รองนายกฯ เผยไทยลงนามเจรจาสันติภาพบีอาร์เอ็น ทราบว่า สมช.เป็นเจ้าภาพ รอประชุม ศปก.กปต.ทราบ ยกหาง “ทักษิณ” รักชาติ อยากให้สงบ อ้างเปิดเจรจาร่วมกับ มทภ.4 ยันไม่ไปมาเลเซียไม่ได้ลดบทบาท ย้ำต้องไม่มีเงื่อนไขแบ่งแยกดินแดน ด้านเลขาฯ สมช.อ้างแค่ลงนามเจตนารมณ์ อีก 2 สัปดาห์ลงรายลายเอียดต่อที่มาเลเซีย
วันนี้ (1 มี.ค.) เมื่อเวลา 12.00 น.ที่ทำเนียบรัฐบาล ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.กปต.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีการลงนามเจรจาสันติภาพระหว่างเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กับตัวแทนจากกลุ่มบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมาว่า ตนทราบก่อนแล้วว่าว่า สมช.เป็นเจ้าภาพ และคงจะมีการรายงานที่ประชุม ศปก.กปต.ทราบ มีการเปลี่ยนแนวทางบ้างก็ดี ต้องทำงานร่วมกัน และต้องค่อยๆ ทำไป การพูดคุยจะทำให้รู้ความต้องการของแต่ละฝ่าย หากอะไรไม่ดีก็เปลี่ยน อะไรดีก็ทำต่อ ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย
ส่วนที่นายนาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ยอมรับว่าความสำเร็จในการลงนามดังกล่าวส่วนหนึ่งเกิดจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ นั้น พ.ต.ท.ทักษิณท่านช่วย ท่านก็รักประเทศชาติ อยากให้บ้านเมืองสงบ รัฐบาลก็พรรคเพื่อไทย ไม่ช่วยได้อย่างไร ต้องช่วย และก็ช่วยตลอด และการลงนามครั้งนี้น่าจะเป็นนิมิตหมายที่ดี ในส่วนของตนเองก็เปิดเจรจา โดยทำร่วมกับแม่ทัพภาคที่ 4 แต่ยังพูดไม่ได้ เพราะยังไม่สำเร็จ ต้องใช้เวลา และคาดว่าน่าจะมีข่าวดีเร็วๆ นี้
เมื่อถามว่าการที่หน่วยงานความมั่นคงเดินทางไปลงนาม แต่ ร.ต.อ.เฉลิมไม่ได้ร่วมเดินทางไปด้วย ถือว่าเป็นลดบทบาทหรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่าไม่ได้ลดบทบาทตน ตนต้องอยู่รักษาการแทนนายกฯ ซึ่งนายกฯ ชวนตนตั้งหลายครั้ง และตนติดปราศรัยใหญ่ช่วย พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.พรรคเพื่อไทยไว้แล้ว มีแต่จะเพิ่ม
เมื่อถามว่า เหตุใดจึงลงนามกับกลุ่มบีอาร์เอ็น เนื่องจากอุดมการณ์ของคนเหล่านี้คือการแบ่งแยกดินแดน รองนายกฯ กล่าวว่า เวลาเปลี่ยนความคิดเปลี่ยน หากอะไรที่ทำไม่ได้เขาไม่ทำ และหากยังคิดจะแบ่งแยกดินแดนอยู่ก็ทำไม่สำเร็จ ไม่มีทาง ใครจะไปยอม และไม่ได้เป็นการยกระดับ แต่เป็นการเอามาเป็นพวก แม้ที่ผ่านมาฝ่ายความมั่นคงมีการคุยกันในทางลับอยู่ก็ตาม แต่รัฐบาลต้องการให้เป็นระบบ และเท่าที่พูดคุยกับเลขาฯ สมช.และหน่วยงานด้านความมั่นคง คือคุยทุกกลุ่ม โดยไม่มีเงื่อนไข อยู่บนพื้นฐานหลักนิติรัฐและนิติธรรม และเรื่องเขตปกครองพิเศษไม่ต้องมาคุย คงชาติหน้า ตนไม่เอาด้วย รัฐไทยเป็นรัฐเดียว ทำไมจังหวัดอื่นเขาอยู่กันได้ และมาเลเซียยืนยันชัดเจนว่าไม่ให้ที่พักพิง ไม่สนับสนุนการแบ่งแยกดินแดน ไม่สนับสนุนการก่อการร้าย ส่วนมีรายงานว่าเหตุการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะเข้าสู่สภาวะปกติในเดือน เม.ย. และจะมีการถอนทหารแล้วนำตำรวจเข้าไปแทนนั้น หากเร็วได้อย่างนั้นจริงคงต้องสวดมนต์ไหว้พระ
ด้าน พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เปิดเผยถึงการลงนามเพื่อสันติภาพกับกลุ่มบีอาร์เอ็นที่ประเทศมาเลเซียว่า เป็นการลงนามเพื่อแสดงเจนารมณ์ว่าจะมีการพูดคุยเพื่อนำไปสู่ข้อเสนอในการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ร่วมกัน ภายใต้รัฐธรรมนูญของไทย โดยมีประเทศมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก ซึ่งการพบปะพูดคุยครั้งต่อไป จะเกิดขึ้นอีก 2 สัปดาห์ เพื่อกำหนดตัวแบบ รายละเอียดต่างๆ ว่าจะเป็นอย่างไร
ส่วนข้อเสนอของแต่ละฝ่ายยังไม่ได้มีการพูดคุยกัน คงต้องรอการเจรจาครั้งต่อๆ ไป ซึ่งยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะใช้ระยะเวลาเท่าไหร่ และต้องพูดคุยกันกี่ครั้ง แต่มั่นใจว่าการเริ่มต้นเจรจาจะทำให้สถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้นเพราะเป็นการเปิดกว้างการแสดงความคิดเห็นเพื่อแก้ปัญหา และเชื่อว่ากลุ่มต่างๆ ในพื้นที่ที่มีอยู่ประมาณ 6-8 กลุ่ม จะร่วมเจรจาด้วย เพราะแต่ละกลุ่มมีความเชื่อมโยงกัน
เมื่อถามว่ามีความมั่นใจกับการดำเนินการครั้งนี้มากแค่ไหน พล.ท.ภราดรกล่าวว่า มีความมั่นใจเพราะกลุ่มบีอาร์เอ็นมีความกล้าที่ออกมาประกาศเจตนารมณ์ร่วมกัน รวมทั้งประเทศมาเลเซียก็ให้ความร่วมมือและความจริงใจในการช่วยเหลือ จึงเชื่อว่าจะสามารถจำกัดการเคลื่อนไหวในพื้นที่ชายแดนใต้ได้ ส่วนเหตุการณ์ระเบิดที่ จ.นราธิวาส ที่เกิดขึ้นในวันนี้ (1 มี.ค.) นั้นถือเป็นเหตุการณ์รายวันที่อาจมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง