นายกฯ เตี๊ยมแผนฝ่ายความมั่นคงก่อนเจรจาบีอาร์เอ็นอีกรอบ เลขาฯ สมช. ยันทำงานมีเอกภาพ เผยส่งตัวแทน 15 คน ย้ำไม่คุยรัฐปัตตานี เน้นสร้างความไว้ใจ ไม่ชัวร์ “ฮัสซัน ตอยิบ” ร่วมถก ชี้สันติคือประโยชน์ร่วม รับคงไม่ถึงหยุดป่วน เชื่อไม่ถึงยกระดับ อ้างโจรใต้เปิดหน้าโชว์ความจริงใจ และถูกรัฐบีบ ยกมาเลย์ประกันตัวจริงร่วมถก หวังชวนกลุ่มอื่นวางอาวุธ
วันนี้ (14 มี.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เรียกหน่วยงานความมั่นคงเข้าประชุมเพื่อกำหนดกรอบพูดคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็นในวันที่ 28 มี.ค. โดยหน่วยงานที่เข้าหารือเข้าประชุมประกอบด้วย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) นายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการสำนักงานกฤษฎีกา และตัวแทนจากกระทรวงการต่างประเทศ
จากนั้น เวลา 16.30 น. พล.ท.ภราดรให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า ตนได้มารายงานผลการประชุมหน่วยความมั่นคงที่ตนจะเป็นหัวหน้าคณะเดินทางไปพูดคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็นที่ประเทศมาเลเซียในวันที่ 28 มี.ค.นี้ โดยได้รับมอบนโยบายจากนายกฯ ว่า ให้ตนไปแสดงความจริงใจของรัฐบาลไทยที่จะแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยกระบวนการสันติวิธีและยืนยันว่าการดำเนินงานของฝ่ายเรานั้นมีเอกภาพไม่ว่าจะเป็นฝ่ายความมั่นคงหรือฝ่ายพัฒนาซึ่งเป็นเอกภาพร่วมกัน โดยวันนี้ ผบ.ทบ.ได้เข้าร่วมประชุมด้วยโดยยืนยันที่จะจัดผู้แทนที่จะให้เข้าร่วมคณะกับตนไปด้วย ซึ่งตัวแทน 15 คนได้มีการกำหนดตัวเรียบร้อยแล้วแต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายชื่อได้เพราะต้องประสานกับทางมาเลเซีย และกลุ่มบีอาร์เอ็นก่อน
เมื่อถามว่า หากกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบมีการพูดคุยกันถึงนครรัฐปัตตานีได้มีการเน้นย้ำเนื่องนี้อย่างไร เลขาฯ สมช.กล่าวว่า ในส่วนนี้จะไม่มีการพูดคุยเพราะมีการยืนยันว่าจะพูดคุยภายในกรอบรัฐธรรมนูญไทย โดยในการพูดคุยวันที่ 28 มี.ค.จะพูดคุยผูกมิตรเพื่อให้เกิดความไว้วางใจกันก่อน ซึ่งคาดว่าจะได้กรอบการพูดคุยในครั้งต่อไป ส่วนผู้ก่อความไม่สงบอีก 9 กลุ่มจะมาร่วมพูดคุยในครั้งนี้หรือไม่นั้นจะต้องเป็นภาระของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ซึ่งคาดว่าจะอยู่ในขั้นตอนรวมตัวกันแล้วเข้ามาพูดคุย ทั้งนี้ยังไม่ได้รับการยืนยันว่าจะเป็นนายฮัสซัน ตอยิบ แกนนำกลุ่มบีอาร์เอ็นจะเข้าร่วมพูดคุยในครั้งนี้ ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนภายในสัปดาห์หน้า
เมื่อถามว่า เมื่อเป็นภาระของกลุ่มบีอาร์เอ็นเขาจะได้อะไรจากการไปรวบรวมกลุ่มมาพูดคุยกับเรา เลขาฯ สมช.กล่าวว่า เขาต้องได้ประโยชน์เนื่องจากเขาเป็นแกนนำหลักที่กำลังปฏิบัติการอยู่ถ้าเขารวมกลุ่มต่างๆ ไม่ให้ก่อเหตุก็จะเป็นผลโดยรวมกับฝ่ายเขา ส่วนฝ่ายก็คงไม่เสียประโยชน์เป็นการได้ผลประโยชน์ร่วมกันเพราะเป็นการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข
