รอยเตอร์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - สำนักข่าวรอยเตอร์เผยแพร่รายงานพิเศษในวันอังคาร(26)เกี่ยวกับสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย โดยอ้างมุมมองของสมาชิกขบวนการก่อความไม่สงบในพื้นที่ซึ่งยังคงเชื่อว่าการเปิดเจรจาสันติภาพที่มีมาเลเซียเป็นตัวกลาง ระหว่างทางการไทยกับแกนนำกลุ่มแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ (บีอาร์เอ็น) ซึ่งกำลังจะเปิดฉากขึ้นในวันพฤหัสบดี (28) นั้น ถือเป็นความพยายามที่ “ไร้ความหมาย” ในการยุติหนึ่งในความขัดแย้งที่นองเลือดที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ดำเนินมากว่า 9 ปีและมีผู้ต้องสังเวยชีวิตไปแล้วมากกว่า 5,300 คน
รายงานของรอยเตอร์ระบุว่า หลังกลุ่มติดอาวุธในพื้นที่ซึ่งนำโดยมะรอโซ จันทรวดี วัย 31 ปี พร้อมพวกก่อเหตุบุกโจมตีฐานปฏิบัติการของทหารนาวิกโยธินที่บ้านยือลอ ตำบลบาเระเหนือ ในอำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาสเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ ซึ่งจบลงด้วยการตอบโต้อย่างเด็ดขาดของนาวิกโยธินไทย จนผู้ก่อเหตุ 16 รายถูกปลิดชีพภายในเวลาเพียง 30 นาทีนั้น ในระยะเวลากว่า 2 สัปดาห์ต่อมารัฐบาลไทยก็ได้บรรลุข้อตกลงในการเปิดเจรจาสันติภาพที่มาเลเซียกับแกนนำของกลุ่มบีอาร์เอ็น และแม้การเจรจารอบแรกกำลังจะเปิดฉากในวันพฤหัสบดี (28) แต่เหตุรุนแรงและการต่อสู้ในพื้นที่ยังคงไม่ยุติ ขณะที่ผู้คนในพื้นที่ยังคงไม่เชื่อว่าเหตุนองเลือดคงไม่สามารถยุติได้ในเร็ววัน
ในการเปิดใจกับแอนดรูว์ อาร์.ซี. มาร์แชลล์ แห่งรอยเตอร์นั้น สมาชิกระดับปฏิบัติการซึ่งใช้ชื่อจัดตั้งว่า “อับดุลเลาะห์” ของกลุ่ม “บีอาร์เอ็น-โคออร์ดิเนต” ที่แตกหน่อออกมาจากกลุ่มบีอาร์เอ็นและถูกตราหน้าว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความรุนแรงส่วนใหญ่ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ยอมรับว่าการเจรจาสันติภาพที่กำลังจะเกิดขึ้นระหว่างทางการไทยกับแกนนำบีอาร์เอ็นที่กรุงกัวลาลัมเปอร์นั้น “ไร้ความหมาย” พร้อมย้ำว่านักรบมาเลย์-มุสลิมนับหมื่นคนจะยังคงจับอาวุธต่อสู้กับทางการไทยต่อไป
อับดุลเลาะห์ยังเผยกับรอยเตอร์ว่า บรรดาแกนนำรุ่นอาวุโสของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่กำลังประสบความยากลำบากในการควบคุมพวกนักรบสายเลือดใหม่อย่างมะรอโซ จันทรวดี ซึ่งทำให้เกิดข้อสงสัยว่า แกนนำกลุ่มบีอาร์เอ็นจะมีศักยภาพมากน้อยเพียงใดในการสนองตอบต่อความต้องการของเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยที่ต้องการให้ยุติเหตุนองเลือดในพื้นที่
รายงานของรอยเตอร์ได้ฉายภาพให้เห็นว่า มะรอโซ จันทรวดี สมาชิกที่ถูกสังหารใน “พื้นที่สีแดง” อย่างอำเภอบาเจาะ ได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการแบ่งแยกระหว่างไทยพุทธกับชาวมุสลิมในจังหวัดชายแดนใต้ สำหรับพวกที่ร่วมอุดมการณ์เดียวกันเขากลายเป็นวีรบุรุษที่สละชีพในการทำสงครามอันศักดิ์สิทธิ์กับรัฐบาลไทย แต่ในขณะเดียวกัน มะรอโซก็ถูกมองเป็น “ฆาตกร” ในสายตาของอีกฝ่ายเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะข้อกล่าวหาของทางการที่ว่า มะรอโซ คือผู้อยู่เบื้องหลังเหตุโจมตีที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 25 คนตลอดระยะเวลา 8 ปีหลังสุด
