โดย...ศูนย์ข่าวหาดใหญ่
ปัญหาความไม่สงบของจังหวัดชายแดนภาคใต้ อันนำมาซึ่งแนวคิดในการแบ่งแยกดินแดนของกลุ่มคนผู้ “เห็นต่าง” เป็นเรื่องที่สลับซับซ้อนกว่าปัญหาของประเทศอื่นๆ ในอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นที่ “อาเจะห์” ของประเทศอินโดนีเซีย “มินดาเนา” ของประเทศฟิลิปปินส์ หรือแม้กระทั่ง “ติมอร์” ที่แยกเป็นประเทศจากอินโดนีเซียไปแล้ว
นับร้อยปีที่ผ่านมาของความไม่สงบในแผ่นดินปลายด้ามขวาน สิ่งที่ขบวนการผู้เห็นต่างหยิบยกขึ้นมาใช้เป็นเครื่องมือสร้างอุดมการณ์ในการปลุกระดม คือเรื่องของ “ปัตตานี” “มลายู” และ “อิสลาม” หรือประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ และศาสนา อันเป็นอาวุธที่ทรงพลังของขบวนการที่สามารถทำให้สถานการณ์ใน 4 จังหวัดชายแดนใต้ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา สับสนอลหม่าน จนรัฐบาลต้องใช้ “กฎอัยการศึก” ใช้ “พ.ร.ก.ฉุนเฉินฯ” ใช้กำลังทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครองกว่า 100,000 นาย ในการแก้ปัญหา
แต่ที่สำคัญตลอดระยะเวลา 9 ปีที่ผ่านไป มีผู้คนล้มตายกับสงคราม “อสมมาตร” ไปแล้ว 5,000 กว่าคน บาดเจ็บ และพิการกว่า 10,000 คน โดยเฉพาะครูที่เป็น “จุดอ่อน” ในพื้นที่เสียชีวิตแล้ว 158 ศพ ซึ่งมากกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียนที่มีปัญหาการก่อการร้ายเพื่อแบ่งแยกดินแดนเช่นเดียวกับประเทศไทย
หลังเหตุการณ์โจมตีฐานปฏิบัติการหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินที่ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส โดยกลุ่มผู้หลงผิดเสียชีวิต 16 ศพ และหลังยุทธการเผาเมืองที่ จ.ปัตตานี ที่เกือบจะเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ผ่านพ้นไป รัฐบาลโดย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ผู้มีตำแหน่งเป็น “ผอ.กปต.” แทน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้มีการ “เยียวยา” ครอบครัวของผู้เสียชีวิตทั้ง 16 ราย รวมทั้งผู้ที่ได้รับผลกระทบอื่นๆ
และในขณะการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องของการเยียวยายังไม่จบ ร.ต.อ.เฉลิมก็ได้เซ็นแต่งตั้งอดีตนักการเมืองกลุ่ม “วาดะห์” ในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นที่ปรึกษา จำนวน 10 คน เพื่อเป็นทีมที่ปรึกษา คอยเสนอแนะแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งได้สร้างกระแส “เห็นด้วย” และ “เห็นต่าง” ของคนในพื้นที่ได้มากพอสมควร
ในขณะที่ พล.ท.ภารดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้เปิดเผยว่า จะมีการยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่ 5 อำเภอของ 3 จังหวัดคือ อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี อ.เบตง และ อ.กาบัง จ.ยะลา อ.แว้ง และ อ.สุคินริน จ.นราธิวาส เนื่องจากเห็นว่าไม่มีเหตุการณ์ร้ายเกิดขึ้น รวมทั้งการยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นความต้องการขององค์กรหลายๆ องค์กรที่เกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน และเป็นความต้องการของประชาชนส่วนหนึ่งในพื้นที่
โดยหลังการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รัฐบาลจะนำเอา “พ.ร.บ.ความมั่นคง” มาใช้แทน เพื่อเป็นการเปิดทางให้ “ผู้หลงผิด” ในพื้นที่สามารถใช้ช่องทางใน “มาตรา 21” แห่ง พ.ร.บ.ความมั่นคงเข้ามารายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งจะมีขั้นตอนตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อกลับตัวกลับใจ โดยไม่ต้องรับโทษตามกฎหมาย ป.วิอาญา ซึ่งก่อนหน้านี้ ได้นำเอา พ.ร.บ.ความมั่นคงไปใช้กับพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ทำให้มีผู้หลงผิด สามารถเข้าสู่กระบวนการของ ม.21 มีผู้เข้ารายงานตัวจนถือว่าได้ผลในระดับหนึ่ง
