xs
xsm
sm
md
lg

ปม “ไฟใต้” ทุกหน่วยรู้ แต่ไม่แก้ นั่นหมายถึงการ “เลี้ยงไข้” หรือ “ไร้ฝีมือ”?!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย...ไม้ เมืองขม
 
ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ได้มาจากการก่อการร้ายของ “แนวร่วม” ขบวนการแบ่งแยกดินแดนเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากปัจจัยสนับสนุนอื่นๆ เช่น ขบวนการค้ายาเสพติด ขบวนการค้าน้ำมันเถื่อนและกลุ่มอิทธิพล รวมถึงผลประโยชน์อื่นๆ ที่มีทั้งส่วนสนับสนุนขบวนการ และยึด “วิกฤติ” เป็น “โอกาส” ของหลายๆ หน่วยงานในพื้นที่ เพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากความตาย ความทุกข์ยากของผู้เป็นเหยื่อสถานการณ์
 
โดยเฉพาะเรื่องการค้ายาเสพติดและน้ำมันเถื่อนที่ถูกหยิบยกขึ้นมา ซึ่งหน่วยงานแรกๆ ที่เห็นถึงภัยแทรกซ้อนและหยิบเอาปัญหานี้มาเป็นประเด็นคือ สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สปต.) ตั้งแต่ครั้งที่ นายภานุ อุทัยรัตน์ ยังดำรงตำแหน่งเลขาธิการศูนย์อำนวยการจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)
 
ต่อมา กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า โดย พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ (ยศและตำแหน่งในขณะนั้น) ได้หยิบยกเอาปัญหาการค้ายาเสพติดและขบวนการค้าน้ำมันเถื่อนมาเป็นเรื่องของ “ภัยแทรกซ้อน” มีการจัดตั้งหน่วยงานของ กอ.รมน.ขึ้นเพื่อ “ขจัด” ภัยแทรกซ้อนดังกล่าว เพราะมีหลักฐานเชื่อมโยงว่าทั้ง 2 ขบวนการมีความเชื่อมโยงกัน และเมื่อตรวจสอบเส้นทางการเงินพบว่า ทั้ง 2 ขบวนการส่งเงินสนับสนุนให้กับ ขบวนการแบ่งแยกดินแดนเพื่อก่อการร้ายและสร้างความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
ในขณะที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงก็ได้ออกมาขานรับว่า ขบวนการค้าน้ำมันเถื่อนและขบวนการค้ายาเสพติดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ล้วนเป็นภัยร้ายแรง เพราะนอกจากทำผิดกฎหมายและทำลายชาติแล้ว ยังสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายอีกด้วย
 
ที่สำคัญบุคคลที่ออกมาพูดถึงขบวนการค้าน้ำมันเถื่อนและยาเสพติดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า เป็นขบวนการที่เชื่อมโยงกับขบวนการแบ่งแยกดินแดน และเป็นส่วนหนึ่งของความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้คือ พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.
 
แม้แต่หน่วยงานของ ปปง. โดย พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ ได้ให้ข้อมูลว่าจังหวัดชายแดนภาคใต้มีการทำธุรกรรมการเงินนอกระบบกว่า 50,000 ล้านบาท เศรษฐกิจของที่นั่นจึงมีเงินหมุนเวียนที่มากกว่าหลายจังหวัดที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจแล้ว ทั้งที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้คือ ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลาคือ จะนะ เทพา นาทวีและสะบ้าย้อย เป็นพื้นที่ที่กำลังเกิดความไม่สงบ ซึ่งการเติบโตและการหมุนเวียนของเม็ดเงินสวนทางกับความเป็นจริง และมีหลักฐานว่าเป็นเงินจากการทำธุรกิจนอกกฎหมาย และ ปปง.มีหลักฐานว่า เป็นการเชื่อมโยงกับการก่อการร้ายด้วย
 
การที่ทุกหน่วยงานในพื้นที่ไม่ว่าจะเป็น สปต. ศอ.บต. กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และหน่วยงานในส่วนกลางอย่างรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และ ผบ.ทบ. ออกมาพูดในประเด็นปัญหาที่ตรงกัน แสดงว่าทุกหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการแก้ปัญหาความไม่สงบในชายแดนใต้ต่างรับทราบถึง “ภัย” ในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอย่างดี และย่อมจะมี “ข้อมูล” ของขบวนการค้ายาเสพติดและขบวนการค้าน้ำมันเถื่อนว่าประกอบด้วยใคร เช่น นายทุนกลุ่มไหน นักการเมืองพรรคใด ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ ฯลฯ
 
เมื่อรู้ปัญหา ทำไม่จึงไม่มีการแก้ปัญหา นี่คือประเด็นที่คนในพื้นที่ และเชื่อว่าคนทั้งประเทศ ต่างตั้งข้อสงสัย เพราะทุกท่าน ทุกหน่วยงาน ต่างพูดถึงประเด็น “ภัยแทรกซ้อน” ที่สนับสนุนการก่อการร้ายมากว่า 2 ปี แต่ทำไมจนถึงวันนี้ ทั้งขบวนการค้ายาเสพติดและน้ำมันเถื่อนยังคงดำเนินต่อไป แถมนับวันยิ่งเติบโตมากยิ่งขึ้นได้อย่างไม่เกรงกลัวกฎหมาย
 
