xs
xsm
sm
md
lg

7 เงื่อนไขใหม่ BRN “สังคมไทย” ต้องใช้ “สติ” พิจารณา?! / ไชยยงค์ มณีพิลึก

เผยแพร่:

 
คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
 
ถ้าการเปิดพื้นที่พูดคุยเพื่อสันติภาพระหว่างสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ตัวแทนรัฐไทย กับนายฮาซัน ตอยิบ ตัวแทนกลุ่มคนผู้เห็นต่างแห่งขบวนการบีอาร์เอ็น โคออดิเนต (BRN-C) ที่เริ่มต้นมาตั้งวันที่ 28 ก.พ.2556 ถือว่าเป็น “ข่าวดี” เนื่องจากมีการ “เห็นด้วย” และ “ตอบรับ” จากสังคมเล็กๆ ของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างคึกคัก และมีเสียงสนับสนุนจากสังคมใหญ่ของประเทศในระดับที่ดียิ่ง เพราะทุกฝ่ายเห็นว่าการต่อสู้ด้วยกำลังพล และอาวุธของกองทัพที่ผ่านมา 9 ปียังมองไม่เห็น “ทางออก” และไม่มีแม้แต่ “แสงริบหรี่ที่ปลายอุโมงค์”
 
แต่สุดท้ายการยื่นข้อเสนอ 7 ข้อครั้งหลังสุดของบีอาร์เอ็น-ซี ผ่านยูทิวบ์เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการเรียกร้องให้รัฐไทยถอนทหารจากกองทัพภาคที่ 1, 2 และ 3 รวมทั้งทหารพรานออกจากพื้นที่ การให้กองทัพหยุดปฏิบัติการทุกอย่างในพื้นที่ โดยให้กำลังพลกลับเข้าประจำที่ตั้ง การยกเลิกจุดตรวจ หรือจุดสกัดบนถนน การให้หน่วยงานของรัฐหยุดกิจกรรมในเดือนรอมฎอน การให้พื้นที่ 3 จังหวัดคือ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส กับ 5 อำเภอของ จ.สงขลา หยุดการจำหน่ายของมึนเมา
 
และที่สำคัญคือ ขอให้นายกรัฐมนตรี ลงนามในข้อเสนอทั้ง 7 ข้อ โดยนัยคือ ให้รวมข้อเสนอ 5 ข้อเดิมที่บีอาร์เอ็น-ซี เคยเสนอผ่านยูทิวบ์ และโต๊ะการพูดคุยสันติภาพมาแล้วในการประชุมเมื่อวันที่ 29 พ.ค.ที่ผ่านมาด้วย
 
ข้อเสนอทั้ง 7 ข้อใหม่นี้นับเป็น “ข่าวร้าย” ในความรู้สึกของกองทัพ และเป็นข่าวที่สังคมใหญ่ของประเทศนี้ต่างออกมาพูด และแสดงความเห็นในเสียงเดียวกันว่า “รับไม่ได้” และหลายคนมีความเห็นต่อท้ายว่า นายฮาซัน ตอยิบ เหิมเกริมเกินไปแล้ว และมีท่าทีจะใช้ข้อเสนอทั้ง 7 ข้อเพื่อล้มเลิกการพูดคุยสันติภาพ เพราะบีอาร์เอ็น-ซี รู้เต็มอกว่า ข้อเสนอแบบนี้กองทัพไม่ได้ เมื่อกองทัพรับไม่ได้ รัฐบาลย่อมไม่รับเช่นกัน เนื่องจาก ณ วันนี้ กองทัพยังมีอำนาจเหนือรัฐบาลในเรื่องของนโยบายความมั่นคง
 
แต่ถ้ากลับไปอ่านข้อเรียกร้องทั้งหมดของนายฮาซัน ตอยิบ ที่เรียกร้องในนามของบีอาร์เอ็น-ซี และในนามของตัวแทนคนเชื้อชาติมลายูปาตานีตามที่บีอาร์เอ็น-ซี กล่าวอ้าง เราก็จะพบว่า ข้อเรียกร้องส่วนใหญ่ไม่ใช่ข้อเรียกร้องของบีอาร์เอ็น-ซี แต่เป็นข้อเรียกร้องของประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่างหาก
 
