนี้สถานการณ์ความรุนแรงลดลง ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงระหว่างบีอาร์เอ็นฯ กับสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช) ที่จะหยุด “ปฏิบัติการทางทหาร” เพื่อส่งเสริมการเปิดพื้นที่ “พูดคุยสันติภาพ” ให้ดำเนินการต่อไป
 
โดยข้อเท็จจริงนั้น สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในห้วงเดือนรอมฏอนปีนี้ ไม่ได้แตกต่างจากห้วงเวลาก่อนหน้านี้ เพียงแต่ที่ผ่านมาหน่วยงานของรัฐและภาคประชาสังคมไม่ได้ออกมาแยกแยะว่า แต่ละเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเกิดจากสาเหตุอะไร และในความรู้สึกของประชาชนทั้งใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่เป็น “สังคมเล็ก” ของประเทศ และความรู้สึกของคนในประเทศที่เป็น “สังคมใหญ่” ไม่ว่าความรุนแรงเกิดจากคนกลุ่มไหนบีอาร์เอ็นฯ หรือ “นักรบฟาตอนี” หรือ “โจรรับจ้าง” หรือเกิดจาก “การสร้างสถานการณ์” ของเจ้าหน้าที่รัฐ ต่างก็คือความสูญเสีย ต่างก็คือความรุนแรง ที่ยังเกิดขึ้นและดำรงอยู่ ซึ่งมีผลกระทบต่อประชาชน
 
ดังนั้น ยิ่งมีการ “แยกแยะ” ยิ่งส่อให้เห็นถึงความ “ไร้น้ำยา”  ของหน่วยงานทั้งหมดในพื้นที่และรัฐบาล เพราะถ้าความรุนแรงมาจากเรื่อง “การเมืองท้องถิ่น” มาจากเรื่อง “ยาเสพติด” และเรื่อง “ส่วนตัว” ซึ่งถือเป็นการก่ออาชญากรรมธรรมดาที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ เจ้าหน้าที่ยังป้องกัน แก้ไขและจับกุมไม่ได้ ยิ่งส่อให้เห็นถึงความล้มเหลวของอำนาจรัฐ รวมถึงความไม่เอาไหนของเจ้าหน้าที่
 
ที่สำคัญยิ่งพูดกันมาก ยิ่ง “โบ้ย” ให้ความรุนแรงเป็นมาจากสาเหตุนั้น สาเหตุนี้ หน่วยงานของรัฐและภาคประชาสังคมกำลังถูกมองจาก “สังคมใหญ่” ของประเทศว่า กำลังจะกลายเป็น “โฆษก” ของบีอาร์เอ็นฯ เพื่อ “แก้ต่าง” ให้บีอาร์เอ็นฯ ไม่ต้องรับผิดชอบกับความรุนแรงที่เกิดขึ้น
 
วันนี้หน่วยงานของรัฐและภาคประชาสังคมกำลัง “หลงประเด็น” เพราะประเด็นที่สำคัญไม่ใช่เรื่องกลุ่มไหนเป็นคนทำให้เกิดความรุนแรง แต่สิ่งที่ทุกหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล กองทัพในส่วนกลาง และ กอ.รมน. หรือ ศชต. ซึ่งรับผิดชอบในเรื่องของ “ยุทธการ” และการสืบสวน สอบสวน จับกุมผู้ทำความผิด รวมทั้งภาคประชาสังคมควรทำคือ หาทาง หานโยบายหยุดความรุนแรง หยุดการก่อเหตุร้ายวัน เพื่อหยุดการสูญเสีย ไม่ว่าจะเป็นความสูญเสียของประชาชน หรือของตำรวจ ทหารและข้าราชการพลเรือน เพราะทุกความสูญเสียล้วนย่อมมีค่าเท่ากัน
 
หน่วยงานของรัฐ เช่น กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และ ศชต. ต้องประเมินประสิทธิภาพของหน่วย ต้องประเมินสิ่งที่ได้ทำไปแล้วว่าทำไมจึงไม่ประสบความสำเร็จ ทำไมจึงแก้ปัญหาไม่ได้ อย่างการแขวนป้ายผ้าหรือการพ่นสีตามถนนหนทางเพื่อโจมตีเจ้าหน้าที่ครั้งละหลายสิบจุด จนถึงหลายร้อยจุดในคืนเดียว “แนวร่วม” ทำได้อย่างไร เจ้าหน้าที่กว่า 100,000 คนทั้งตำรวจ ทหาร และอื่นๆ จึงไม่เคยเห็น ไม่เคยจับได้
 
หรืออย่างการฝังระเบิดบนท้องถนน อย่างที่หน้าโรงพยาบาลจะแนะ จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐและเป็นย่านชุมชนที่มีบ้านเรือนเรียงรายอยู่ในที่เกิดเหตุ ทำไม่จึงไม่มีใครรู้-เห็น หรือแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบ เพราะการแขวนป้ายโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐก็ดี การขุดหลุมวางระเบิด การประกอบระเบิด และการกดระเบิด ต่างต้องใช้เวลาในการปฏิบัติการทั้งสิ้น
 
