นักวิชาการ “นิติราษฎร์” สมานฉันท์วันสุขศรี ขึ้นเวที “ศาลกับความยุติธรรมในคดีมาตรา 112” ชี้ “ตุลาการภิวัฒน์” ไม่พิสูจน์คำพิพากษาหลายคดีขัดแย้งกฎหมาย อ้างมีความไม่เท่าเทียม ปชช.ต้องสามารถตรวจสอบได้ทุกสถาบัน “ปิยะบุตร” เหน็บมี “ตุลาการกษัตริย์นิยม“ ตัดสินไม่เหมือนกัน แถมโยงกับความมั่นคงของชาติ แขวะเดี๋ยวนี้สถาบันต้องมาก่อนเสมอ
วันนี้ (17 มี.ค.) ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ได้มีการจัดงานสัมมนา “ศาลกับความยุติธรรมในคดีมาตรา 112” โดยนายวาด รวี นักเขียนคณะแสงสำนึก และคณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 หรือ ครก. 112 กล่าวในงานสัมมนาว่า คำพิพากษาคดีของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการนิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณ และแกนนำกลุ่ม 24 มิถุนา ประชาธิปไตย ที่ศาลวินิจฉัยว่าให้พ้นไปจากความรับผิดตาม พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ ปี 2484 ซึ่งกำหนดโทษสำหรับบรรณาธิการสิ่งพิมพ์ ที่มีบทหมิ่นประมาท เป็นกฎหมายที่ยกเลิกไปแล้ว แต่ศาลกลับวินิจฉัยให้นายสมยศ มีความผิด เนื่องจากบทความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยการสืบค้นคดีพบว่า ศาลได้วิเคราะห์ตีความพยานเพียงบางส่วนเท่านั้น
ด้าน น.ส.สาวตรี สุขศรี นักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ ชี้แจงว่า ภายหลังจากเกิดตุลาการภิวัฒน์ กับการถูกตั้งคำถามว่าสอดคล้องกับการเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ และคำพิพากษาในหลายคดี โดยเฉพาะ มาตรา 112 มีลักษณะขัดหรือแย้งกับกฎหมายหรือไม่ อย่างไรก็ตาม พบว่าไม่ได้มีการพิสูจน์จนสิ้นข้อสงสัย ดังนั้นความไม่เท่าเทียมกันจึงเกิดขึ้น และมองว่าไม่ว่าจะสถาบันใด ประชาชนก็สามารถที่จะขอตรวจสอบได้
ขณะที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล หนึ่งในกลุ่มนิติราษฎร์ กล่าวว่า กรณีที่นายสมยศและนายเอกชัย หงส์กังวาน อดีตพ่อค้าหวยออนไลน์ ผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ นำวีซีดีต้องห้ามจำหน่าย ได้โต้แย้งกับศาลรัฐธรรมนูญว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้ คือ ขัดต่อมาตรา 3 โดยขัดต่อหลักนิติธรรม ขัดต่อมาตรา 45 และมาตรา 29 คือกระทบต่อเสรีภาพในความคิดเห็นมากจนเกินไป และเกินกว่าเหตุ แต่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยออกมาว่าประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยตนจะขอวิจารณ์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมี 2 ชุด คือ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแบบกษัตริย์นิยม กับตุลการศาลรัฐธรรมนูญแบบประชาธิปไตย คอยดูได้เลยว่าการตัดสินของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญของทั้ง 2 ชุด จะตัดสินออกมาไม่เหมือนกันแน่นอน
นอกจากนี้ ยังมีการเอาสถาบันกษัตริย์ไปโยงกับความมั่นคงของชาติ โดยอธิบายว่าสถาบันกษัตริย์มีลักษณะพิเศษ และลักษณะเฉพาะ จึงนำประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไปผูกกับรัฐธรรมนูญมาตรา 8 ที่เขียนว่าองค์พระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะผู้ที่ใดจะละเมิดไม่ได้ จากนั้นได้วินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เหตุผลที่ใช้ในคำวินิจฉัยดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าอย่างชัดแจ้งว่ากษัตริย์มาก่อนสิทธิเสรีภาพกษัตริย์มาก่อนใครใดๆ ทั้งสิ้นภายในประเทศนี้ โดยที่ศาลรัฐธรรมนูญไทยพยายามโฆษณาตัวเองตลอดเวลาว่า ตัวเองมีบทบาทในการคุ้มครองสิทธิ และเสรีภาพต่างๆ ของบุคคล แต่สิทธิเสรีภาพเหล่านี้ที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้เพื่อจะคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของตัวบุคคลจะหยุดลงและยุติลงทันทีเมื่อเจอกับกฎหมายที่สร้างขึ้นเพื่อประโยชน์สถาบันพระมหากษัตริย์ หรือพูดง่ายๆ ว่ากษัตริย์ต้องมาก่อนเสมอ หรือพูดง่ายๆ ว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ต้องมาก่อนเสมอ