ที่น่าแปลกคือ หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการป้องกันปราบปรามยาเสพติดอย่าง ตำรวจ และ ปปส. ไม่เคยมีผลงานปราบปรามยาเสพติดในชายแดนใต้ให้ปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นการจับรายเล็กหรือรายใหญ่ เช่นเดียวกับที่หน่วยงานที่รับผิดชอบการปราบน้ำมันเถื่อนนั่นคือ ศุลกากร สรรพสามิต ตำรวจ รวมทั้งสำนักงานพลังงานในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นเส้นทางลักลอบนำเข้าน้ำมันเถื่อน ต่างก็ไม่ได้สนใจกับการป้องกันและจับกุมขบวนการลักลอบค้าน้ำมันเถื่อนแต่อย่างใด
 
ช่องทางนำเข้าน้ำมันเถื่อนในชายแดนใต้มีเพียง 2 ช่องทางคือ ทางทะเลด้านอ่าวไทย และด้านอันดามันที่ จ.สตูล ซึ่งในแต่ละคืน แต่ละวันจะมีเรือประมงดัดแปลงเพื่อขนน้ำมันเถื่อนขนาดใหญ่จอดอยู่กลางทะเลเพื่อนำมาขึ้นฝั่งขายให้กับลูกค้า โดยเรือเหล่านั้นจะนำน้ำมันเถื่อนขึ้นฝั่งทั้งในพื้นที่อำเภอต่างๆ ที่ติดทะเลไม่ว่าจะใน จ.นราธิวาส จ.ปัตตานี จ.สงขลา และ จ.สตูล ซึ่งมีท่าเทียบเรือเป็นจำนวนมากถูกใช้เป็นสถานที่ขนถ่ายน้ำมันเถื่อนทั้งกลางวันและกลางคืน แต่เจ้าหน้าที่กลับมองไม่เห็น
 
ส่วนการลักลอบทางรถยนต์นั้น มีการใช้รถยนต์ดัดแปลงติดตั้งถังให้สามารถบรรทุกน้ำมันเบนซินและดีเชล ได้ตั้งแต่ 200 ลิตร จนถึง 2,000 ลิตร ซึ่งขับผ่านด่านตรวจศุลกากรทั้งที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส อ.สะเดา อ.นาทวี จ.สงขลา และ อ.ควนโดน จ.สตูล โดยในแต่ละจังหวัดมีรถดัดแปลงที่เข้า-ออกระหว่างด่านพรมแดนไทย-มาเลเซีย ด่านละไม่น้อยกว่า 500 คันต่อวัน แถมวิ่งกันคันละหลายเที่ยว เพื่อนำไปรวมในคลังน้ำมันเถื่อนในพื้นที่ชายแดนไทย เพื่อรอส่งต่อนายทุนรายใหญ่
 
เช่นเดียวกับยาเสพติดที่ขณะนี้ไม่มีหมู่บ้านไหนในชายแดนใต้ที่เป็นหมู่บ้าน “ปลอดยาเสพติด” มีการเสพย์ มีการซื้อ-ขาย และมีคนเดินยาได้อย่างอิสระ เพราะไม่มีการตรวจค้นจับกุม มีการปล่อยให้เมืองชายแดน เช่นที่ ต.สำนักขาม อ.สะเดา จ.สงขลา หรือที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ผุดสถานบันเทิงกันได้อย่างมากมาย ขายยาและเป็นที่เสพยาของชาวต่างชาติอย่างเสรี จนเป็นที่รู้กันว่าพื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่ “ปลอดกฎหมาย”
 
ในขณะที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ในฐานะที่มีหน้าที่ต้องขจัดภัยในกลุ่มของ “ภัยแทรกซ้อน” โยตรงก็ไม่ได้ทำหน้าที่ปราบปรามอย่างจริงจัง เพราะรถบรรทุกน้ำมันเถื่อน รถของเครือข่ายยาเสพติด ยังคงขับผ่านด่านตรวจที่มีอยู่มากมายโดยไม่มีการตรวจจับ และหลายแห่งที่มีการตั้งจุดตรวจก็กลับมีการจำหน่ายทั้งน้ำมันเถื่อนและค้ายาเสพติดกันคึกคัก
 
อะไรเกิดขึ้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำไมเมื่อรู้ถึงต้นเหตุ แต่ไม่มีการ “ขจัด” สิ่งที่เป็นต้นเหตุของความรุนแรงและเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการก่อการร้าย หรือสิ่งเหล่านี้กระมังที่คนในพื้นที่กล่าวหาว่า สถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นเป็นเพราะมีการ “เลี้ยงไข้” จากเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานที่ต่างมุ่งหวัง “กำไร” จากความ “หายนะ” ของแผ่นดิน.
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น