ASTVผู้จัดการออนไลน์ - การบุกโจมตีฐานปฏิบัติการร้อยปืนเล็กที่ 2 หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 32 อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ตอกย้ำแนวคิดของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ผอ.เพนตากอน 2 ถึงความจำเป็นต้องประกาศเคอร์ฟิวเพื่อควบคุมสถานการณ์ แต่สุดท้ายคงต้องหน้าแหกกลับไปไม่มีใครเอาด้วย เพราะหัวใจสำคัญในการแก้ไขความไม่สงบในชายแดนใต้อยู่ที่งานการเมืองและการต่อสู้ทางความคิด หยุดยั้งการจัดตั้งและปลุกระดมมวลชน
คล้อยหลังการบุกเข้าโจมตีฐานปฏิบัติการณ์กองร้อยปืนเล็กที่ 2 ชุดเฉพาะกิจนราธิวาส 32 ซึ่งตั้งอยู่บ้านยือลอ ม.3 ต.บาเร๊ะเหนือ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบร่วม 50 คน เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา กระทั่งถูกเจ้าหน้าที่วิสามัญฆาตกรรมรวม 16 ศพ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.กปต.) หรือที่รองฯ เฉลิม เรียกชื่อให้สุดเท่ห์ว่า นี่คือ “เพนตากอน 2” ก็ออกมาตอกย้ำถึงความจำเป็นในการประกาศเคอร์ฟิว หรือการประกาศห้ามประชาชนชายแดนภาคใต้บางพื้นที่ออกนอกเคหสถานในเวลาที่กำหนด
“ผมถึงบอกว่าบางครั้งลดความสุขเล็กๆ น้อยๆ มีกติกาควบคุมเพิ่มเติมได้หรือไม่ หากปล่อยไปก็ต้องมีอย่างนี้อีก เวลาคิดอะไรคนต่อต้านคือคนไม่รู้ข้อเท็จจริงและเหตุผล มีความสุขและสนุกที่ให้สัมภาษณ์แล้วเป็นข่าว แต่ไม่รู้รายละเอียดว่าควรจะทำอย่างไรจึงจะแก้ไขปัญหาได้ ผมยังมีแนวคิดว่าในพื้นที่สำคัญจริงๆ ที่มีเหตุร้ายเกิดขึ้นบ่อยๆ หากเราเคอร์ฟิวบางเวลา สุจริตชนสามารถขออนุญาตไปไหนมาไหนได้ อย่างนี้หากมีเคอร์ฟิวพี่น้องประชาชนที่มีความคิดแตกต่างก็ออกปฏิบัติการไม่ได้” ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว เช่นเดียวกับการย้ำต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาว่า พื้นที่อันตรายอาจจำเป็นต้องประกาศเคอร์ฟิว
ต้นตอแนวคิดประกาศเคอร์ฟิวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่รองฯ เฉลิม ออกมาหนุนสุดตัวครั้งนี้ ฟังจาก พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวว่า การประกาศใช้เคอร์ฟิวชั้นต้นเป็นข้อกังวลใจของนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงขอให้ที่ประชุม ศปก.กปต.ไปหาข้อยุติที่ชัดเจน ซึ่งตอนนี้กำลังรวบรวมรายละเอียดเพื่อไปตกผลึกในที่ประชุม ศปก.กปต. วันที่ 15กุมภาพันธ์นี้ แต่สิ่งสำคัญต้องฟังเสียงประชาชนในพื้นที่เป็นหลัก ส่วนความเห็นจากทางกองทัพ โดยแม่ทัพภาคที่4 ยืนยันว่า สถานการณ์ในพื้นที่ยังควบคุมได้ แต่ข้อยุติข้อตกลงใจขอให้ ศปก.กปต.เป็นผู้สรุป รวมถึงกรอบเวลาหากประกาศใช้ก็ต้องตกผลึกกันในวันดังกล่าว อย่างไรก็ตาม หากที่ประชุม ศปก.กปต.มีข้อยุติให้ประกาศใช้เคอร์ฟิวตามขั้นตอนสามารถดำเนินการได้ โดยอำนาจนายกรัฐมนตรี จากนั้นจะแจ้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบในภายหลังได้
