xs
xsm
sm
md
lg

ยุติความรุนแรงในเดือนรอมฎอน “โจทย์หิน” และบทพิสูจน์ “น้ำยา” บีอาร์เอ็น-ซี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
 
เพียงวันแรกของเดือนรอมฎอน เสียงแห่งความชั่วรายคือ “ระเบิด” ซึ่งกลายเป็นอาวุธทำลายล้างประจำถิ่น 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็กัมปนาทขึ้นอย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นว่า “สันติภาพ” ที่คนในพื้นที่มุ่งหวังว่า เดือนแห่งการถือศีลอดของพี่น้องมุสลิมจะเป็นเดือนแห่งความสงบสุข ตามข้อเรียกร้องของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ที่มีต่อขบวนการบีอาร์เอ็น โคออดิเนต ยังไม่สามารถเป็นความจริงได้
 
ก่อนที่จะมีระเบิดที่ อ.รามัน จ.ยะลา รับเดือนรอมฎอน ก่อนหน้าเพียงวันเดียว “แนวร่วม” ขบวนการก่อการร้ายในพื้นที่ก็ปฏิบัติการแขวนป้ายผ้า และพ่นสีตามสถานที่ต่างๆ เป็นข้อความโจมตีเจ้าหน้าที่ และรัฐบาลว่า เป็นผู้หลอกลวง เป็นผู้สร้างสถานการณ์ และยังคงเรียกรัฐไทยว่าเป็น “นักล่าอาณานิคม” ถึง 160 กว่าจุด ใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งสื่อให้เห็นว่าแนวร่วมในพื้นที่ยังมีแผนปฏิบัติการด้วยความรุนแรงต่อไป
 
แม้ว่าก่อนเดือนรอมฎอนเพียงวันเดียวเกือบจะมี “ข่าวดี” เกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่ เมื่อดาโต๊ะ สะรี อาห์มัด ซึ่งเป็นอดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองประเทศมาเลเซีย ในฐานะผู้ประสานงานการพูดคุยสันติภาพ ระหว่าง สมช. กับบีอาร์เอ็น ได้ติดต่อมายัง พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลาขาธิการ สมช.ว่า จะมีการแถลงข่าวจากตัวแทนบีอาร์เอ็น-ซี เพื่อตอบข้อเรียกร้องของ สมช.ที่ส่งข้อเรียกให้เดือนรอมฎอนเป็นเดือนแห่งสันติ คือ ให้บีอาร์เอ็น-ซี ยุติความรุนแรงในการทหารลง เพื่อแสดงความจริงใจในการสร้างสันติภาพร่วมกัน ตามเจตนารมณ์ของเวทีการพูดคุยสันติภาพระหว่างสองฝ่าย
 
แต่ก่อนถึงกำหนดนัดหมายแถลงข่าวเพียง 2 ชั่วโมง บีอาร์เอ็น-ซี ก็ขอเลื่อนการแถลงข่าวอย่างไม่มีกำหนด ซึ่งต้องมีนัยที่แอบแฝงที่คงจะปฏิเสธตามข้อเรียกร้องของ สมช.ที่ต้องการพิสูจน์ความจริงใจของบีอาร์เอ็น-ซี รวมทั้งพิสูจน์ศักยภาพว่ามีความสามารถที่จะสั่งการให้แนวร่วมไม่ต่ำกว่า 3 กลุ่มในพื้นที่เชื่อฟังได้หรือไม่ ซึ่งถือเป็น “โจทย์ยาก” และอาจจะเป็น “โจทย์หิน” เพราะก่อนหน้านี้ก็เคยยอมรับว่า ยังมีกลุ่มแน่วร่วมที่นิยมความรุนแรงอยู่นอกเหนือการรับฟังคำสั่งของบีอาร์เอ็น-ซี
 

 
สุดท้ายบีอาร์เอ็น-ซี ก็ยืนยันต่อ สมช.ว่า จะมีการแถลงข่าวเพื่อตอบข้อเรียกร้องของ สมช.ในเวลา 15.00 น. ของวันที่ 12 ก.ค.2556 ซึ่งในข้อแถลงนั้นเท่าที่ทราบยังคงยืนยันให้ฝ่ายไทยรับข้อเสนอของบีอาร์เอ็น-ซี ทั้ง 5 ข้อก่อน ซึ่งก็เป็น “โจทย์ยาก” และเป็น “โจทย์หิน” สำหรับฝ่ายไทยเช่นกัน
 
สิ่งที่ต้องติดตามต่อไปคือ หากบีอาร์เอ็น-ซี รับปาก สมช.ว่า สามารถสั่งการให้แนวร่วมในพื้นที่ทุกกลุ่มหยุดการปฏิบัติการทางทหารในเดือนรอมฎอนตลอดห้วงเวลา 40 วันได้จริง ประชาชนในชายแดนใต้อาจจะ “มีเฮ” ได้เพียงชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น แต่หลังจากนั้นสถานการณ์จะพลิกผัน และผู้ที่จะมีความได้เปรียบในเวทีการเจรจาสันติภาพ และได้เปรียบในยุทธศาสตร์ในพื้นที่ก็จะกลายเป็นบีอาร์เอ็น-ซี และรัฐบาลมาเลเซีย ซึ่งอยู่ในสถานะผู้ประสานงาน
 

