xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

9 ข้อเสนอ BRN ปาหี่แก้ไฟใต้ สไตล์ “นายใหญ่” ไร้สัญชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ท่ามกลางสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จู่ๆก็มีเป็นข่าวที่เรียกความสนใจได้ไม่ใช่น้อยเมื่อ สภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) นำคณะไปพูดคุยเพื่อสันติภาพ กับแกนนำก่อเหตุรุนแรงกลุ่มบีอาร์เอ็น ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ในวันที่ 28 มีนาคม 2556

โดยฝ่ายขบวนการกำหนดตัวบุคคลร่วมเจรจา 5 คน มีนายฮาซัน ตอยิบ เป็นหัวหน้าคณะ จากขบวนการบีอาร์เอ็น โคออดิเนท 2 คน ขบวนการพูโล 1 คน และขบวนการบีไอพีพี 1 คน

แน่นอน สิ่งที่ต้องจับตาเป็นพิเศษหนีไม่พ้น ประเด็นร้อนที่มีการพูดถึงกันก็คือข้อเรียกร้องที่ขบวนการบีอาร์เอ็นฯ กำหนดไว้แบบไม่เป็นทางการเบื้องต้น 9 ข้อ คือ 1.ผู้ที่จะมาเจรจาต้องเป็นตัวแทนจากรัฐบาลไทยเท่านั้น 2.รับรองในอัตลักษณ์ ภาษา ชาติพันธุ์มลายู 3.ถอนกำลังทหารออกจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมยกเลิกกฎหมายพิเศษ 4.ให้กองกำลังท้องถิ่นเป็นผู้ดูแลแทน 5.จัดพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเขตปกครองพิเศษ 6.ให้ประเทศมาเลเซียเป็นตัวกลาง และสำนักนายกรัฐมนตรีของ 2 ประเทศเจรจา เพื่อป้องกันการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล 7.การเจรจาไม่ต้องผ่านองค์การความร่วมมืออิสลามหรือโอไอซี และองค์กรจากยุโรป 8.ให้นิรโทษกรรมผู้กระทำผิด และ 9.การปกครองจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ยึดโมเดลเขตปกครองพิเศษอาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งข้อเรียกร้องจะเสนอผ่านสันติบาลประเทศมาเลเซีย ก่อนเสนอไปยังฝ่ายเจรจาของไทย

อย่างไรก็ตาม ทันทีที่ข่าวนี้แพร่สะพัดออกไปทำให้คนจำนวนไม่น้อยห่วงใยไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอหลายต่อหลายข้อ เพราะนอกจากจะทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบแล้ว ยังสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้ราชอาณาจักรไทยเสียดินแดนอีกต่างหาก โดยเฉพาะ คำว่า “เขตปกครองพิเศษ” และ “มหานครปัตตานี” หรือ “ปัตตานีมหานคร” นั้น เป็นเหมือนของแสลงที่ผู้คนจำนวนมากในประเทศนี้ยังรับไม่ได้

เนื่องด้วยคำว่า เขตปกครองพิเศษของขบวนการก่อการร้ายนั้นหมายถึงการยื่นข้อเสนอให้ทหารไทยถอนกำลังทหารออกจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมจัดตั้งกำลังท้องถิ่นเป็นผู้ดูแลแทน ซึ่งการที่ไทยถอนทหารออกจากพื้นที่มิต่างอะไรกับการที่รัฐไทยไม่สามารถดำรงสถานะความเป็นรัฐในพื้นที่ชายแดนใต้ได้

