คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล
สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในห้วงเดือนรอมฎอน เหตุก่อความ รุนแรงลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยในรอบ 10 วันแรกมีเหตุระเบิดเกิดขึ้นเพียง 2 ครั้ง ซึ่งทั้งสองครั้งที่เกิดขึ้นหน่วยข่าวความมั่นคงต่างวิเคราะห์ว่าเป็นการ กระทำของ “แนวร่วมกลุ่มย่อย” ที่ไม่เชื่อฟังคำสั่งของแกนนำขบวนการบีอาร์เอ็น โคออดิเนต ถ้าเป็นอย่างที่มีการวิเคราะห์ย่อมแสดงให้เห็นว่า บีอาร์เอ็น-ซี สามารถที่จะสั่งการ และควบคุมการก่อเหตุความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ โดยไม่ใช่ “ราคาคุย” อย่างที่หลายฝ่ายเคยมีความเห็น
และนั่นอาจจะเป็น “ข่าวดี” ในรอบ 9 ปีของของสถานการณ์การก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะที่ผ่านมาในห้วงเดือนรอมฎอนของทุกปีจะเกิดเหตุความรุนแรงมากกว่าปกติ เนื่องจากแนวร่วมของขบวนการจะออกมาปฏิบัติการต่อประชาชน เพราะถูกปลูกฝังจากกลุ่ม “อุสตาส” ว่าการปฏิบัติการในเดือนรอมฎอนจะได้บุญกว่าเดือนปกติถึงสิบเท่า
แต่ในข่าวดีย่อมมี “ข่าวร้าย” เกิดขึ้น นั่นคือการที่บีอาร์เอ็น-ซีได้ประกาศพื้นที่ความรับผิดชอบ หรือพื้นที่ความเคลื่อนไหวของบีอาร์เอ็น-ซีจากเดิม 3 จังหวัดชายแดนใต้และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา กลายเป็น 3 จังหวัดชายแดนใต้และ 5 อำเภอของ จ.สงขลา
โดยรวมเอาพื้นที่ อ.สะเดา จ.สงขลา เข้าไปด้วย ซึ่งได้สร้างความไม่พอใจ และความตื่นตระหนกให้กับประชาชนใน อ.สะเดาเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นอำเภอที่อยู่ติดกับชายแดนประเทศมาเลเซีย และเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญไม่แพ้ อ.หาดใหญ่
ดังนั้น จึงมีการหวั่นวิตกว่า เมื่อบีอาร์เอ็น-ซีนับพื้นที่ของ อ.สะเดารวมเข้าไปในพื้นที่ความเคลื่อนไหว ในอนาคตอาจจะมีการปฏิบัติการทางทหาร นั่นคือการก่อเหตุร้ายเกิดขึ้น ซึ่งจะกระทบกับความสงบสุขของประชาชนในพื้นที่ และกระทบกับการลงทุนและธุรกิจต่างๆ การออกมาเคลื่อนไหวของประชาชนชาว อ.สะเดาที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา คือการยืนยันถึงความหวาดวิตกของคนในพื้นที่ อ.สะเดาเป็นอย่างดี
โดยข้อเท็จจริงการประกาศพื้นที่ความเคลื่อนไหว หรือพื้นที่ปฏิบัติการของขบวนการก่อการร้าย หรือการแบ่งแยกดินแดนในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ผู้ที่เป็นผู้ประกาศว่าพื้นที่ไหนเป็นพื้นที่ของการเคลื่อนไหวของขบวนการ แบ่งแยกดินแดนคือ “รัฐบาลไทย” โดยฝ่ายความมั่นคง นั้นคือ “กองทัพ” ซึ่งที่ผ่านมากองทัพภาคที่ 4 ได้ประกาศพื้นที่ความเคลื่อนไหวของขบวนการแบ่งแยกดินแดนประกอบด้วย 3 จังหวัดชายแดนใต้คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอของ จ.สงขลาคือ สะบ้าย้อย เทพา นาทวี และ จะนะ