แนวทางดับไฟใต้ทั้ง 3 แนวทางที่เกิดขึ้น ต้องถือว่าการเตรียมยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อนำ พ.ร.บ.ความมั่นคงมาแทนที่ในพื้นที่ 5 อำเภอ เป็นเรื่องที่น่าสนใจ และสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนมากที่สุด เพราะการลดพื้นที่ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะเป็นคำตอบว่า การแก้ปัญหาการก่อการร้ายของรัฐบาล และของกองทัพได้ผล ทำให้พื้นที่หลายแห่งกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
รวมทั้งการเปิดพื้นที่ให้ “ผู้ก่อการร้าย” หรือจะเรียกว่า “ผู้หลงผิด” ก็ได้ มีช่องทางในการกลับเข้าสู่สังคมปกติ เลิกหลบหนี หลบซ่อน หรือจับอาวุธก่อการร้าย คือวิธีการแก้ปัญหาที่ถูกต้องที่สุด
เพราะถึงแม้ในพื้นที่ดังกล่าวจะไม่มีการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ยังมีกฎอัยการศึก และ ป.วิอาญา ใช้ในการรักษาความไม่สงบอยู่ รวมทั้งหากเกิดเหตุร้ายในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และรุนแรง กองทัพก็สามารถนำ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กลับมาประกาศใช้ใหม่ได้
แต่มีสิ่งที่ต้องระวังคือ เมื่อกำลังทหารถอนออกจากพื้นที่ ตำรวจ และฝ่ายปกครองต้องมีความพร้อมในการรักษาความสงบเรียบร้อย รวมทั้งกำลังทหารก็ต้องมีความพร้อมในการสนับสนุน หากเกิดความรุนแรงขึ้นในพื้นที่
ส่วนการแต่งตั้งกลุ่ม “วาดะห์” ซึ่งเป็นอดีตนักการเมืองชื่อดังในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น เด่น โต๊ะมีนา มูหะมัด นอร์ มะทา อารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ นัจมุดดีน อูมา และอดีตนักการเมืองคนอื่นๆ รวม 10 คน ในส่วนที่ดีคือ คนเหล่านี้ส่วนหนึ่งเป็นอดีต ส.ส.ใน 3 จังหวัดชายแดน เป็นผู้ที่รู้ปัญหา และบางคนเคยถูกจับกุมในข้อหาแบ่งแยกดินแดนมาแล้ว บางคนถูกสงสัยว่าอยู่เบื้องหลังการก่อความไม่สงบ
เมื่อรัฐบาลนำบุคคลเหล่านี้ ซึ่งมีเครือข่ายในพื้นที่ของคนทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย มาร่วมเสนอแนวทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น อาจจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการทำให้รัฐบาล “เข้าถึง” และ “เข้าใจ” ในปัญหาต่างๆ ได้มากขึ้น
แต่จุดที่คนในพื้นที่วิพากษ์วิจารณ์กันค่อนข้างมาก และรัฐบาลควรสำเหนียกเช่นกัน คือคำถามที่ว่า การแต่งตั้งอดีตนักการเมืองกลุ่มวาดะห์เป็นเรื่องที่มี “นัย” ทางการเมืองแอบแฝงอยู่หรือไม่
เพราะถ้ามีการเมืองแอบแฝง หรือซ่อนเร้นอยู่ในการแก้ปัญหาความไม่สงบ อาจจะกลายเป็นการสร้างปัญหาขัดแย้งใหม่ทางการเมืองในพื้นที่ และกลายเป็นปัญหา “ทับซ้อน” ที่ส่งผลให้เกิดความไม่สงบมากขึ้น
รวมทั้งคำถามจากพื้นที่ต่อรัฐบาลคือ ทำไม่จึงต้องเป็นวาดะห์เพียงกลุ่มเดียว ในเมื่อยังมีคนกลุ่มอื่นๆ ที่เป็นอดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และผู้ทรงคุณวุฒิในพื้นที่ที่ไม่ใช่นักการเมือง และทำไมจึงไม่มีสัดส่วนของ “ไทยพุทธ” เข้าไปให้คำเสนอแนะในฐานะที่ปรึกษา นี่คือความละเอียดอ่อนที่รัฐบาลต้องรับฟัง
สุดท้ายเรื่อง “เยียวยา” ทั้งเก่า และใหม่ยังเป็นปัญหาที่ไม่สะเด็ดน้ำ ทั้งเรื่องของความ “เท่าเทียม” และเรื่องของความ “เป็นธรรม” ทั้งที่เป็นของส่วนราชการ และที่เป็นส่วนของประชาชน ซึ่งขณะนี้ถูกนำไปขยายสู่ความแตกแยกอย่างใหญ่หลวงของคนในพื้นที่ โดยผ่านสื่อโชเชียลมีเดีย และช่องทางอื่นๆ
อันเป็นเหมือนกับการ “โหมไฟ” แห่งความไม่เข้าใจ และสร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งดับไฟที่เป็น “ไฟในใจ” ที่รุนแรงกว่าไฟที่เกิดจากการวางเพลิงของผู้หลงผิดหลายเท่า
ทั้งหมดนี้คือ ทางออกในการดับไฟใต้ที่เกิดขึ้นจากแนวคิดของรัฐบาล ซึ่งส่งผ่านไปสู่พื้นที่ ส่วนจะเป็นการดับไฟใต้ได้จริงหรือไม่นั้น ประชาชนต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่า สุดท้ายแล้ว “นโยบาย” กับการ “ปฏิบัติ” เป็นไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่
เพราะที่ผ่านมาที่เกิดการ “ล้มเหลว” มาโดยตลอด เนื่องจากวิธีการปฏิบัติที่ไม่เป็นไปตามนโยบายนั่นเอง