xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ถกสันติภาพแหกตา ส่อเหลวตั้งแต่ยกแรก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช.ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย เช้าวันที่ 28 มีนาคม 2556
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ไม่ว่าจะมองจากมุมไหน ก็ยังไม่เห็นว่าการเปิดเจรจาสันติภาพระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับตัวแทนกลุ่มบีอาร์เอ็นรอบแรก ที่ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา จะนำความสงบสุขคืนสู่พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยได้ในระยะอันใกล้นี้

สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ของไทยกับแกนนำกลุ่มบีอาร์เอ็นได้ลงนามแสดงเจตนารมณ์เริ่มต้นสู่สันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ซึ่งผู้นำมาเลเซียยอมรับว่า การลงนามครั้งนี้ มี นช.ทักษิณ ชินวัตร อยู่เบื้องหลัง

หลังจากนั้น คนในเครือข่าย นช.ทักษิณก็นำไปป่าวประกาศโฆษณาชวนเชื่อราวกับว่า ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้กำลังจะยุติลงในไม่ช้านี้ เพื่อสร้างเครดิตให้แก่รัฐบาลน้องสาว

แต่ข้อเท็จจริง เหตุการณ์ความไม่สงบรายวันยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งเจ้าหน้าที่ ประชาชนเสียชีวิตและบาดเจ็บจากเหตุรุนแรงไม่เว้นแต่ละวัน

แม้กระทั่งเช้าวันเริ่มต้นเจรจาสันติภาพ 28 มี.ค. ก็มีเหตุระเบิดดักสังหารเจ้าหน้าที่ทหารพรานบนถนนเลียบทางรถไฟ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ทำให้ทหารเสียชีวิต 3 นาย ได้รับบาดเจ็บ 5 นาย

ขณะที่กระบวนการพูดคุยที่ประเทศมาเลเซียก็ดำเนินไปท่ามกลางกระแสความไม่แน่นอน ตอนเช้าวันดังกล่าว พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช. พร้อมด้วย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) ได้เชิญคณะฝ่ายไทยเข้าร่วมประชุมเพื่อวางกรอบของการพูดคุยกับแกนนำบีอาร์เอ็น ที่โรงแรมเจดับบิว มารีออท กรุงกัวลาลัมเปอร์ ก่อนที่จะเดินทางด้วยรถยนต์ที่ทางการมาเลเซียเตรียมเอาไว้ไปยังสถานที่พูดคุย โดยทางการมาเลเซียไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนจากประเทศไทยร่วมในขบวน และไม่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ดังกล่าว

พล.ท.ภราดร เปิดเผยก่อนประชุมว่า หลังจากการพูดคุยวันนี้ก็จะต้องมีการออกแบบความถี่ของการพูดคุย ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นเดือนละ 1 ครั้ง แต่จะต้องพูดคุยกับฝ่ายขบวนการก่อน

พล.ท.ภราดรยอมรับว่า กลุ่มที่จะมาพูดคุยในครั้งนี้คงจะยังไม่มีกลุ่มปฏิบัติการเดินทางมาพูดคุย แต่ก็ยังไม่ยืนยันเพราะยังไม่ทราบว่าจะมีผู้ใดเดินทางมาพูดคุยบ้าง รวมทั้งสถานที่พูดคุยก็ยังไม่ทราบว่าเป็นสถานที่ใด อยู่ที่ทางมาเลเซียที่จะมารับคณะเดินทางไป

ส่วนแนวทางการพูดคุยได้วางประเด็นหลักๆ คือ การลดความรุนแรงลง รวมทั้งจะไปรับฟังจากฝ่ายของขบวนการก่อนว่ามีอะไรบ้าง ซึ่งทั้งหมดก็ต้องอยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญไทยตามที่ได้ลงนามร่วมกันไว้แล้ว