เหตุผลที่มีการขีดเส้นในแผนที่ไว้เพียงแค่นี้ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มีความเคลื่อนไหวของแกนนำและแนวร่วม มีการปฏิบัติการทั้งทางการเมืองและการทหาร ซึ่งเป็นพื้นที่อันมีการเคลื่อนไหวของขบวนการแบ่งแยกดินแดน ตั้งแต่ขบวนการบีเอ็นพีพี, พูโล และอื่นๆ ก่อนที่บีอาร์เอ็น-ซีจะเข้ามาปฏิบัติการเป็นขบวนการล่าสุด
ส่วนพื้นที่ อ.สะเดานั้น แม้จะรู้กันในฝ่ายความมั่นคงว่าเป็นพื้นที่เคลื่อนไหว และเป็นที่พักพิงที่หลบซ่อนของขบวนการ แต่ทั้งทหาร ตำรวจและฝ่ายปกครองจะไม่พยายามพูดถึง เพราะไม่ต้องการให้เกิดผลกระทบ และการขยายพื้นที่การก่อการร้าย ประกอบกับที่ผ่านมาไม่มีการปฏิบัติการก่อการร้ายจากขบวนการแม้แต่ครั้งเดียว
แต่สำหรับกลุ่มขบวนการก่อการร้าย หรือขบวนการแบ่งแยกดินแดน ตั้งแต่ขบวนการบีเอ็นพีพีเป็นต้นมา จนมาถึงบีอาร์เอ็น-ซีนั้น แผนที่การประกาศแบ่งแยกดินแดนของพวกเขาคือ จังหวัดชายแดนภาคใต้ อันหมายถึง 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นั่นคือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล และบางส่วนของ จ.สงขลาคือ อ.สะบ้าย้อย อ.เทพา อ.จะนะ อ.นาทวี และ อ.สะเดา ซึ่งเป็นพื้นที่อันมีประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามมากกว่าผู้ที่นับถือศาสนา พุทธ
โดยข้อเท็จจริง ทุกวันนี้พื้นที่ อ.สะเดาติดต่อกับพื้นที่ อ.นาทวี เป็นพื้นที่เคลื่อนไหว “ซ่องสุม” กำลังและใช้เป็นที่หลบซ่อน พังพิงของแกนนำและแนวร่วมที่เดินทางมาจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งหลบหนีการติดตามไล่ล่าจับกุมจากเจ้าหน้าที่ จนเป็นที่รู้กันว่าใน ต.สำนักแต้ว และ ต.สำนักขาม ของ อ.สะเดา เช่นพื้นที่ “ควนตานี” และ “ห้วยตือฮะ” และอื่นๆ ใน 2 ตำบลนี้ รวมถึงบางส่วนของ ต.ปาดังเบซาร์ คือพื้นที่เคลื่อนไหวของขบวนการมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
นอกจากนั้นยังเป็นพื้นที่ “เศรษฐกิจ” ที่แกนนำและแนวร่วมของขบวนการบีอาร์เอ็น-ซี และขบวนการอื่นๆ ใช้ในการประกอบธุรกิจ ทั้งที่ถูกและผิดกฎหมาย เช่น เป็นฐานในการค้าน้ำมันเถื่อน สินค้าหนีภาษี และยาเสพติด เพื่อส่ง “เม็ดเงิน” จำนวนหนึ่งให้กับขบวนการ และหลายครั้งพื้นชายแดนแห่งนี้คือที่ประชุม วางแผนเพื่อก่อการร้าย
อีกเหตุผลของขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่ต้องนำพื้นที่ อ.สะเดารวมอยู่ในพื้นที่เคลื่อนไหวคือ นอกจากจำนวนประชากรที่เป็นมุสลิมมากกว่าไทยพุทธแล้ว พื้นที่ของ อ.สะเดายังมีเขตติดต่อกับประเทศมาเลเซีย และติดกับอำเภอนาทวี ซึ่งมีแนวชายแดนติดต่อกับประเทศมาเลเซีย หากไม่นับรวม อ.สะเดาเข้าไปด้วยตามกายภาพของภูมิศาสตร์ ก็จะไม่สามารถเชื่อมโยงพื้นที่ของ จ.สตูลให้เป็นแผ่นดินที่ติดต่อกัน เพราะพื้นที่ชายแดนของ อ.สะเดาเป็นเขตติดต่อกับพื้นที่ อ.ควนโดนของ จ.สตูล เมื่อรวมพื้นที่ของ อ.สะเดาเข้าไปจึงจะทำให้พื้นที่การแบ่งแยกดินแดน หรือพื้นที่ปฏิบัติการของขบวนการแบ่งแยกดินแดนครอบคลุมและติดต่อกันได้ครบ ทั้ง 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้
แต่เพราะเราไม่เคยถามบีอาร์เอ็น-ซี และที่ผ่านมาบีอาร์เอ็น-ซีก็ไม่เคยออกมาบอกกล่าวกับสังคมว่า พื้นที่การเคลื่อนไหวอยู่ตรงไหน เมื่อเราได้ฟังและรับรู้จึงเกิดความตื่นกระหนกตกใจขึ้น เพราะมองเห็นว่าแค่บีอาร์เอ็น-ซีปฏิบัติการวางระเบิดในพื้นที่เศรษฐกิจอย่าง อ.หาดใหญ่ ก็มีผลกระทบต่อ จ.สงขลาอย่างมหาศาล
ถ้าพื้นที่ อ.สะเดากลายเป็นพื้นที่ที่มีการก่อวินาศกรรม หรือฆ่าเจ้าหน้าที่รัฐ ฆ่าประชาชนอันเป็นเป้าหมายอ่อนแอ จะส่งผลกระทบต่อ จ.สงขลามากขึ้น โดยเฉพาะ อ.สะเดา ถือเป็นเมืองหน้าด่านเป็นประตูเมืองด้านการท่องเที่ยวของ จ.สงขลา และสิ่งเหล่านี้ย่อมเกิดขึ้นได้ หากขบวนการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐไทยกับบีอาร์เอ็น-ซีล้มเหลว พื้นที่ของ อ.สะเดาอาจจะเป็นพื้นที่ “ต่อรอง” ระหว่างรัฐไทยกับบีอาร์เอ็น-ซีในอนาคต
ดังนั้น การประกาศขยายพื้นที่ปฏิบัติการของบีอาร์เอ็น-ซีที่ประกาศผ่านผู้ประสานงาน การพูดคุย ซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐบาลมาเลเซียในครั้งนี้ จึงเป็น “การบ้าน” ข้อหนึ่งให้กับรัฐบาลไทย ซึ่งถือว่าเป็น “โจทย์ใหญ่” ที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) จะต้องนำไปพูดคุยกับตัวแทนของบีอาร์เอ็น-ซีในโต๊ะของการพูดคุยสันติภาพครั้ง ต่อไปในเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อชี้ให้เห็นถึงการไม่ยอมรับของคนในพื้นที่ และเพื่อให้บรรยากาศการพูดคุยสามารถดำเนินไปได้ด้วยความพอใจของประชาชนใน พื้นที่
เนื่องเพราะอย่าลืมว่า การพูดคุยสันติภาพ หรือการเจรจาเพื่อแสวงหาทางออกจากความรุนแรงไปสู่สันติวิธีนั้น ไม่ได้หมายความว่าจะมีเพียงตัวแทนรัฐไทย ตัวแทนบีอาร์เอ็น-ซี และผู้ประสานงานที่เป็นตัวแทนของประเทศมาเลเซียเท่านั้น แต่ยังมีประชาชนคนไทยในพื้นที่ และประชาชนในประเทศไทยทั้งหมดที่มีส่วนร่วมอยู่ด้วย ซึ่งในการพูดคุยหรือการเจรจาสันติภาพนั้น ทุกฝ่ายต้องฟังเสียง ฟังความต้องการของประชาชนเป็นสำคัญ
โจทย์นี้แม้จะเป็นโจทย์ใหญ่ที่เกิดขึ้นจากฝ่ายบีอาร์เอ็น-ซี แต่อาจจะเป็นโจทย์ที่ไม่ยาก ถ้าทั้งรัฐไทย บีอาร์เอ็น-ซี และผู้ประสานงานการพูดคุยคือตัวแทนของรัฐบาลมาเลเซีย ต่างมีความจริงใจต่อกัน และต้องการที่จะยุติความรุนแรง เพื่อสร้างสันติภาพร่วมกันบนแผ่นดินปลายด้ามขวานของไทย.