สมาชิกบีอาร์เอ็น-โคออร์ดิเนต ที่ใช้ชื่อจัดตั้งว่าอับดุลเลาะห์ ในวัยประมาณ 60 ปี ซึ่งนัดเปิดใจกับทีมงานของรอยเตอร์ ที่ร้านน้ำชาแห่งหนึ่งในจังหวัดยะลา ยังระบุว่าในความเป็นจริงแล้วมะรอโซถูกห้ามไม่ให้เปิดฉากโจมตีฐานปฏิบัติการของนาวิกโยธินที่บาเจาะ แต่มะรอโซก็ไม่ยอมฟังเสียงทัดทานจากแกนนำรุ่นอาวุโสที่มองว่า แผนโจมตีดังกล่าวเสี่ยงเกินไป และในที่สุดการดึงดันของมะรอโซก็นำไปสู่จุดจบ โดยในจำนวนผู้ก่อเหตุ 16 คนที่เสียชีวิตนั้น มีถึง 9 คน (รวมนายมะรอโซ) ที่เป็นนักรบในระดับ “คอมมานโด” ที่มีอาวุธครบมือ
ด้านแอนโธนี เดวิส นักวิเคราะห์ซึ่งมีฐานในไทย จากบริษัทที่ปรึกษาด้านความมั่นคง “ไอเอชเอส-เจนส์” เผยว่า ปฏิบัติการโจมตีฐานนาวิกโยธินที่บาเจาะ แสดงให้เห็นความพยายามของกลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่ที่ต้องการยกระดับปฏิบัติการทางทหารของพวกตนไปสู่ระดับที่สูงขึ้น โดยจำนวนครั้งของการก่อเหตุอาจน้อยลงเมื่อเทียบกับช่วงปีแรกๆ แต่การโจมตีในช่วงหลังมักมีการวางแผนที่รัดกุมมากขึ้น และมุ่งหวังให้เกิดการสูญเสียต่อฝ่ายตรงข้ามสูงขึ้น
ขณะที่ ดันแคน แม็กคาร์โก ผู้เชี่ยวชาญจากสหราชอาณาจักร เจ้าของผลงานเขียนเกี่ยวกับความขัดแย้งในพื้นที่ชายแดนใต้ของไทยเรื่อง “Tearing Apart the Land” ให้ความเห็นว่า บรรดาสมาชิกของขบวนการติดอาวุธในพื้นที่ได้เริ่มแตกตัวออกเป็นหน่วยปฏิบัติการขนาดย่อย ซึ่งแต่ละหน่วยต่างมีอิสระในการสร้างความรุนแรง โดยแม็กคาร์โกย้ำว่า ความพยายามในการนำสันติมาสู่ชายแดนใต้นั้นหากปราศจากความช่วยเหลือของรัฐบาลมาเลเซียแล้วก็คงเหมือนความพยายามในการแก้ปัญหาไอร์แลนด์เหนือโดยที่ไม่มีการดึงสาธารณรัฐไอร์แลนด์เข้ามาร่วม และถึงเวลาแล้วที่ทางการไทยจะต้องยุติการกล่าวโทษต่อมาเลเซียว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในลักษณะของสายสัมพันธ์ข้ามพรมแดนในช่วงที่ผ่านมา และฝ่ายไทยต้องพร้อมร่วมมือกับมาเลเซียในการแก้ปัญหา
นอกจากนั้น ทั้งอับดุลเลาะห์และแม็กคาร์โกต่างมีความเห็นที่สอดคล้องกันว่า “ฮัสซัน ตอยิบ” ตัวแทนหลักของบีอาร์เอ็นในการเจรจาสันติภาพ ที่อ้างว่าเป็นหัวหน้าฝ่ายประสานงานของบีอาร์เอ็นในมาเลเซียนั้น ไม่ได้เป็นผู้ที่มีอำนาจที่แท้จริงในการควบคุมสั่งการเหล่านักรบในพื้นที่ อีกทั้งในอดีตที่ผ่านมาทางการไทยก็มักใช้วิธีการพูดคุยในทำนองนี้เพื่อหวังจะระบุตัวแกนนำของกลุ่มเคลื่อนไหวฝ่ายตรงข้าม ก่อนที่จะดึงตัวมาเป็นแนวร่วมหรือกำจัดทิ้ง ดังนั้นจึงมิใช่เรื่องแปลกที่สมาชิกกลุ่มติดอาวุธในพื้นที่จะตั้งข้อสงสัยถึงการเจรจาสันติภาพครั้งนี้
ขณะที่อับดุลเลาะห์ซึ่งจับอาวุธต่อสู้กับทหารไทยมายาวนานเผยว่า เขาต้องการให้รัฐบาลไทย “ขอโทษ” กับการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่กระทำต่อคนในพื้นที่ในอดีต และยอมรับในเรื่อง “มาตุภูมิมลายู” ของประชาชนในชายแดนใต้ แต่อับดุลเลาะห์ไม่คาดหวังถึงผลสำเร็จของความต้องการในการแยกตัวเป็น “รัฐอิสระ” เพราะดูเหมือนแนวทางการยุติความขัดแย้งใดๆ ที่อาจมีขึ้นนั้น น่าจะออกมาในลักษณะของการให้อำนาจในการปกครองตนเองในระดับที่สูงขึ้น สำหรับจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส จากเดิมที่รูปแบบการปกครองพื้นที่จะเน้นการรวมศูนย์จากอำนาจส่วนกลางที่กรุงเทพฯเป็นหลัก
อย่างไรก็ดี ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าฝ่ายไทยจะยอมเสนอโอกาสในการปกครองตนเองในระดับที่สูงขึ้นหรือจะยอมเสนอข้อแลกเปลี่ยนอื่นใดที่จะช่วยให้การเจรจาสันติภาพครั้งนี้ประสบผลสำเร็จ มากกว่าการเจรจาแบบกึ่งเป็นความลับหลายครั้งนับตั้งแต่ปี 2005 หรือไม่ และการเอาชนะใจคนในพื้นที่ยังถือเป็นความท้าทายที่สำคัญที่สุดของทางการไทย