ปฏิบัติการของแนวร่วมที่มีเสรีภาพในการเคลื่อนไหวในรูปแบบต่างๆ ที่เป็นมาตลอดระยะเวลา 9 ปี คือการทำร้ายความรู้สึกของคนในพื้นที่ ชี้ให้ถึงความไม่มีประสิทธิภาพการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ที่มีต่อแนวร่วมที่เคยประสบความสำเร็จ เช่น การวิสามัญการยึดอาวุธยุทโธปกรณ์  ถือเป็น”ข่าวดี” ที่เป็นความ “พึงพอใจ” ของประชาชน
 
แต่หลังปฏิบัติการไม่เกินสองวันข่าวดีกลับกลายเป็น “ข่าวร้าย” เพราะแนวร่วมจะปฏิบัติการ “เอาคืน” โดยมีเป้าหมายที่ประชาชน ตำรวจ ทหาร อย่างกรณียิงชาวไทยพุทธสองผัวเมียที่ อ.ระแงะ และ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ย่อมเป็นการปฏิบัติการเอาคืนของแนวร่วมที่ตอบโต้การที่ทหาร “วิสามัญ” แนวร่วมที่ อ.เจาะไอร้อง และการยึดค่ายพักที่เทือกเขาตะเวนั่นเอง
 
ดังนั้น จึงมีคำถามกับ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และหน่วยงานต่างๆ ที่รับผิดชอบว่า จะมีวิธีการไหนบ้างที่จะทำให้ “ข่าวดี” ได้เป็น”ข่าวดี” โดยไม่มี “ข่าวร้าย” ติดตามหลังมาเหมือนทุกครั้ง
 
ในขณะเดียวกันจากการ “พูดคุยสันติภาพ” ระหว่าง สมช.กับบีอาร์เอ็นฯ ก็ทำให้ สมช.และหน่วยงานอื่นๆ สามารถ “สืบสภาพ” ได้ว่า บีอาร์เอ็นฯ ยังไม่สามารถ “สั่งการ” แนวร่วมกลุ่มอื่นๆ ได้อย่างแท้จริง ซึ่ง สมช.ต้องกลับไปคิดว่า จะดำเนินการพูดคุยกับแนวร่วมกลุ่มอื่นๆ อย่างไร โดยวิธีไหน และจะใช้หน่วยงานใด เพื่อสร้างความเข้าใจ โดยไม่ต้องใช้วิธีการรุนแรงคือ การใช้กำลังและอาวุธ
 
และสิ่งสำคัญที่ได้ประโยชน์จากการพูดคุย โดยมีตัวแทนของประเทศมาเลเซียเป็นผู้ประสานงานคือ สามารถทำให้สังคมโลกรับรู้ว่า “หลังพิง” ของขบวนการแบ่งแยกดินแดนทุกกลุ่มคือ “มาเลเซีย” ซึ่งความจริงที่เกิดขึ้นคือ “จุดแข็ง” ของรัฐไทยที่ได้จากเวทีการพูดคุยในครั้งนี้ ดังนั้นใครที่มองว่าการพูดคุยที่เกิดขึ้น ไม่ได้ประโยชน์ จึงต้องทบทวนกันใหม่
 
สิ่งที่ทุกฝ่ายจะทบทวนกันในวันนี้ ไม่ใช่ไป ”ติดกับ” ถกเถียงกันเรื่องจะเดินหน้าพูดคุยสันติภาพต่อไป หรือจะยกเลิก หรือไปถกเถียงกันว่าใครผิดสัญญาก่อนใครระหว่าง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า กับบีอาร์เอ็นฯ แต่ทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบในการร่วมกันแก้ปัญหาความไม่สงบบนแผ่นดินปลายด้ามขวานจะต้องหยุดความ “แตกแยก” ทางความคิด และมีการ “ผนึกกำลังกัน” เพื่อปกป้องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน หยุดความสูญเสียของเจ้าหน้าที่รัฐ
 
ส่วนในเรื่องการ “พูดคุยสันติภาพ” ให้เป็นหน้าที่ เป็นบทบาทของ สมช.ที่จะต้องดำเนินการต่อไป ซึ่งต่อไป สมช.อาจจะมีประสบการณ์จากการพูดคุย แปรสภาพจากการตกเป็น “เบี้ยล่าง” ไปเป็น “เบี้ยบน”
 
อย่างเดียวที่ สมช.ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เป็นตัวแทนของรัฐบาลต้องอย่าเผลอคือ อย่าทำตัวเหมือนกับเป็น “โฆษก” หรือเล่นบท “แก้ต่าง” ให้กับบีอาร์เอ็นฯ บ่อยๆ ทั้งที่หลายครั้งเรายังไม่รู้ข้อเท็จจริงจากปากของตัวแทนบีอาร์เอ็นฯ เลยด้วยว่าเขาคิดอย่างไร และต้องการอะไร
 
นี่ต่างหากที่ สมช.ต้องระมัดระวังว่าการ “หวังดี” หรือการ “ก้าวเร็ว” และ “คิดแทน” เพื่อให้เกิดสันติสุขโดยเร็วนั้น บางครั้งไม่ได้เป็นผลดีกับการแก้ปัญหาความไม่สงบของแผ่นดินจังหวัดชายแดนภาคใต้.
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น