อย่างการขอให้ถอนกำลังทหารจากกองทัพภาคที่ 1, 2 และ 3 ออกจากพื้นที่ เป็นเรื่องที่ตัวแทนประชาชน ผู้นำศาสนา และคนกลุ่มอื่นๆ เรียกร้องกันมากว่า 5 ปีแล้ว โดยเฉพาะสภาที่ปรึกษาการพัฒนาและการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สปต.) ซึ่งเป็นตัวแทนของภาคประชาชนทุกสาขาอาชีพในพื้นที่ได้นำข้อเรียกร้องส่งไปให้กองทัพ กอ.รมน. รัฐสภา และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด
 
เช่นเดียวกับข้อเรียกร้องไม่เอาทหารพราน และข้อเรียกร้องอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการไม่เอา “อบายมุข” ในพื้นที่ หรือเรียกร้องให้เลิกการตั้งจุดตรวจ หรือปรับปรุงให้เกิดความชัดเจน และเป็นธรรมในการตรวจค้น และการจัดกิจกรรมต่างๆ ของหน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวกับเดือนรอมฎอน หรือการห้ามเวลาของการถือศีลอดของผู้นับถือศาสนาอิสลาม
 
ซึ่งข้อเสนอเหล่านี้คนส่วนใหญ่ที่ “ลึกซึ้ง” ในหลักศาสนาเห็นว่าไม่ถูกต้อง และเป็นการรบกวน แต่เขาปฏิเสธไม่ได้ เพราะหากปฏิเสธเท่ากับไม่ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐ
 
ดังนั้น ในข้อเรียกร้องของนายฮาซัน ตอยิบ ที่เรียกร้องในนามของบีอาร์เอ็น-ซี นั้น มีเพียงเรื่องของความ “เลยเถิด” ที่ต้องทำความเข้าใจกันไม่กี่เรื่องเท่านั้น เช่น การขยายพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ไปเป็น 3 จังหวัดชายแดนใต้ กับ 5 อำเภอของ จ.สงขลา ซึ่งหมายความว่า วันนี้บีอาร์เอ็น-ซี ได้เหมารวมเอาพื้นที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เข้าไปอยู่ในพื้นที่ปฏิบัติการอยู่ด้วย
 
ตรงนี้จึงต้องถามกลับไปยังนายฮาซัน ตอยิบ ที่มักจะบอกว่า ทุกอย่างเป็นความเห็นของพี่น้องเชื้อชาติมลายูปาตานีว่า พี่น้อง หรือประชาชนใน อ.หาดใหญ่เห็นด้วยกับบีอาร์เอ็น-ซี หรือไม่ ที่จะเอา อ.หาดใหญ่ไปรวมอยู่กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา อันเป็นพื้นที่เป้าหมายของการปฏิบัติการ
 
เช่นเดียวกับการเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี ของรัฐไทยลงนามในข้อเรียกร้องทั้ง 7 ข้อนั้น นายฮาซัน ตอยิบ และคณะกรรมการพูดคุยสันติภาพคงจะลืมบทบาทของผู้ประสานงานอย่างตัวแทนของรัฐบาลมาเลเซียไปแล้วว่า ในการประชุมครั้งล่าสุด รัฐบาลมาเลเซียเองก็ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว เพราะโดยข้อเท็จจริง วันนี้เวทีการพูดคุยสันติภาพยังเป็นเวทีที่ “ไม่เป็นทางการ” ยังไม่ใช่การ “เจรจา” ที่จะต้องมีประเทศที่เป็นกลางเป็นกลาง และระดับรัฐบาลต้องลงนาม
 
หากจะมีการพูดคุยครั้งต่อไป หรือต้องการให้มีการพูดคุยฉุกเฉินเกิดขึ้นเพื่อคลี่คลายประเด็นร้อนที่มาจากข้อเรียกร้องทั้ง 7 ข้อของบีอาร์เอ็น-ซี พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช. ต้องทำความเข้าใจกับนายฮาซัน ตอยิบ และพลพรรคให้ชัดเจน
 