ถามต่อว่า การพูดคุยจะถึงขั้นให้กลุ่มบีอาร์เอ็นยุติการเคลื่อนไหวในบางพื้นที่เพื่อแสดงความจริงใจหรือไม่ พล.ท.ภราดรกล่าวว่า คงยังไปไม่ถึงขั้นนั้น ซึ่งคงต้องพูดคุยไปในระดับหนึ่งที่ประเด็นหัวข้อพูดคุยยังคงอยู่ในเรื่องลดความรุนแรง ส่วนในเรื่องของผู้ที่มีคดีติดตัวเราคงยังไม่หยิบยกมาพูดคุยในครั้งนี้แต่ไม่ทราบว่าฝ่ายนั้นจะหยิบยกขึ้นมาพูดคุยหรือไม่ ซึ่งถ้าหากมีการหยิบยกขึ้นมาเราคงต้องรับฟังและเราคงต้องนำข้อมูลกลับมาหารือกับในพื้นที่ทั้งภาคประชาชนและภาคประชาสังคมทั้งหมด ส่วนหากมีข้อเรียกร้องนครรัฐปัตตานีการเจรจาจะยุติเลยหรือไม่ พล.ท.ภราดรกล่าวว่า เราเพียงแต่รับฟังว่าแต่จะไม่พูดคุยประเด็นนี้ต่อแต่ต้องพูดคุยในประเด็นหลักในเรื่องลดความรุนแรง
เมื่อถามว่า มีกระแสว่าฝ่ายทหารห่วงว่าจะมีการยกระดับ พล.ท.ภราดรกล่าวว่า คงไม่ถึงขนาดนั้นเพียงเป็นการพูดไม่มีข้อตกลงใดๆ ซึ่งการประชุมในวันนี้มีเลขากฤษฎีกาเข้าร่วมประชุมด้วยจึงไม่ต้องกังวลในเรื่องดังกล่าว ขณะที่คำถามว่ามั่นใจได้หรือไม่ว่าการพูดคุยครั้งนี้กลุ่มบีอาร์เอ็นจะไม่บิวพริ้ว พล.ท.ภราดรกล่าวว่า ต้องไปดูการพูดคุยในการประชุมในวันที่ 28 แต่จากที่เขาได้เปิดหน้าเปิดตามาพูดคุยเพื่อเป็นการแสดงความจริงใจเพื่อจะมาร่วมพูดคุยเพื่อแก้ปัญหา ส่วนเหตุใดกลุ่มความไม่สงบจึงกล้ามาเปิดหน้าเปิดตัวในเวลานี้ทั้งที่เหตุก็เกิดมานานแล้ว พล.ท.ภราดรกล่าวว่า ฝ่ายความมั่นคงคงมองเห็นพ้องต้องกันว่าทางมาเลเซียส่งสัญญาณที่ชัดเจนและฝ่ายไทยกับมาเลเซียก็มีความร่วมมือกันใกล้ชิด ซึ่งตรงนี้เป็นข้อจำกัดในการเคลื่อนไหวของกลุ่มบีอาร์เอ็นพอสมควร
เมื่อถามว่า มีการกำหนดกรอบเวลาหรือไม่ พล.ท.ภราดรกล่าวต่อว่า ยังไม่มีการกำหนด แต่ต้องยกระดับความไว้ว่างใจกันก่อนจึงจะขยายผลไปได้ ทั้งนี้ ตัวแทน 15 คนที่ร่วมพูดคุยจะเป็นตัวแทนที่กำหนดทิศทางในการพูดคุย ส่วนจะมีองค์ประกอบหรือคณะย่อยหรือไม่ต้องตกผลึกกันอีกครั้ง ยืนยันว่าตัวแทนที่จะมาพูดคุยได้รับการการันตีจากมาเลเซียเพราะมาเลเซียต้องรับผิดชอบด้านความปลอดภัยในฐานะผู้อำนวยความสะดวกโดยทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายบีอาร์เอ็นจึงต้องส่งรายชื่อไปให้มาเลเซียก่อน และเมื่อถามว่า ถ้าการพูดคุยยุติที่ข้อเสนอรัฐปัตตานี ไทยจะกระทบความสัมพันธ์กับมาเลเซียหรือไม่ พล.ท.ภราดรกล่าวว่า คงไม่แต่เรื่องดังกล่าวยังอีกไกล และจะต้องดูข้อเท็จจริงในวันที่ 28 มี.ค.นี้ก่อน
เมื่อถามว่า กลุ่มบีอาร์เอ็นจะสามารถชักชวนกลุ่มอื่นเข้าร่วมพูดคุยได้ด้วยหรือไม่ พล.ท.ภราดรกล่าวว่า เรายังเชื่อเช่นนั้น ซึ่งจากวันครบรอบ 53 ปีกลุ่มบีอาร์เอ็น ก็ไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นจึงน่าจะสื่อถึงศักยภาพของกลุ่มบีอาร์เอ็น และถามต่อว่าจะกลายเป็นการแสดงศักยภาพว่า กลุ่มบีอาร์เอ็นสามารถต่อรองได้ด้วยหรือไม่ พล.ท.ภราดรกล่าวว่า อาจเป็นไปได้แต่ก็ต้องมีความระมัดระวัง แต่ต้องดูข้อเท็จจริงจากการพูดคุย ส่วนจะเป็นการยกระดับให้กลุ่มบีอาร์เอ็นหรือไม่นั้น พล.ท.ภราดรระบุว่าไม่ต้องห่วง เพราะเป็นการหารือกันทุกฝ่ายแล้ว