อย่างไรก็ตาม วันที่ 26 มี.ค.ก่อนการเจรจา 2 วัน มีกระแสข่าวออกมาว่า ทางฝ่ายขบวนการบีอาร์เอ็นได้กำหนดบุคคลที่จะเจรจาครั้งนี้ จำนวน 5 คน โดยมีนายฮาซัน ตอยิบ รองเลขาธิการและคณะกรรมการของบีอาร์เอ็น เป็นหัวหน้าคณะ และบุคคลจากขบวนการบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต จำนวน 2 คน จากขบวนการพูโล 1 คน และจากขบวนการแนวร่วมปลดแอกแห่งชาติปัตตานี (BNPP-Barisan Nasional Pembebasan Patani)จำนวน 1 คน

นอกจากนี้ มีรายงานข่าวว่ากลุ่มบีอาร์เอ็นได้เตรียมข้อเสนอไว้เจราจากับรัฐบาลไทยเบื้องต้น 9 ข้อ คือ

1.ผู้ที่จะมาเจรจาต้องเป็นตัวแทนจากรัฐบาลไทยเท่านั้น
2.รับรองในอัตลักษณ์ ภาษา ชาติพันธุ์ มลายู
3.ถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมยกเลิกกฎหมายพิเศษ
4.ให้กองกำลังท้องถิ่นเป็นผู้ดูแลแทน
5.จัดพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเขตปกครองพิเศษ
6.ให้ประเทศมาเลเซียเป็นตัวกลาง และสำนักนายกรัฐมนตรีของสองประเทศในการเจรจา เพื่อป้องกันการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล (นายนายิบ ราซัก นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย และนายอับดุลเลาะ บาดาวี อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เท่านั้น)
7.การเจรจาครั้งนี้ไม่ต้องผ่านองค์การการประชุมอิสลาม(โอไอซี)และองค์กรจากยุโรป
8.ให้มีการนิรโทษกรรมผู้กระทำผิด
9.การปกครองจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ยึดโมเดลของเขตปกครองพิเศษอาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย

โดยข้อเรียกร้องทั้งหมดจะต้องเสนอผ่านสันติบาลประเทศมาเลเซียก่อนเสนอไปยังฝ่ายเจรจาของประเทศไทย

วันที่ 27 มี.ค.พล.ท.ภราดรปฏิเสธว่าทั้ง 9 ข้อ ไม่ใช่ข้อเสนอของกลุ่มบีอาร์เอ็นแต่เป็นเพียงการปล่อยข่าวของกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการเจรจา และอ้างว่า การเจรจารอบนี้เป็นเพียงการพูดคุยเพื่อลดความรุนแรง ยังไม่มีการพูดเรื่องการตั้งเขตปกครองพิเศษ

อย่างไรก็ตาม ในตอนเช้าวันที่ 28 มี.ค. ก่อนการประชุมกำหนดกรอบการพูดคุยของฝ่ายไทย พล.ท.ภราดร กลับยอมรับว่า หากมีข้อเสนอให้แบ่งพื้นที่การปกครองพิเศษก็ต้องรับฟังเอาไว้ก่อน แล้วกลับไปพูดคุยฝ่ายเรา ซึ่งมีการประเมินไว้แล้วว่าอาจจะมีข้อเสนอนี้

ทั้งนี้ เป้าหมายสูงสุดของขบวนการบีอาร์เอ็นคือการตั้งรัฐปัตตานีให้เป็นอิสระจากรัฐไทย โดยได้มีการปลูกฝังอุดมการณ์และยอมเสียชีวิตกำลังคนในขบวนการมาอย่างต่อเนื่องกว่า 50 ปี มีหรือที่หากจะหยุดยิงทั้งทีแล้วไม่มีการเจรจาต่อรองอำนาจการปกครองตนเองในพื้นที่ ซึ่งหากไม่สามารถแยกเป็นรัฐอิสระได้ อย่างน้อยๆ ก็ต้องเป็นเขตปกครองพิเศษภายใต้รัฐไทย

นอกจากนี้ ข้อเสนอทั้ง 9 ข้อ ก็เป็นสิ่งที่ขบวนการในจังหวัดชายแดนภาคใต้เรียกร้องมาโดยตลอด

