xs
xsm
sm
md
lg

มติคณะทำงานพิจารณาแนวทางพูดคุยสันติภาพให้ BRN ปลอดอาวุธแลกการถอนทหาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - มติคณะทำงานพิจารณาแนวทางพูดคุยสันติภาพรัฐไทย กับบีอาร์เอ็น ให้บีอาร์เอ็นปลอดอาวุธแลกการถอนทหาร เตือนเจ้าหน้าที่ระดับสูงส่วนกลางระวังคำพูดที่อ่อนไหว

รายงานข่าวจากที่ประชุมคณะทำงานพิจารณาแนวทางการพูดคุยเพื่อสันติภาพ ระหว่างรัฐบาลไทย กับผู้มีความเห็นต่างกันนัดพิเศษ ที่ ศอ.บต. จ.ยะลา วานนี้ (27 มิ.ย.) เพื่อพิจารณาข้อเสนอของกลุ่มบีอาร์เอ็น 7 ข้อ เกี่ยวกับข้อตกลงกันว่า จะลดความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และ 5 อำเภอใน จ.สงขลา ตลอดช่วงเดือนรอมฎอน ในปี 2556 เพื่อเสนอให้แก่เลขาธิการ ศอ.บต. และผู้ที่เกี่ยวข้องการพิจารณาข้อเสนอของกลุ่มบีอาร์เอ็น ทุกฝ่ายต้องมีความเป็นกลาง ไม่ลำเอียงเข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ต้องอยู่ภายใต้หลักฐาน และข้อเท็จจริงที่ปรากฏ

รายงานข่าวแจ้งว่า ชาวบ้านยังมองว่าความรุนแรงของพื้นที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งมาจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ กลุ่มบีอาร์เอ็นเสนอให้ฝ่ายรัฐถอนทหารออกจากพื้นที่ ถ้าหากมีความรุนแรงในเดือนรอมฎอน ต้องมีการตรวจสอบให้ชัดเจนว่า เป็นการกระทำของฝ่ายใด ให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ในลักษณะนอกเครื่องแบบ เหมือนกับประเทศมาเลเซีย ไม่ใช่แบบของไทยที่มีแต่อาวุธ รถถัง ทำให้เกิดภาพลักษณ์ไม่ดี และการทำงานไม่มีประสิทธิภาพ และการถอนทหารออกจากพื้นที่ต้องมีขั้นตอน ห้วงเวลาที่ชัดเจนไม่ใช่ถอนแบบทันที

รายงานข่าวที่ประชุมระบุว่า ถ้าจะให้มีการถอนทหารออกจากพื้นที่ ก็จะต้องให้กลุ่มบีอาร์เอ็นวางอาวุธ และมอบตัวด้วย เพื่อแสดงความจริงใจต่อกัน ซึ่งถ้าเป็นไปได้ให้มีขึ้นในเดือนรอมฎอน และในเดือนรอมฎอนต้องเป็นเดือนที่ปลอดจากอบายมุข ต้องควบคุมมิให้ส่งเสริมอบายมุข แต่จะไปห้ามเด็ดขาดไม่ได้ เนื่องจากเป็นสิทธิของคนต่างศาสนิกอื่นที่ไม่ใช่มุสลิม เช่น การจำหน่ายสุรา

รายงานข่าวแจ้งว่า ข้อเสนอของบีอาร์เอ็น นักล่าอาณานิคมสยามต้องถอนกำลังทหารและทหารพรานที่มาจากภาค 1, 2 และ3 ทั้งหมด และเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ถูกส่งมาจากศูนย์กลาง (ภาคกลาง) ออกจากปาตานี คือ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 5 อำเภอใน จ.สงขลา แม่ทัพภาค 4 ต้องถอนทหาร และทหารพรานออกจากเขตหมู่บ้านในปาตานีคือ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 5 อำเภอใน จ.สงขลา ให้อยู่ค่ายใหญ่ของแต่ละหน่วย และให้ (รัฐสยาม) ถอนกำลังตำรวจและตำรวจชายแดนออกจากเขตหมู่บ้านในปาตานีคือ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 5 อำเภอใน จ.สงขลา

ที่ประชุมมีมติว่า ให้กลับไปในฐานที่มั่น หรือกองบัญชาการของหน่วยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนการถอนทหารจากกองทัพภาคที่ 1, 2 และ 3 และตำรวจจะถอนให้หมดจากพื้นที่หรือไม่อย่างไร จะต้องคุยกันในรายละเอียดอีกครั้ง ภายหลังสิ้นสุดเดือนรอมฎอน การถอนจะต้องมีขั้นตอน ห้วงเวลาที่ชัดเจน ไม่ใช่ถอนแบบทันที ส่วนทหาร และทหารพรานจากกองทัพภาคที่ 4 สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามปกติในพื้นที่ แต่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะการปฏิบัติงานในหมู่บ้าน