แต่อย่างไรก็ตาม แนวคิดประกาศเคอร์ฟิวของนายกรัฐมนตรีและรองฯเฉลิม ไม่ได้รับการตอบรับ มีเสียงคัดค้านสวนกลับมาแม้แต่ฝ่ายทหารเอง ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม และ พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่โดยตรง แม้กระทั่งเมื่อเกิดเหตุการณ์รุนแรงล่าสุด กองทัพบกยังหลีกเลี่ยงการใช้คำว่าประกาศเคอร์ฟิว โดย พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก ย้ำว่า ขณะนี้ยังไม่มีการประกาศเคอร์ฟิวในพื้นที่ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส และ อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี แต่เป็นเพียงขอความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่ไม่ออกนอกเคหสถานในเวลาที่กำหนด เพื่อให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานให้สะดวกมากยิ่งขึ้น ประชาชนในพื้นที่ยังคงประกอบศาสนกิจได้ตามปกติ โดยเจ้าหน้าที่จะคอยอำนวยความสะดวกให้
หลายฝ่ายไม่เชื่อมั่นการประกาศเคอร์ฟิวจะช่วยแก้ปัญหา มีแต่จะสร้างปัญหาให้หนักขึ้น
ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ชี้ว่า การเตรียมประกาศใช้เคอร์ฟิวในชายแดนภาคใต้ อาจเร่งให้มีการก่อเหตุถี่ขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อสะท้อนผลกลับไปยังรัฐบาล ฉุดความรู้สึกของคนในพื้นที่ให้ดูเสมือนว่าเลวร้ายลง สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเชื่อว่า เป็นความพยายามใช้กระแสข่าวเรื่องเตรียมประกาศเคอร์ฟิวมาเป็นปัจจัยเร่งให้บรรยากาศในพื้นที่ดูเหมือนเลวร้ายลง ด้วยการสร้างสถานการณ์ทั้งระเบิด คาร์บอมบ์ ซุ่มยิง หรือโจมตีทุกรูปแบบ ซึ่งยิ่งกระตุ้นให้รัฐ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาประกาศใช้เคอร์ฟิว
“หากรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกาศเคอร์ฟิวส์ อาจส่งผลให้สถานการณ์ถูกยกไปเปรียบเทียบกับเมื่อช่วงปี 2548-2550 ซึ่งช่วงนั้นเหตุรุนแรงมีความถี่สูงมาก ประมาณ 200-300 ครั้งต่อเดือน จนนำไปสู่การประกาศเคอร์ฟิวที่ อ.ยะหา และอ.บันนังสตา ก่อนจะยกเลิกในเวลาต่อมา” ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าว
ผศ.ดร.ศรีสมภพ ชี้ว่า การแก้ปัญหาความไม่สงบภาคใต้มีหัวใจสำคัญอยู่ที่งานการเมืองและการต่อสู้ทางความคิด งานยุทธการทางการทหารแม้จะสำคัญ แต่ต้องรองรับงานการเมืองหรืองานมวลชน จากประสบการณ์ 9 ปีที่ผ่านมา แม้แต่ฝ่ายทหารเองก็ได้สรุปบทเรียนว่าการจัดการความไม่สงบที่มีประสิทธิผลกว่าคือการใช้งานการเมืองไปสลายงานการทหารและการเมืองของฝ่ายขบวนการ โดยเฉพาะการหยุดยั้งการจัดตั้งและปลุกระดมมวลชนเพื่อสร้างความชอบธรรมของฝ่ายตรงข้าม