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 28 มี.ค.ยืนยันว่าข้อเสนอ 9 ข้อของบีอาร์เอ็นนั้นยากและยังเป็นไปไม่ได้ อีกทั้งต้องใช้เวลาและต้องมาพูดคุยพิสูจน์ทราบกันก่อน รวมถึงการลดความบาดเจ็บและสูญเสีย ต้องมาแก้กันทีละข้อ จะแก้ทีเดียว 9 ข้อเลยไม่ได้ ซึ่งเขาพยายามเรียกร้องให้มากเข้าไว้ เราต้องดูว่าอันไหนเรายอมรับได้บ้าง แต่ต้องผ่านกระบวนการทางกฎหมาย

ส่วนข้อเสนอให้มีการถอนทหารออกจากพื้นที่ พล.อ.ประยุทธ์บอกว่า คงยังไม่ได้ แต่ถ้าจะถอนทหารออกมา ต้องทำ 3 ระยะ จนเมื่อสถานการณ์ดีขึ้นจะค่อยๆ ถอนทหารออก เหลือเฉพาะทหารในกองทัพภาคที่ 4

ในกระบวนการเจรา นอกจากปัญหาข้อเรียกร้องของบีอาร์เอ็นที่ฝ่ายรัฐบาลไทยอาจจะไม่สามารถสนองตอบได้แล้ว ก่อนวันเจราจา ยังมีกระแสข่าวว่า นายฮาซัน ตอยิบ ไม่พอใจที่ สมช.ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนในการกำหนดกรอบการพูดคุยสันติภาพ เพราะนายตอยิบเห็นว่า การเจราไม่ควรมีตัวแทนจากภาคประชาชน เนื่องจากคู่ขัดแย้งครั้งนี้เป็นเรื่องของรัฐบาลกับบีอาร์เอ็น ไม่ใช่บีอาร์เอ็นกับประชาชนในพื้นที่

ขณะที่ นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา กลับเห็นว่า การเจรจากับกลุ่มบีอาร์เอ็น ตามหลักแล้วน่าจะมีสัดส่วนของคนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบไปร่วมมากกว่าตัวแทนจากส่วนกลาง เพราะหากมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของโครงสร้างการปกครอง คนในพื้นที่ก็จะได้รับผลกระทบมากที่สุด และตัวแทนก็ควรจะมีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มประชาสังคม กลุ่มการปกครองส่วนท้องถิ่น ข้าราชการส่วนภูมิภาคที่มีความเข้าใจ

อย่างไรก็ตาม ในตอนเช้าวันที่ 28 มี.ค.มีรายงานว่า ตัวแทนของฝ่ายไทยที่เข้าร่วมเจราจานั้นมีแต่ข้าราชการทั้งหมด ไม่มีตัวแทนภาคประชาชนแต่อย่างใด ขณะที่ตัวแทนของกลุ่มบีอาร์เอ็นนั้น มีเพียงนายฮาซัน ตอยิบ คนเดียวที่พอจะมีอำนาจสั่งการอยู่บ้าง แต่อีก 4 คนนั้น เป็นอดีตแกนนำขบวนการรุ่นเก่าที่หมดสภาพแล้วและไม่มีพลังในการก่อเหตุ เพียงแต่รัฐบาลมาเลเซียดูแลคนเหล่านี้อยู่ จึงส่งมาเป็นตัวแทนเข้าร่วมเจรจา เพื่อสร้างเครดิตให้รัฐบาลมาเลเซียเท่านั้น

การพูดคุยเพื่อนำไปสู่สันติภาพที่เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา จึงยังมองไม่เห็นทางว่าจะประสบความสำเร็จอย่างไร นอกจากจะเป็นเพียงการสร้างภาพของรัฐบาลไทย ที่มี นช.ทักษิณ ชินวัตร พี่ชายนายกฯ อยู่เบื้องหลัง และมีรัฐบาลมาเลเซียให้ความร่วมมือเท่านั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น