xs
xsm
sm
md
lg

ผลสะเทือนของพลังพลเมืองเปลี่ยนประเทศไทย

เผยแพร่:   โดย: ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ

เนื่องด้วยการปฏิรูปประเทศไทยไม่สามารถดำเนินการได้ภายในระยะเวลาอันสั้น อันเนื่องมาจากมีความสลับซับซ้อนของปัจจัยจำนวนมาก มากกว่านั้นยังมีระดับของการเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชนในการเข้าร่วมกิจการสาธารณะ โดยเฉพาะการกำหนดนโยบายสาธารณะเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา (Catalyst) สำหรับขบวนการปฏิรูปประเทศไทยด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมัชชาปฏิรูปประเทศไทยที่มีมิติของขบวนการทางสังคมอยู่ในเนื้อหาของการขับเคลื่อนนั้นไม่อาจมองผ่านแว่นสายตาของความสำเร็จ (Success) หรือล้มเหลว (Failure) ได้ ด้วยช่วงเวลา 3 ปีที่ขบวนการปฏิรูปประเทศไทยตั้งต้นผลิตชุดข้อเสนอเชิงนโยบายด้วยกระบวนการแบบฉันทามติ (Consensus) เพื่อสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยนั้นนับเป็นแค่ห้วงยามแสนสั้นของ ‘การปฏิรูปประเทศไทย’ ที่ต้องใช้ระยะเวลายาวนานในการเปลี่ยนแปลง

ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงประเทศไทยในระดับของโครงสร้างสังคมจะกระทำไม่ได้ตราบใดไม่แก้ไขปัญหาการกระจายอำนาจจากรัฐส่วนกลางไปยังท้องถิ่นที่ขาดประสิทธิภาพจนทำให้ชุมชนอ่อนแอเพราะรัฐยังคงรวมศูนย์อำนาจอย่างเข้มข้น และเป็นการถ่ายโอนอำนาจจากรัฐส่วนกลางไปยังองค์กรรัฐระดับท้องถิ่นที่ไม่ถึงสังคมที่มีประชาชนเป็นฐาน รวมทั้งยังไม่อาจคลี่คลายกระบวนการนโยบายสาธารณะที่ถูกกำหนดจากฟากฝั่งนักการเมือง เทคโนแครต และนักวิชาการบางส่วนซึ่งไม่ยึดโยงกับผลประโยชน์ของประชาชนจนส่งผลให้นโยบายสาธารณะจำนวนหนึ่งกระทบต่อประชาชนและชุมชนท้องถิ่นอย่างรุนแรง

ด้วยตระหนักถึงปัญหาการวมศูนย์อำนาจ (Centralization) และการขาดกระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม (Public Policy Process) ซึ่งสร้างปัญหามากมายแก่ประชาชน คณะกรรมการปฏิรูปจึงเสนอข้อเสนอเชิงนโยบายในการแก้ไขปัญหารวมศูนย์อำนาจที่มีมิติครอบคลุมลุ่มลึกกว้างซึ่งล้วนแล้วแต่สัมพันธ์กับแก่นกลางวิกฤตปัญหา ‘โครงสร้างอำนาจที่ไม่เป็นธรรม’ ขณะที่สมัชชาปฏิรูปประเทศไทยก็เร่งสร้างเสริมกระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมขึ้นมาโดยการสร้างพื้นที่หรือเวทีสาธารณะที่เปิดกว้างกับการเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อจะสามารถร่วมกันคิดค้นเพื่อค้นพบอุปสรรคปัญหาก่อนจัดทำเป็นมติหรือข้อเสนอเชิงนโยบายที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนทุกคนต่อไป ดังเวทีสมัชชาปฏิรูปประดับชาติ สมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็น และสมัชชาปฏิรูประดับพื้นที่ ที่เป็นพื้นที่สาธารณะให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับประเด็นความไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำต่างๆ

หนทางสร้างความเป็นธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยที่ประชาชนผู้ทุกข์ทนจากการถูกเอารัดเอาเปรียบ ‘แสวงหา’ จึงเลี่ยงไม่พ้นการถากถางเส้นทางนโยบายสาธารณะที่เสริมสร้างอำนาจชุมชนท้องถิ่นและลดทอนความเสียเปรียบของประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม รวมทั้งจัดตั้งกลไกในการกระจายอำนาจจากส่วนกลางสู่ท้องถิ่นที่มีผลบังคับใช้ทั้งในทางกฎหมายและสังคม ควบคู่กับมีบทลงโทษในกรณีที่รัฐไม่ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ ไม่เท่านั้นยังต้องทำให้ประชาชนที่ถูกโปรยยาหอมด้วยนโยบายประชานิยมต่างๆ เปลี่ยนเส้นทางการดำเนินชีวิตแบบ ‘ร้องขอรอรัฐช่วยเหลือ’ มาเป็นแนวทางการพึ่งพิงตนเอง วิพากษ์วิจารณ์นโยบายสาธารณะและโครงการขนาดใหญ่ ในขณะเดียวกันก็พร้อมตรวจสอบและถ่วงดุลการบริหารราชการของรัฐบาลแม้ว่าจะเป็นรัฐบาลที่ตนเองเลือกตั้งเข้ามาเพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการใช้งบประมาณ ไม่เกิดการทุจริตคอร์รัปชันเชิงนโยบาย

ภายใต้สถานการณ์ประเทศไทยเช่นนี้มีแต่การสร้าง ‘พลังพลเมือง’ ขึ้นมาเท่านั้นที่พอจะเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่ความเป็นธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้ ด้วยในที่สุดแล้วประชาชนที่เปลี่ยนแปลงตนเองเป็นพลเมืองตามระบอบประชาธิปไตยที่ใช้สิทธิและเสรีภาพไปในการเคลื่อนไหวเรียกร้องประเด็นของตนเองต่อรัฐ ในขณะที่ก็เคารพสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่นทั้งที่อยู่เฉยๆ ไม่เห็นด้วย หรือกระทั่งคัดค้านต่อต้าน จะทำให้การเปลี่ยนแปลงประเทศไทยไม่เกิดความรุนแรง (Non-Violence)

รวมทั้งพลังพลเมืองจะก่อตัวเป็นเครือข่ายอำนาจแบบไม่เป็นทางการที่กระจายตัวเลื่อนไหลไปทุกองคาพยพของสังคมไทยโดยรัฐไม่สามารถสลายอำนาจรัฐเหล่านี้ลงได้ จนในที่สุดจะมีพลังมากพอทำให้รัฐไม่อาจลุแก่อำนาจในการจะกำหนดนโยบายสาธารณะที่คุกคาม ข่มขู่ หรือเอารัดเอาเปรียบประชาชนบนการกอบโกยผลประโยชน์ของประเทศชาติมาเป็นผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องได้อีกต่อไป

ในถนนสายความเป็นธรรมที่มีประชาชนผู้คับแค้นขื่นขมขับเคลื่อนด้วยชีวิตและเลือดเนื้อของพวกเขานั้น จึงมีด้วยกันหลายเส้นทางโดยหลากกลุ่มหลายขบวนการทางสังคมที่เข้าร่วมหนุนเสริม ซึ่งหนึ่งในความหลากหลายของขบวนการทางสังคมที่มีจุดมุ่งหมายเหมือนกันในการสร้างสังคมไทยที่มีความเป็นธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมนั้นคือขบวนการปฏิรูปประเทศไทยของคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปและคณะกรรมการปฏิรูป ที่ทำทั้งข้อเสนอเชิงนโยบายและกระบวนการทางสังคมเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมไทยที่อยุติธรรมและเหลื่อมล้ำ ซึ่งต่างต้องใช้เวลาและทรัพยากรมหาศาล

ด้วยเหตุนี้จึงไม่ ‘ยุติธรรม’ นักถ้าจะวัดความสำเร็จหรือล้มเหลวของคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปหรือคณะกรรมการปฏิรูปที่ไม่สามารถผลักดันข้อเสนอหรือมติต่างๆ ให้เป็นรูปธรรมได้ ด้วยนอกเหนือไปจากข้อจำกัดด้านประชาชนที่ยังไม่ตื่นตัวเป็น ‘พลังพลเมืองปฏิรูปประเทศไทย’ ที่อย่างน้อยสุดก็เรียกร้องหรือเคลื่อนไหวในประเด็นที่ลิดรอนละเมิดสิทธิและเสรีภาพของตนเอง และการไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการนโยบายสาธารณะของภาคประชาชน ดังกล่าวมาข้างต้นแล้ว การถูกปักป้ายฝ่ายตรงข้ามความคิดทางการเมืองยังเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้ข้อเสนอหรือมติเหล่านี้ไม่ถูกนำไปปฏิบัติ ศึกษา อ้างอิง หรือกระทั่งไม่รับรู้ถึงการมีตัวตนของข้อเสนอเหล่านี้ ที่ต่างไปจากกรณีของการวิจัยที่ไม่ถูกนำไปใช้หรือ ‘ขึ้นหิ้ง’

ถึงกระนั้นถ้ากล่าวถึงที่สุด ข้อเสนอหรือมติที่นำไปสู่การปรับเปลี่ยนสัมพันธภาพทางอำนาจของสังคมไทยเหล่านี้ก็ไม่ได้หายไปไหนถึงรัฐจะไม่ได้นำไปปฏิบัติหรือต่อยอดทางนโยบายเพื่อขยายความเป็นธรรมให้ถมช่องว่างความเหลื่อมล้ำ เพราะผลของข้อเสนอหรือมติเหล่านี้ได้สร้างผลกระทบ (Impact) จากการสร้างกระบวนการ (Process) ในการเคลื่อนไหวที่สามารถสร้างความตื่นตัวในขบวนการทางสังคมและสาธารณชนวงกว้างเกี่ยวกับความไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำต่างๆ ที่กำลังทำร้ายสังคมไทยในขณะที่ ที่จำเป็นจะต้องใช้ ‘พลังพลเมืองปฏิรูปประเทศไทย’ ในการแสวงหาทางออกจากวิกฤตการณ์ต่างๆ ด้วยหนทางของการสร้างความเห็นพ้องหรือยอมรับร่วมกันอันเป็นแนวทางเดียวกันกับความไม่รุนแรง (Non-Violence) นั่นเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น