กลายเป็นรัฐล้มเหลวที่มิได้มีอำนาจทางทหารเหนือดินแดนของตนเองไปโดยปริยาย

“ไม่อยากให้พูดถึงข้อเสนอ 9 ข้อของบีอาร์เอ็น เพราะจากที่อ่านดูนั้น ยากและยังเป็นไปไม่ได้ อีกทั้งต้องใช้เวลาและต้องมาพูดคุย พิสูจน์ทราบกันก่อน รวมถึงการลดความบาดเจ็บและสูญเสีย ต้องมาแก้กันทีละข้อ จะแก้ทีเดียว 9 ข้อเลยไม่ได้ ซึ่งเขาพยายามเรียกร้องให้มากเข้าไว้ เราต้องดูว่าอันไหนเรายอมรับได้บ้าง แต่ต้องผ่านกระบวนการทางกฎหมาย ส่วนข้อเสนอที่จะให้มีการถอนทหารออกจากพื้นที่คงยังไม่ได้”นั่นคือความเห็น พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากประเด็นดังกล่าวแล้วยังมีกระแสข่าวว่า แกนนำที่ตั้งโต๊ะเจรจากับรัฐบาลไทยภายใต้การนำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรนั้น มิได้เป็นแกนนำตัวจริงที่มีอำนาจสั่งการแต่ประการใด ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจากสำนักข่าวรอยเตอร์ที่เผยแพร่รายงานพิเศษวันที่ 26 มีนาคม ว่าสมาชิกบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนท ที่ใช้ชื่อจัดตั้งว่า “อับดุลเลาะห์” อายุประมาณ 60 ปี ซึ่งจับอาวุธต่อสู้กับทหารไทยมายาวนานกล่าวถึงการเจรจาสันติภาพที่กำลังจะเกิดขึ้น ระหว่างทางการไทยกับแกนนำบีอาร์เอ็น ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซียว่า ไร้ความหมาย นักรบมาเลย์-มุสลิมนับหมื่นคน จะยังคงจับอาวุธต่อสู้กับทางการไทยต่อไป โดยแกนนำรุ่นอาวุโสของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบกำลังประสบกับการควบคุมนักรบสายเลือดใหม่ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า แกนนำกลุ่มจะมีศักยภาพมากน้อยเพียงใด ในการสนองตอบต่อความต้องการของฝ่ายไทย ที่ต้องการให้ยุติเหตุนองเลือดในพื้นที่

ขณะเดียวกัน “อับดุลเลาะห์” ยังให้ความเห็นสอดคล้องกับ “ดันแคน แม็คคาร์โก” ผู้เชี่ยวชาญจากสหราชอาณาจักร เจ้าของงานเขียนเกี่ยวกับความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนใต้ของไทย เรื่อง “ Tearing Apart the Land ” ว่า นายฮัสซัน ตอยิบ ตัวแทนหลักของบีอาร์เอ็นในการเจรจาสันติภาพ ที่อ้างว่าเป็นหัวหน้าฝ่ายประสานงานของบีอาร์เอ็นในมาเลเซียนั้น ไม่ได้เป็นผู้ที่มีอำนาจที่แท้จริงในการควบคุมสั่งการนักรบในพื้นที่ อีกทั้งที่ผ่านมาทางการไทยก็มักใช้วิธีพูดคุยทำนองนี้ เพื่อหวังจะระบุตัวแกนนำ ก่อนที่จะดึงตัวมาเป็นแนวร่วมหรือกำจัดทิ้ง ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่กลุ่มติดอาวุธในพื้นที่จะตั้งข้อสงสัยกับการเจรจาสันติภาพ

อับดุลเลาะห์กล่าวด้วยว่า ต้องการให้รัฐบาลไทยขอโทษกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่กระทำต่อคนในพื้นที่ในอดีต และยอมรับในมาตุภูมิมลายูของประชาชนชายแดนใต้ แต่ไม่คาดหวังถึงการแยกตัวเป็นรัฐอิสระ เพราะแนวทางยุติความขัดแย้งน่าจะออกมาในลักษณะการให้อำนาจปกครองตนเองในระดับที่สูงขึ้น สำหรับ จ.ปัตตานี จ.ยะลา และจ.นราธิวาส จากเดิมที่เน้นการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางเป็นหลัก

เช่นเดียวกับ นายฮากิม พงตี่กอ ประธานสหพันธ์ นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า การพูดคุยดังกล่าวได้สร้างข้อกังขาต่อสาธารณชนในความบริสุทธิ์ใจต่อการสร้างสันติภาพที่แท้จริง เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าบีอาร์เอ็นเป็นองค์กรปฏิวัติที่มีมวลชนให้การสนับสนุนจำนวนมาก คงไม่ยอมจำนนง่ายๆ อย่างแน่นอน

แหล่งข่าวทางทหารเปิดเผยว่า การเจรจาสันติภาพระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยและตัวแทนกลุ่มบีอาร์เอ็นที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย น่าจะประสบความล้มเหลว เนื่องจากตัวแทนที่เข้าร่วมเจรจาไม่ใช่ตัวแทนที่มีอำนาจอย่างแท้จริงและไม่ใช่ตัวแทนทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยฝ่ายไทยนั้นมีแต่ข้าราชการเข้าร่วม แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามเชิญภาคเอกชน เอ็นจีโอ ที่ทำงานในพื้นที่ให้เข้าร่วม แต่ก็ไม่มีใครเข้าร่วมเพราะไม่ต้องการตกเป็นเครื่องมือของรัฐบาล