 
เพราะหากสามารถสั่งการแนวร่วมในพื้นที่หยุดการก่อเหตุร้ายได้จริง แสดงว่าบีอาร์เอ็น-ซี คือ “ตัวจริง” ที่อยู่เบื้องหลังในการสั่งการของปฏิบัติการก่อการร้ายทั้งหมด เท่ากับอำนาจการ “ต่อรอง” บนเวทีการพูดคุยสันติภาพระหว่าง สมช. กับบีอาร์เอ็น-ซี ซึ่งมีตัวแทนของรัฐบาลมาเลเซียเป็นผู้ประสานงาน ฝ่ายบีอาร์เอ็น-ซี จะมีอำนาจการต่อรองมากยิ่งขึ้น เพราะคือผู้กำหนดชะตากรรมของคนในพื้นที่ชายแดนใต้
 
ในขณะที่บทบาทผู้ประสานงานของรัฐบาลมาเลเซียก็จะมีความสำคัญในฐานะที่เป็น “หลังพิง” ของบีอาร์เอ็น-ซี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลไกที่สามารถกำหนดชะตากรรมของสถานการณ์ความรุนแรงในชายแดนใต้ หากรัฐบาลมาเลเซียมีความโน้มเอียงในเรื่องข้อเรียกร้องของ บีอาร์เอ็น-ซีที่มีต่อรัฐบาลไทย ฝ่ายไทยก็จะกลายเป็นผู้ที่เสียเปรียบในเวทีของการพูดคุยสันติภาพ ซึ่งจะถูกพัฒนาไปสู่เวทีของการ “เจรจา” ในท้ายที่สุด
 
ขณะเดียวกัน ถ้าสถานการณ์การก่อความไม่สงบในเดือนรอมฎอนยังดำรงอยู่ และเป้าหมาย “อ่อนแอ” ที่เป็นพลเรือน และประชาชนยังไม่ลดลง ยอมแสดงให้เห็นว่า สุดท้ายแล้วบีอาร์เอ็น-ซี ยังไม่สามารถสั่งการ หรือควบคุมแนวร่วมในพื้นที่ ซึ่งนอกจากเป็นสายของบีอาร์เอ็น-ซีแล้ว ยังมีกลุ่มอื่นๆ อีก 2 กลุ่ม การพูดคุยสันติภาพที่ดำเนินต่อไปบีอาร์เอ็น-ซี ก็จะไม่สามารถต่อรอง หรือเรียกร้องในสิ่งที่ “เกินขอบเขต” ของการร่วมกันสร้างสันติสุข
 
และหากสถานการณ์ยิ่งรุนแรงขึ้น ก็ยิ่งจะทำให้สถานภาพของบีอาร์เอ็น-ซี ลดน้อยลง เพราะแสดงให้เห็นว่า ยังไม่สามารถควบคุม หรือสั่งการกลุ่มผู้ปฏิบัติการในพื้นที่ได้จริง เมื่อไม่มีอำนาจที่แท้จริง การเรียกร้อง หรือยื่นข้อเสนอ หรือการต่อรองย่อมทำไม่ได้ และราคาของบีอาร์เอ็น-ซี ก็จะหมดไป จะเหลืออยู่ก็เพียง “ราคาคุย” เท่านั้น และเมื่อนั้น สมช.ก็มีสิทธิที่จะเลือกการเจรจากับ “ผู้เห็นต่าง” กลุ่มอื่นๆ อย่างชอบธรรม
 

 
ที่สำคัญสังคมของคนในพื้นที่ที่วันนี้กระแสการสนับสนุนให้มีการพูดคุยกับบีอาร์เอ็น-ซี ยังเชี่ยวกราก หาก สมช. หรือรัฐบาลไม่มีเหตุผลตอบคำถามของคนในพื้นที่เพียงพอว่า ทำไมจึงไม่พูดคุยกับบีอาร์เอ็น-ซี ต่อไปเพื่อยุติไฟใต้ นั่นอาจจะกลายเป็นว่า สมช.และรัฐบาลไม่มีความจริงใจในการแก้ปัญหาตามที่ประชาชนในพื้นที่ต้องการ
 
ดังนั้น จึงกลายเป็นว่า ทั้ง 3 ฝ่ายคือ สมช. บีอาร์เอ็น-ซี และประชาชนในพื้นที่ชายแดนใต้ ได้เลือกที่จะเอาห้วงเวลาในเดือนรอมฎอนเป็นตัว “ชี้วัด” ความจริงใจ-ศักยภาพ รวมทั้งการเดินหน้าต่อไปของกระบวนการพูดคุยสันติภาพว่า จะเดินไปในทิศทางไหน ซึ่งแน่นอนว่านอกจากชี้วัดความความสำคัญของบีอาร์เอ็น-ซี ว่า เป็นผู้นำของขบวนการที่แท้จริงหรือไม่แล้ว ยังเป็นตัวชี้วัดชะตากรรมของคนในชายแดนใต้ด้วยว่า จะอยู่กับภาพเดิมๆ ต่อไปคือ ความตายรายวัน ท่ามกลางเสียงปืน เสียงระเบิด หรือจะกลับมาอยู่กันอย่างสงบสุขในสังคมพหุวัฒนธรรมเหมือนกับที่เป็นอยู่ในอดีต.
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น