เขากล่าวต่อว่า การลดความรุนแรงที่บางพื้นที่ซึ่งเคยมีการประกาศเคอร์ฟิวในอดีต เช่น บันนังสตาหรือยะหานั้น อยู่ที่การปฏิบัติการด้านอื่นๆ ของฝ่ายทหารและเจ้าหน้าที่ในการหยุดยั้งการปฏิบัติการของฝ่ายตรงกันข้ามมากกว่า โดยที่มาตรการเคอร์ฟิวมีส่วนน้อยมากในการลดปัญหา แต่กลับจะไปเร่งปัญหาความไม่พอใจของประชาชนที่ต้องเดือดร้อนจากการไปละหมาดหรือขนส่งสินค้าเกษตรตอนกลางคืน จนในที่สุดทำให้ต้องยกเลิกเคอร์ฟิวไปในเวลาต่อมา นอกจากนี้แล้ว คนโดยทั่วไปในเขตพื้นที่สีแดงก็รู้ตัวเอง พวกเขามักจะไม่ออกไปไหนไกลๆ ตอนกลางคืนอยู่แล้ว เว้นแต่ที่ไม่ระวังตัวจริงๆ หรือประมาทว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น ซึ่งถือเป็นบทเรียนที่ต้องระมัดระวังตัวกันให้มากขึ้น
เหตุผลอีกด้านหนึ่ง ก็คือสถิติการเกิดเหตุที่ผ่านมา ร้อยละ 70-80 มักจะเกิดตอนกลางวัน โดยเฉพาะตอนเช้าและตอนเย็น การประกาศเคอร์ฟิวจึงไม่เป็นการแก้ปัญหาตรงจุด หากทางการประกาศเคอร์ฟิวก็จะทำให้ฝ่ายที่ก่อเหตุความไม่สงบก็น่าจะได้เปรียบทางการเมืองมากขึ้นไปอีก เพราะจะส่งผลให้ชาวบ้านเดือดร้อน ในขณะที่รัฐก็จะเสียความชอบธรรมลงไปอีก ภาพลักษณ์กับต่างประเทศก็จะเลวร้ายลงไปยิ่งขึ้น เพราะคำว่า “เคอร์ฟิว” ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับข่าวต่างประเทศ
“หากพิจารณาดูแล้วการตัดสินใจประกาศเคอร์ฟิวครั้งนี้จึงน่าจะมีผลเสียมากกว่าผลได้อย่างมากมาย รัฐบาลควรคิดให้ดีก่อนตัดสินใจในเรื่องนี้” ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ส่งเสียงเตือนรัฐบาล
เช่นเดียวกับผู้นำศาสนาอิสลาม นายนิมุ มะกาเจ ผู้ทรงคุณวุฒิจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า แนวความคิดของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ที่จะให้ประกาศเคอร์ฟิวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นั้นมองว่าจะต้องรับฟังในพื้นที่ให้มากๆ ว่าการประกาศเคอร์ฟิวที่ถูกต้องและไม่ถูกต้องนั้น เช่น แม่ทัพภาค 4 ประกาศเคอร์ฟิว 24 ชั่วโมง ถือว่าถูกต้อง แต่เคอร์ฟิวที่เป็นแนวความคิดของรองนายกฯ เป็นสิ่งที่สร้างความเดือดร้อน ทำให้คนบริสุทธ์เดือดร้อน ซึ่งไม่เห็นด้วยและมองว่าจะเป็นผลลบมากกว่าผลดี
เมื่อหลายฝ่ายส่งเสียงไม่เห็นด้วย ทางฝ่าย ร.ต.อ.เฉลิม ก็ออกมาแบไต๋ว่า หากที่ประชุม ศปก.กปต.วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2556ซึ่งจะพิจารณาเรื่องนี้ไม่เห็นด้วยก็จบ
ต้องรอดูต่อไปว่า “ผอ.เพนตากอน 2” ซึ่งทำหน้าที่เป็นหน่วยงานระดับนโยบายบูรณาการ 17 กระทรวง 66 หน่วยงานให้ทำกันด้วยกันอย่างมีเอกภาพ จะงัดไม้เด็ดสร้างความไร้เอกภาพในการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้อีกหรือไม่?