เชื่อว่าบรรยากาศของสังคมส่วนใหญ่ของประเทศไทยน่าจะดีกว่านี้ถ้า นายฮาซัน ตอยิบ จะหยุดให้คำว่า “นักล่าอาณานิคม” เพราะวันนี้เราไม่ต้องการนำเรื่องอดีต ซึ่งยังไม่มีการชี้ว่าใครผิด-ใครถูกมาเป็นหัวข้อการพูดคุย แต่เราพูดคุยเพื่อความสงบ และความสันติในอนาคต เช่นเดียวกับที่บีอาร์เอ็น-ซี ขอให้รัฐไทยหยุดใช้คำว่า “ผู้แบ่งแยกดินแดน”
 
อีกทั้งหากต้องการบรรยากาศแห่งสันติอย่างแท้จริงให้เกิดขึ้นบนโต๊ะการพูดคุย หรือบนเอกสารที่ใช้ในการสื่อสาร ต้องไม่มีคำว่า “นักล่าอาณานิคม” เข้ามาเกี่ยวข้อง
 
โดยเฉพาะหากทั้งรัฐไทย และบีอาร์เอ็น-ซี ต้องการใช้สัญลักษณ์ของเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นเดือนแห่งความศักดิ์สิทธิ์ เดือนแห่งความดีงาม เดือนแห่งการให้อภัย เพื่อการเริ่มต้นของการยุติความรุนแรงทั้งหมดทั้งปวง ทั้งสองฝ่ายจะต้องไม่ตั้งกำแพง หรือไม่สร้างเงื่อนไขเพื่อเป็นการ “ต่อรอง” ระหว่างกันและกัน เพราะหากมีเงื่อนไขที่มีลักษณะของการต่อรองเกิดขึ้น เช่น นายกรัฐมนตรีต้องลงนามภายในวันที่ 3 ก.ค.นี้ แสดงว่านั่นเป็นการ “บีบบังคับ” โดยการใช้ “คนในพื้นที่เป็นตัวประกัน” ซึ่งในที่สุดแล้ว ก็จะกลายเป็นว่า เราต่างไม่เชื่อใจซึ่งกันและกัน และกลายเป็นกำแพงที่อาจจะปิดกั้นการพูดคุยระหว่างกันในอนาคต
 
ดังนี้แล้ว การที่รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมก็ดี ผบ.ทบ.ก็ดี และรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงก็ดี ที่ดาหน้าออกมาตอบโต้นายฮาซัน ตอยิบ ในข้อเรียกร้องทั้ง 7 ข้อ จึงเป็นเรื่องที่อาจจะ “ร้อนรน” โดยไม่ได้ “ตั้งหลัก” ให้มั่น และจะนำมาซึ่งความ “เพลี่ยงพล้ำ” ในเรื่องของมวลชนในพื้นที่ เนื่องจากข้อเรียกร้องส่วนใหญ่ใน 7 ข้อเป็นความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ และได้นำเสนอต่อรัฐบาลมาโดยตลอด แต่รัฐบาล และกองทัพไม่ได้ให้ความสนใจตอบสนอง
 
วันนี้ความต้องการของประชาชนจึงเปลี่ยนมือไปยังบีอาร์เอ็น-ซี และกลายเป็น “ความตระหนกตกใจ” ของกองทัพ และสังคมใหญ่ของประเทศ ในขณะที่สังคมเล็กๆ อย่างคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เข้าใจถึงปัญหา และเห็นถึงความล้มเหลวของการแก้ปัญหา รวมทั้งเป็นผู้รับเคราะห์จากสถานการณ์ความรุนแรงยังเห็นว่า ข้อเสนอทั้ง 7 ข้อเป็นเรื่องที่ต้องนำมาพิจารณาร่วมกัน และต้องทำความเข้าใจกับบีอาร์เอ็น-ซี ในบางข้อ ซึ่งในวันนี้ยังไม่ถึงเวลาที่รัฐไทยจะทำ
 
ดังนั้น ทุกฝ่ายจึงไม่ควรใช้อารมณ์ และความรู้สึกเป็นที่ตั้ง เพราะสุดท้ายแล้วทางออกในการเดินหน้าเพื่อพูดคุยสันติภาพก็จะมีแต่ “ทางตัน” เพราะการ “รบกันไป พูดคุยกันไป” ยังดีกว่าที่ทั้งสองฝ่ายจะทำสงครามเข่นฆ่ากันอย่างเดียว เพราะนั่นหมายถึงชีวิตของประชาชนผู้บริสุทธิ์คือ “ตัวประกัน” ของการค้าสงครามนั่นเอง
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น