xs
xsm
sm
md
lg

“สมคิด” ชำแหละอนาคตประเทศไทย บกพร่องทั้งระบบ-ไม่รู้ว่าทางไหนเป็นนรกหรือสวรรค์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์
“สมคิด” ชำแหละอนาคตประเทศไทยยังอยู่ในวังวน การเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นภาพลวงตา ชี้การบริโภคโตเพราะการกู้ และใช้เงินในอนาคต ภาคส่งออกกำลังอยู่ในภาวะอันตรายเพราะคุณภาพการผลิตไม่สูงพอ แนะภาคประชาชนต้องเข้มแข็ง เพราะภาคการเมืองไม่มีคุณภาพ ไม่รู้ว่าทางไหนเป็นนรก หรือสวรรค์ ยอมรับการซื้อเสียงยังมีอยู่ หลังเลือกตั้งก็ไปแบ่งสมบัติกัน ปชช.ไม่เกี่ยว จะตั้งใครเป็น รมต. ก็ไม่ต้องสนใจความรู้สึก ปชช. เป็นเองไม่ได้ก็ส่งนอมินี เรียกคนไปประชุมที่บ้าน ประเทศบกพร่องทั้งระบบ ความเข้มแข็งของชาติเสื่อมถอยลง กระทบความเชื่อมั่นในศักยภาพของประเทศ

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ แสดงปาถกฐาหัวข้อ “ประเทศไทย ณ จุดเปลี่ยน” ในงานวันข่าว 5 มีนาคม ครบรอบ 58 ปี สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยระบุว่า ปัญหาของไทย ณ วันนี้ไม่น่าเหลือบ่ากว่าแรง เมื่อเทียบกับปี 2540 ถือว่าเล็กน้อยมาก ปัจจุบันไทยอยู่ในแผนพัฒนาฉบับที่ 11 ถือว่าเดินทางมาไกลมากแล้ว จีดีพีสูงถึง 10 ล้านล้านบาท และคาดว่าปีหน้าประเทศไทยจะมีอัตราการเจริญเติบโตไม่น้อยกว่า 5% ซึ่งเมื่อเออีซีเปิด ประเทศไทยมีโอกาสที่จะเป็นหัวใจของเอเชีย

อย่างไรก็ตาม ภาพดังกล่าวก็ไม่ได้ตรงกับความรู้สึกในใจของมากนัก เพราะดูไกลแล้วเหมือนภาพของเขียนน้ำมันของโมเน่ที่ดูดี แต่เมื่อเข้าไปดูใกล้ก็พร่ามั่ว เลอะ เปรอะเปื้อน แต่ประเทศไม่ใช่ภาพสีน้ำมันของโมเน่ ถ้าไม่แก้ไขปัญหาของประเทศ ปัญหาสามารถบ่มเพาะเป็นเชื้อโรคร้าย ที่วันหนึ่งจะนำมาสู่ความเสื่อมถอยในที่สุด

นายสมคิด กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้านเศรษฐกิจแม้ว่าจะยืนหยัดว่าจีดีพีเติบโตถึง 5-6% แต่เมื่อดูดีๆ ลึกๆ ไม่ง่ายที่จะรักษาไว้ได้ ถ้าไม่แก้ไขจะยืนหยัดในระดับนี้ได้อีกไม่นาน

“ประชาชนส่วนใหญ่ 30-40 ล้านคนอยู่ในภาคเกษตร แต่วงการเกษตรกรรมของเราล้าหลังทั้งกระบวนการผลิต ระบบชลประทาน การแปรรูป การบริหารอุปสงค์อุปทาน เป็นปัญหาสะสมหมักหมม คน 30-40 ล้านคน สามารถผลิตได้เพียง 10% หรือน้อยกว่าจีดีพีของทั้งประเทศเท่านั้น”

ดังนั้น เมื่อเกษตรกรยากจนมากขึ้นก็มีการเคลื่อนย้ายแรงงานเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม ประเทศทำทุกอย่างเพื่อให้มีการลงทุน อาศัยแรงงานราคาถูก รายได้จากการส่งออกไปกระจุกตัวในกลุ่มคนไม่กี่กลุ่ม”

นายสมคิด กล่าวเสริมว่า เมื่อเพิ่มค่าจ้างแล้วมีการเพิ่มค่าแรง 300 บาท ซึ่งเป็นเรื่องดีไม่ใช่ไม่ดี แต่ก็เป็นการเพิ่มภาระ ทำให้เอกชนหาทางลดค่าใช้จ่าย ผลร้ายก็ตกอยู่กับคนในภาคแรงงาน ทางหนึ่งที่จะช่วยเหลือคนยากจนก็คือ การกระจายรายได้

นายสมคิด ยอมรับว่า ขณะนี้ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 12 ของโลก ที่มีความไม่เท่าเทียมกัน เป็นอันดับ 1 ในเอเชีย 20 เราไม่มีงบพอที่ดำเนินการเรื่องระบบการศึกษา สาธารณสุข และสวัสดิการ มีรายจ่ายเพิ่มขึ้นทุกปี และอนาคตข้างหน้าคนแก่ชราจะมากขึ้นเป็นทวีคูณ

ทั้งนี้ เราควรจะต้องมีการปฏิรูปการคลัง แต่เราได้เพียงแต่พูด ระบบงบประมาณเป็นแบบตัวใครตัวมัน ส่งผลทำให้ความเท่าเทียมทางโอกาสน้อยลงไปเรื่อยๆ ประเทศจีนสร้างความเติบโตได้อย่างรวดเร็ว เพราะมีการกระจายอำนาจออกไปยังภูมิภาค รัฐบาลกลางเป็นเพียงสนับสนุนเท่านั้น ทำให้เกิดเมืองใหญ่ในทุกภูมิภาค