“แม้การเจรจาครั้งนี้จะเป็นความลับไม่เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนเข้าร่วม แต่เมื่อดูจากตัวแทนที่เข้าร่วมเจรจาทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบ การเจรจาครั้งนี้น่าจะประสบความล้มเหลว และเป็นเพียงการสร้างภาพของรัฐบาลไทย โดยมีรัฐบาลมาเลเซียให้ความร่วมมือเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้ตัวเองเท่านั้น”

นั่นคือข้อมูลที่ตรงกับสภาพความเป็นจริงในพื้นที่ เพราะเช้าวันที่ทั้งสองฝ่ายจะเปิดฉากการเจรจาก็เกิดเหตุคนร้ายจุดชนวนระเบิดดักสังหารเจ้าหน้าที่ทหารพราน เหตุเกิดบนถนนเลียบทางรถไฟสายเจาะไอร้อง-บูกิต ช่วงบริเวณบ้านเจาะเกราะ ม.1 ต.บูกิต ซึ่งห่างจาก สภ.เจาะไอร้อง ประมาณ 900 เมตร ทำให้เจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิต 3 นาย ได้รับบาดเจ็บ 5 นาย ซึ่งอาจเป็นการบ่งบอกเชิงสัญลักษณ์ว่ากลุ่มขบวนการก่อความไม่สงบสังกัดต่างๆ ที่เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่เห็นด้วยกับการเจรจาในครั้งนี้

หรือแม้แต่ องค์กร Pertubuhan Pembebasan Patani Bersatu (PULO-MKP) อันเป็นองค์ที่อยู่ภายใต้การนำของ นายกัสตูรี มะห์โกตา แกนนำ “พูโล-เอ็มเคพี”ประกาศต่อสาธารณะผ่าน website http://puloinfo.net เมื่อวันที่ 27 มี.ค.ที่ผ่านมาว่า ขอให้ผู้ที่นำอ้างชื่อองค์กร PULO ขอให้ระบุชื่อต่อท้ายขององค์กร หรือระบุชื่อผู้นำกลุ่มให้ชัดเจน และกลุ่มที่ชื่อว่า PULO-MKP ที่นำโดย นายกัสตูรี ไม่ได้เข้าร่วมเวทีพูดคุยครั้งที่สอง ณ กัวลาลัมเปอร์แต่อย่างใด

เรียกว่าแทบจะดับความหวังที่หลายฝ่ายตั้งความหวังไปเลยทีเดียว เพราะแม้ว่าการลงนามเพื่อแสดงเจตนารมณ์ที่รัฐบาลไทยทำกับขบวนการแบ่งแยกดินแดนบีอาร์เอ็น โคออดิเนต จะถือว่าเป็นข่าวดี ในการที่ทั้งสองฝ่ายจะเปิดพื้นที่พูดคุยเพื่อหาแนวทางในการลดความรุนแรง หยุดความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลของหลายๆฝ่ายและจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่ยังคงอยู่ มึนจึงเป็นจุดประกายแห่งความหวังให้กับประชาชนเสียจนสูงและมากเกินความเป็นจริง

เพราะความเป็นจริงก็คือ ปัจจุบันมีกลุ่มกบฏหลายกลุ่มเคลื่อนไหวอยู่พื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย ที่มีกลุ่มก้อนต่างๆ ของขบวนการแบ่งแยกดินแดนฯ ไม่ว่าจะเป็น "พูโลเก่า" "พูโลใหม่""เบอร์ซาตู" "มูจาฮิดิน" และอื่นๆ ซึ่งมีทั้งที่มีศักยภาพ ที่ไม่มีศักยภาพ แต่ต้องการสร้างราคา สร้างค่าตัวและขอเกาะขบวนรถไฟเที่ยวสุดท้ายเพื่อมีส่วนของการดับไฟใต้ ในครั้งนี้

นับจนถึงขณะนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า กลุ่มกบฏเหล่านั้นจะยอมรับในการเจรจาเพื่อสันติภาพหรือไม่ คำถามที่สำคัญอีกประการก็คือ ภายใต้ยุทธศาสตร์ วิธีแก้ปัญหาของของรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ เดินมาได้ถูกทางแล้วหรือยัง

หรือนี่เป็นการแก้ปัญหาที่มีนายใหญ่คนเสื้อแดงปรารถนาให้เป็นเช่นนั้น ซึ่งก็มิใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะนักโทษชายหนีคดีผู้นี้ก็มิได้คำนึงถึงเชื้อชาติหรือสัญชาติเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น