“ข้อเสนอที่ให้ปล่อยบรรดา อส.ที่นับถือศาสนาอิสลาม (ไม่ให้ประจำการ) ตลอดช่วงเดือนรอมฎอนเพื่อที่จะพวกเขาสามารถปฏิบัติศาสนกิจ และสามารถใช้ชีวิตกับครอบครัวได้อย่างสมบูรณ์ แต่ให้ประจำการ และปฏิบัติหน้าที่ตามปกติตลอดช่วงเดือนรอมฎอน ไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่ต้องสามารถปฏิบัติศาสนกิจและสามารถใช้ชีวิตกับครอบครัวได้อย่างสมบูรณ์”

รายงานข่าวกล่าวว่า ที่ประชุมพิจารณาข้อเสนอบีอาร์เอ็น นักล่าอาณานิคมสยามไม่สามารถทำการโจมตี การสกัดถนน และการจับ/ควบคุมตัวอย่างเด็ดขาด หน่วยกองกำลังในพื้นที่สามารถปฏิบัติราชการตามปกติ แต่ให้ลดการปิดล้อม ตรวจค้นในพื้นที่หมู่บ้าน ยกเว้นถนนสายหลัก ต้องมีการตรวจค้นรถยนต์ การตั้งด่านตรวจค้นตามปกติเหมือนกับจังหวัดอื่น

“นักล่าอาณานิคมไม่สามารถจัดกิจกรรมทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับเดือนรอมฎอน ให้ ศอ.บต./จังหวัด แจ้งส่วนราชการที่เกี่ยวข้องให้งดเว้นการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเดือนรอมฎอน เรื่องการอบรมสัมมนา การแสดงพลังมวลชน เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้ปฏิบัติศาสนกิจในเดือนรอมฎอนได้อย่างเต็มที่ และสมบูรณ์ อีกทั้งประเด็นอ่อนไหวที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมือง อาจถูกฝ่ายค้านโจมตี และต่อไปถ้าหากเป็นไปได้ต้องให้ประเทศมาเลเซียเห็นชอบด้วย”

รายานข่าวระบุว่า ที่ประชุมได้มีมติให้มีการแต่งตั้งคณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีพิเศษ เพื่อรวบรวมข้อมูลนำมาวิเคราะห์ กำหนดท่าที ข้อเสนอแนะ และแนวทางต่อคณะผู้แทนไทยที่ไปพูดคุยกับผู้เห็นต่าง และการให้สัมภาษณ์ของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของไทย ต้องระมัดระวังคำพูด การพาดพิงเกี่ยวกับประเด็นที่อ่อนไหว เช่น ถ้ากลุ่มบีอาร์เอ็นไม่สามารถดำเนินการยุติความรุนแรงได้ในเดือนรอมฎอน ก็อาจต้องยุติการพูดคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็น และไปคุยกับกลุ่มอื่นแทน

รายงานข่าวแจ้งว่า สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สปต.) ได้เคยนำเสนอข้อมูล และรวบรวมข้อมูลจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ อีกทั้งข้อเสนอของบีอาร์เอ็น สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่อยู่แล้ว ยกเว้นบางประเด็นที่เป็นข้อเสนอใหม่ การเสนอให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับรองขอบเขตเงื่อนไขในการพูดคุย และทำเป็นประกาศ ในวันที่ 3 กรกฎาคม 2556 ในทางปฏิบัติ นายกรัฐมนตรี อาจมอบหมายให้ผู้อื่นทำหน้าที่แทนในการลงนามเกี่ยวกับขอบเขต และเงื่อนไขของการพูดคุย แต่ในขณะนี้ยังไม่ถึงเวลาที่เหมาะสม ต้องมีการกลั่นกรองข้อมูลที่ถูกต้อง และไม่สามารถประกาศขอบเขต และเงื่อนไขการลงนามได้ในวันที่ 3 กรกฎาคม 2556 การถอนทหาร และทหารพรานที่มาจาก ภาค 1, 2 และ 3 ทั้งหมด และตำรวจ จากศูนย์กลาง (ภาคกลาง) ให้กลับไปในฐานที่มั่น หรือกองบัญชาการของหน่วยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

“ข้อเสนอแนะต่อคณะผู้แทนไทยประสานกับประเทศผู้อำนวยความสะดวกคือ ประเทศมาเลเซีย เพื่อนัดหมายกลุ่มบีอาร์เอ็นคุยนอกรอบ ก่อนที่จะทำความตกลงโดยผู้ที่จะคุยนอกรอบ ควรจะเป็นเลขาธิการ สมช. เลขาธิการ ศอ.บต. รองปลัดกระทรวงกลาโหม สรุปประเด็นสำคัญ/มติที่ประชุม ของการประชุมคณะทำงานพิจารณาแนวทางการพูดคุย”
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น