xs
xsm
sm
md
lg

พลเมือง : พลังปฏิรูปประเทศไทย

เผยแพร่:   โดย: ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ

พลังพลเมืองเป็นปัจจัยและเงื่อนไขสำคัญยิ่งยวดในห้วงการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่ความเป็นธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ทั้งนี้มิเพียงเพราะพลเมืองเป็นกำลังหลักในการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยในแนวทางที่ไม่เกิดความรุนแรง (Non-Violence) เท่านั้น ทว่ายังเป็นเครือข่ายของอำนาจแบบไม่เป็นทางการและกระจายตัวเลื่อนไหลที่สามารถคานอำนาจรัฐไม่ให้ลุแก่อำนาจในการกำหนดนโยบายสาธารณะที่ข่มขู่คุกคามเอารัดเอาเปรียบประชาชนบนการกอบโกยผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นผลประโยชน์ของตนเองด้วย ด้วยเพราะพลเมืองจะเคลื่อนไหวเพื่อลดอำนาจรัฐและเพิ่มอำนาจประชาชน โดยไม่ได้แบมือขอให้รัฐคายอำนาจที่มี เพราะมีแต่ต้องลงมือทำด้วยตนเองเท่านั้นประชาชนถึงจะมีอำนาจ

ทั้งนี้ การสร้างเสริมพลังพลเมืองจึงเป็นเนื้อเดียวกันกับการกระจายอำนาจการปกครองและเศรษฐกิจเพื่อลดการผูกขาดอำนาจรวมศูนย์ที่กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มกุมอำนาจรัฐและทุนทั้งในระดับชาติและท้องถิ่น รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งในทิศทางใหญ่ของการปฏิรูปประเทศใทยให้อยู่ในครรลองของระบอบประชาธิปไตยที่ให้ความสำคัญกับการแก้วิกฤตอยุติธรรมต่างๆ ที่สร้างความเหลื่อมล้ำนานัปการตามมา

ทว่ากว่าจะสร้างพลังพลเมืองเพื่อปฏิรูปประเทศไทยได้บรรลุผลนั้น นอกเหนือไปจากการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมืองให้ต้องเปิดกว้างกับการรวมกลุ่มและเคลื่อนไหวของประชาชนไม่ว่าจะบนท้องถนนหรือสถานที่สาธารณะอื่นๆ แล้ว ก็จำเป็นต้องมีเวทีที่เป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถกเถียง ถกแถลง แสดงเหตุผลข้อมูลเกี่ยวกับความคับแค้นขัดสนและผลกระทบจากการพัฒนารูปแบบต่างๆ ด้วยเช่นกัน ดังสมัชชาปฏิรูประดับชาติครั้งที่ 3 พ.ศ. 2556 ซึ่งกำหนดธีมหลัก (theme) เป็น ‘พลังพลเมืองปฏิรูปประเทศไทย’ ซึ่งจะจัดประชุมขึ้นระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม - 2 มิถุนายน 2556 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบแทคนั้นที่ด้านหนึ่งจะทำหน้าที่เป็นเวทีที่เปิดกว้างกับการนำเสนอความไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำรูปแบบต่างๆ ที่พรากโอกาสทางเศรษฐกิจและการเมืองออกจากคนเล็กคนน้อย

โดยปีที่ 3 ของการปฏิรูปประเทศไทย สมัชชาปฏิรูปประเทศไทยได้กำหนด 6 ประเด็นสำคัญในการสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำ ดังนี้ 1) ธรรมนูญเพื่อการจัดการตนเอง 2) การปฏิรูประบบป้องกันและปราบปรามเพื่อหยุดวิกฤตคอร์รัปชัน เพิ่มภาพลักษณ์ความโปร่งใส 3) การปฏิรูประบบพลังงานหมุนเวียน : สิทธิ การเข้าถึง และความเป็นธรรมเพื่อการพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืน 4) พลังพลเมืองปฏิรูปสื่อเพื่อการปฏิรูปสังคม 5) ปฏิรูปกลไกขับเคลื่อนความเสมอภาคระหว่างเพศ เสริมพลังพลเมืองสู่การปฏิรูปประเทศไทย และ 6) การบริหารจัดการน้ำและแก้ไขอุทกภัยอย่างมีส่วนร่วมและบูรณาการ