ส่วนกรณีของไทยที่ยังไม่ขยับไปไหน เพราะไม่ยอมปล่อยอำนาจออกไปจากส่วนกลาง ทุกอย่างกระจุกใน กทม. เมื่อไม่สามารถทำให้เกิดความเท่าเทียมขึ้นได้ ก็จะจำกัดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะคนไม่มีการพัฒนาทักษะ เมื่อมีรายได้ต่ำกำลังซื้อก็ต่ำลงไปเรื่อยๆ

นายสมคิด กล่าวว่า การบริโภคเกิดจากการกู้ยืมเงิน เป็นแค่เปลือกการบริโภค การบริโภคไม่มีความยั่งยืน ถ้ากระบวนการผลิตต่ำก็เสี่ยงที่จะเกิดประชานิยมที่เกิดในหลายประเทศ เพราะนักการเมืองต้องการได้ประโยชน์ในภายหลัง คนจนจะรู้สึกว่าไม่ได้รับการดูแล ต้องหาที่พึ่งนอกระบบ เป็นอันตรายต่อสังคม เพราะคนจะรอรับอานิสงส์จากนักการเมือง

“ไทยต้องมีการวางรากฐานอนาคต ไม่ใช่เอาเฉพาะประโยชน์เฉพาะหน้าเพื่อการเมือง เราไม่รู้เลยหรือว่าทางไหนเป็นนรก หรือสวรรค์สำหรับประเทศ หรือเป็นเพราะเรื่องนี้ทำยาก และใช้เวลานาน การเมืองจึงไม่ทำกลัวคนก่นด่า ทำให้รัฐบาลต้องกระตุ้นการบริโภคด้วยการจ่ายเงินของรัฐงบาล ไม่มีเงินก็ต้องกู้”

นายสมคิด กล่าวว่า ถ้าการเมืองจะเอาเฉพาะหน้า และยังเป็นอยู่อย่างนี้ไทยยั่งยืนยาก การส่งออกก็อยู่ตรงกลางสู้เขาไม่ได้ เพราะถูกของจีนราคาถูกตีตลาด จะเป็นสินค้าดีก็ไม่ได้ เพราะเทคโนโลยีไม่ดีพอ การส่งออกจะส่งออกยากขึ้นๆ เพราะคุณภาพไม่สูง ต่อให้มีทูตการพาณิชย์ทั่วโลกก็ช่วยไม่ได้

“เมื่อเออีซีเกิด การลงทุนจะเข้ามาเออีซี บริษัทที่เข้ามาลงทุนเขาดูว่าสิ่งแวดล้อมมีโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการลงทุน การศึกษา กฎเกณฑ์ดีพอหรือไม่ นักลงทุนจะดูสิ่งเหล่านี้ ไม่ได้ดูว่าประเทศอยู่ตรงกลางอาเซียนหรือไม่”

ด้านการเมืองการซื้อเสียงยังมีอยู่ เราเลือกตั้งเพื่อนำคนไปบริหาร แต่เลือกตั้งเสร็จเขาก็ไปแบ่งสมบัติกัน ประชาชนไม่เกี่ยว จะตั้งใครเป็นรัฐมนตรีไม่ต้องสนใจว่าประชาชนรู้สึกอย่างไร เป็นเองไม่ได้ก็ส่งนอมินี เรียกคนไปประชุมที่บ้าน ประชาธิปไตยที่ไหนกันเป็นแบบบนี้

“มองว่าการแต่งตั้งคนเป็นเรื่องของคนของใคร เพื่อไม่ให้อีกฝ่ายเอาชนะได้ ประเทศบกพร่องทั้งระบบ ไม่ได้คนที่เหมาะสมกับงาน ความเข้มแข็งของประเทศด้อยลงๆ บางครั้งไม่ใช่เพราะข้าราชการเป็นคนไม่ดี แต่เป็นเพราะสมรรถนะไม่ถึงงานที่รับผิดชอบ ความเชื่อมั่นในศักยภาพของประเทศเลือนราง ความน่าเชื่อถือน้อยลง”

ขณะที่ด้านสังคมก็มีการให้คุณค่าของคนทำงานคุณภาพน้อยลง มองคนที่ฐานะการเงิน มองคอร์รัปชันว่าไม่ใช่สิ่งเลวร้าย ประเทศไทยมีข้อมูลข่าวสารมาก แต่วัยรุ่นสนใจเรื่องอะไร เรามีสื่อของพรรคการเมืองที่สร้างการเป็นปฏิปักษ์ มีวิทยุชุมชนที่ควบคุมคุมไม่ได้ เมือถามว่าปัญหาเหล่านี้จะแก้อย่างไร คนก็โทษไปที่นักการเมือง แต่ความจริงแล้วเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่

นายสมคิด กล่าวสรุปว่า ภาคประชาชนต้องเข้มแข็ง แก้ปัญหาด้วยการเมืองเป็นเรื่องยากมาก ต้องแก้ด้วยภาคประชาชนที่เข้มแข็ง สื่อถือเป็นหัวใจหลักที่จะก่อกำเนิดความเข้มแข็งของภาคประชาชน สื่อต้องทำให้สังคมที่กำลังไขว้เขวหันกลับมามีสติ
กำลังโหลดความคิดเห็น