xs
xsm
sm
md
lg

วุฒิฯ ห่วงลงนามบีอาร์เอ็นเปิดช่องโจรใต้นำปัญหาสู่สากล มึนไม่มีใครรู้จัก “ฮัสซัน ตอยิบ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อนุศาสน์ สุวรรณมงคล (แฟ้มภาพ)
ส.ว.ห่วง สมช.ลงนามสันติภาพกับบีอาร์เอ็นแบบรวบรัด ลัดวงจร เท่ากับเป็นการยกระดับให้ฝ่ายตรงข้ามมีอำนาจต่อรองอย่าวเป็นทางการ เปิดช่องให้โจรใต้นำเหตุการณ์ไปสู่เวทีระดับสากล มึนคนภาคใต้ไม่เคยได้ยินชื่อ “ฮัสซัน ตอยิบ” เป็นใคร รัฐบาลดันไปเชิญมาร่วมลงนาม จี้รัฐบาลแจงให้ชัดที่จะไปคุยกันรอบที่ 2 มีประเด็นอะไร ด้าน ส.ว.สงขลาห่วงนายกฯ มาเลย์ ชื่นชม “นช.แม้ว” อยู่เบื้องหลังการติดต่อลงนามอาจสร้างความไม่พอใจให้คนในพื้นที่ เหตุชาวบ้าน 3 จังหวัดใต้จำนวนมากที่ไม่พอใจเหตุการณ์กรือเซะ และตากใบ

นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล ส.ว.สรรหา กล่าวถึงการลงนามความเห็นพ้องทั่วไปเพื่อร่วมกระบวนการเจรจาสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ระหว่างสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กับแกนนำบีอาร์เอ็นว่า ตนได้คุยกับหลายๆ คนในพื้นที่ภาคใต้ซึ่งมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ ถือว่าประเด็นนี้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะที่ผ่านมาเราเคยถือเป็นเรื่องภายในประเทศ แต่เมื่อ สมช.ไปลงนามเท่ากับเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับคู่กรณี หรือกลุ่มบีอาร์เอ็น และถือเป็นการยกระดับให้ฝ่ายตรงข้ามมีอำนาจต่อรองมากขึ้น

ส.ส.สรรหากล่าวว่า ประเด็นคือ นายฮัสซัน ตอยิบ รองเลขาธิการ และหัวหน้าสภาการเมืองของกลุ่มบีอาร์เอ็นเป็นใคร รัฐบาลจำเป็นต้องชี้แจงรายระเอียดให้กับคนไทยทั้งประเทศ โดยเฉพาะคนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ทราบ เพราะคนในพื้นที่ภาคใต้ไม่เคยได้ยินชื่อและไม่ทราบที่มาที่ไปของนายฮัสซัน แต่รัฐบาลไทยกลับไปลงนามแต่งตั้งให้เป็นคู่เจรจาเพื่อให้เขามาต่อรองกับเรา อีกอย่างเมื่อมีการลงนามดังกล่าวแล้วอาจเป็นการเปิดเวทีให้ไปสู่ระดับสากลหรือเวทีนานาชาติได้ ดังนั้น ต้องคำนึงถึงผลที่จะตามมาและต้องใช้ความระมัดระวัง เพราะเราไปรับรองเขาเป็นสิทธิของรัฐบาล ประเด็นคือความชอบธรรมมีการยกระดับ ทุกอย่างเป็นเรื่องสากล เข้าสู่เวทีนานาชาติ เป็นเรื่องผลที่ตามมาที่เราต้องระวัง

“ที่ผ่านมาเราระวังมาตลอดเพราะไม่รู้ใครอยู่เบื้องหลัง แต่เมื่อมีการลงนามดังกล่าวเท่ากับเป็นการพลิกประวัติศาสตร์ 3 จังหวัดภาคใต้ ทำให้ฝ่ายตรงข้ามมีอำนาจต่อรองอย่างเป็นทางการ”

ส่วนกรณีที่รัฐบาลมาเลเซียเข้ามาเป็นคนกลางในการประสานงานหรืออำนวยความสะดวกในการเจรจานั้น นายอนุศาสน์กล่าวว่า รัฐบาลไทยควรพิจารณาถึงความเห็นของพรรคฝ่ายค้านในประเทศมาเลเซียด้วย เพราะอีกไม่กี่เดือนประเทศมาเลเซียก็จะมีการเลือกตั้งใหม่แล้ว อย่างไรก็ตาม มีประเด็นที่ติดใจคือ การเร่งรีบลงนามในเอกสารโดยไม่มีรายละเอียดการเจรจา และผลที่คาดว่าจะได้ภายหลังการเจรจา หรือจุดจบของปัญหาความไม่สงบในพื้นที่

“การนำปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ สามารถยกระดับไปสู่เวทีสากล หรือยูเอ็นได้ เพราะเมื่อเรารับรองแล้ว ผลที่ตามมาได้คำนึงถึงหรือไม่ ผมเห็นด้วยกับแนวทางการพูดคุยเพื่อสันติภาพ แต่การพูดต้องไม่รวบรัดตัดตอน หรือลัดวงจร ทั้งนี้ รัฐบาลต้องชี้แจงให้ชัดว่าอีก 2 สัปดาห์ที่จะมีการคุยกันอีกรอบที่ประเทศมาเลเซียจะไปคุยเรื่องอะไรบ้าง คนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องทราบรายละเอียด แม้ว่าเป้าหมายจะไม่ใช่การแบ่งแยกดินแดน เพราะรัฐธรรมนูญไทยได้กำหนดไว้ว่าประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้ แต่ในรายละเอียดต้องเปิดเผยกับประชาชน หรือรัฐสภา ตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 190 กำหนดไว้ การลงนามแสดงเจตนารมณ์เริ่มต้นสู่สันติภาพ หรือที่เรียกว่าเป็นกุญแจที่สู่สันติภาพ ประเด็นคือ คนไทยต้องรู้ว่ากำลังมอบกุญแจเมืองให้ใคร”

นายอนุศาสน์กล่าวว่า ในพื้นที่ภาคใต้ต้องยอมรับว่ามีกลุ่มก่อความไม่สงบหลายกลุ่ม ดังนั้นเมื่อรัฐบาลลงนามกับกลุ่มบีอาร์เอ็นแล้วจะทำให้ความรุนแรงลดลงหรือไม่ หรือยุติได้หรือไม่ ถ้าผลการเจรจาเกิดขึ้นแต่ความรุนแรงมีอยู่ จะคุยกันต่อหรือ เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่เกิดขึ้น ตนจะเสนอให้มีการหารืออย่างไม่เป็นทางการใน คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาและติดตามการแก้ไขปัญหาและการฟื้นฟูการพัฒนาตามวิถีวัฒนธรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ วุฒิสภา ในวันที่ 4 มี.ค.นี้

ด้านนายประเสิรฐ ชิตพงศ์ ส.ว.สงขลา กล่าวว่า โดยส่วนตัวเห็นด้วยที่จะเริ่มต้นการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้โดยการพูดคุยสันติภาพ ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี แต่ควรเป็นการลงนามแบบลับๆ ไม่ควรประกาศให้ทราบโดยทั่วเพราะอาจทำให้เกิดแรงกระเพื่อมในพื้นที่ได้ ซึ่งตนมีข้อห่วงใย ใน 3 ประเด็น คือ 1. การเปิดเผยว่ามีการลงนามออกมาทันที อาจสุ่มเสียงที่จะทำให้บีอาร์เอ็นนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่องค์การความร่วมมืออิสลาม หรือโอไอซี ทั้งนี้ เลขาธิการโอไอซีก็มีพยายามนำปัญหาในชายแดนภาคใต้เข้าสู่โอไอซีเพื่อขยายผลต่อ แต่ประเทศสมาชิกยังไม่เอาด้วยเท่านั้น

2. ต้องระมัดระวังเหตุการณ์ความรุนแรงที่อาจแทรกซ้อนขึ้นได้ เพราะกลุ่มอุดมการณ์ที่เคลื่อนไหวร่วมกับบีอาร์เอ็นบางส่วนอาจไม่เห็นด้วยกับการพูดคุย หรือแม้แต่กลุ่มผลประโยชน์อื่นๆ ในพื้นที่ชายแดนใต้ที่อาจสร้างสถานการณ์ความไม่สงบขึ้น เพราะคนที่มีผลประโยชน์จากความไม่สงบมีอยู่มาก

3. เมื่อนายนาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ชื่นชมและยก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีว่ามีส่วนช่วยในการประสานให้เกิดการเจรจานั้น อาจเป็นผลลบทำให้เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้นอีก เพราะต้องยอมรับว่าในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ยังมีประชาชนอีกมากที่ไม่พอใจและเจ็บแค้น พ.ต.ท.ทักษิณ ในกรณีกรือเซะ ตากใบ แม้อยากเห็นความสงบเกิดขึ้น

นายประเสริฐยังกล่าวถึงการที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เตรียมลงพื้นที่แก้ปัญหาชายแดนภาคใต้หลังการเลือกตั้งฯ ผู้ว่าฯ กทม. ว่า ร.ต.อ.เฉลิมมีภาพติดลบมากในการแก้ปัญหาภาคใต้ ทั้งการพูดและการกระทำ ซึ่งทำคนในพื้นที่ไม่ให้การยอมรับ ร.ต.อ.เฉลิมควรจะหยุดพูดและตั้งใจทำงานมากกว่านี้

ด้าน พล.อ.เกษมศักดิ์ ปลูกสวัสดิ์ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า กรณีนี้เป็นการเริ่มต้นของรัฐบาลในการนำไปสู่ความสงบของปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ แต่ทั้งนี้ปัญหาของ 3 จังหวัดชายแดนใต้นั้นไม่ได้มีแค่กลุ่มเดียว แต่มีหลายกลุ่ม ไม่รู้ว่ากลุ่มอื่นๆ นั้นจะเอาด้วยกับความคิดนี้หรือไม่ แต่ก็ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี โดยการให้กลุ่มคนในระดับล่างๆ คุยกันก่อน และในวันที่ 4 มีนาคมจะมีการประชุมของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาและติดตามการแก้ไขปัญหาและการฟื้นฟูการพัฒนาตามวิถีวัฒนธรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะมีกลุ่ม ส.ว.จาก 3 จังหวัดชายแดนใต้มาร่วมประชุมด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น