ก่อนหน้านั้นก็มีข้อเสนอสมัชชาปฏิรูประดับชาติครั้งที่ 1 ว่าด้วย 1) การปฏิรูปการจัดสรรทรัพยากรที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน 2) การปฏิรูปโครงสร้างการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 3) การคืนความเป็นธรรมให้แก่ประชาชนในกรณีที่ดินและทรัพยากร 4) การปฏิรูประบบประกันสังคมเพื่อความเป็นธรรม 5) การสร้างระบบหลักประกันในการดำรงชีพและระบบสังคมที่สร้างเสริมสุขภาวะแก่ผู้สูงอายุ 6) การสร้างสังคมไทยที่คนไทยอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน 7) การปฏิรูปการกระจายอำนาจเพื่อเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพการจัดการตนเองของชุมชนท้องถิ่น และ 8) ศิลปวัฒนธรรมกับการสร้างสรรค์และเยียวยาสังคม

และครั้งที่สองกับการพัฒนาข้อเสนอลดความเหลื่อมล้ำเพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคม คือ 1) การปฏิรูประบบแรงงานและสวัสดิการ : การเพิ่มอำนาจต่อรองของแรงงาน การปรับโครงสร้างค่าจ้างและการคุ้มครองแรงงาน 2) การปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ : สู่การปรับดุลอำนาจที่เหมาะสมระหว่างรัฐบาลกลางกับชุมชนท้องถิ่น 3) การปฏิรูประบบเกษตรกรรม : ความมั่นคงเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตเกษตรกร 4) การปฏิรูประบบการเมือง : พัฒนาความเป็นพลเมืองในสังคมประชาธิปไตย 5) การปฏิรูปโครงสร้างและกฎหมายด้านที่ดิน : การบริหารจัดการที่ดิน และ 6) การปฏิรูปการศึกษา : ปรับทิศทางการศึกษาเพื่อสร้างคุณภาพ

ทั้ง 2 ปีที่ผ่านมา และกำลังย่างเท้าเข้าสู่ปีที่ 3 ของการปฏิรูปประเทศไทยในกลางปีนี้ กับการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายหรือ ‘มติปฏิรูปประเทศไทย’ ในหลากหลายด้านที่มีความแตกต่างกันทั้งในช่วงเวลาของการปฏิบัติการ ดัชนีชี้วัดความสำเร็จ ไปจนถึงการพัฒนากลไกในเชิงสถาบันหรือสังคมขึ้นมารองรับกับการขับเคลื่อนประเด็นนั้นๆ แม้จะยังไม่อาจประสบความสำเร็จได้ทั้งหมด แต่ทว่าก็ถือว่ามีพัฒนาการก้าวหน้าในหลากหลายประเด็นเช่นกัน ดังเช่นกรณีที่ดินทั้งในแง่ของการบริหารจัดการและการคืนความเป็นธรรมกับประชาชน และการเกษตรกรรมที่มีความพยายามสร้างความเป็นธรรมในระบบเกษตรพันธสัญญา (Contract Farming) และสร้างความปลอดภัยทางอาหารแก่ผักผลไม้ที่บริโภคภายในประเทศ

ถึงแม้จะมีความต่างกันของประเด็นและแนวทางการขับเคลื่อน หากแต่ทว่าที่เหมือนกันคือข้อเสนอของสมัชชาปฏิรูประดับชาติทั้ง 3 ปีนั้นต่างวางอยู่บนกระบวนการฉันทามติ (consensus) ที่มีประชาชนผู้เปลี่ยนแปลงตนเองเป็นพลเมืองที่มีความกระตือรือร้น (active citizen) ในการริเริ่ม สร้างสรรค์ กำหนด วิเคราะห์ สังเคราะห์ ประเมิน และตรวจสอบนโยบายสาธารณะต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางจนน่าจะทำให้กระบวนการผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบายเหล่านี้มีผลทางปฏิบัติจริงต่อไปในอนาคตได้แน่นอน

กล่าวโดยสรุปข้อเสนอทั้งมวลในเวทีสมัชชาปฏิรูประดับชาติเพื่อเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่ความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมในระดับของโครงสร้างและระบบนั้นนับได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามปฏิรูปประเทศไทยในภาพใหญ่ที่มีจุดมุ่งหมายให้เกิดวามเปลี่ยนแปลงในสัมพันธภาพทางอำนาจที่เหลื่อมล้ำอย่างมากระหว่างคนกลุ่มต่างๆ ทางสังคม ควบคู่กับเดินหน้าให้เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และร่วมกันถกแถลงเหตุผลความสำคัญเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายสาธารณะต่างๆ อย่างคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและความเป็นธรรมกับคนทุกกลุ่มในสังคม โดยเฉพาะคนปลายอ้อปลายแขมที่ได้รับผลกระทบจากการกำหนดมาตรการทางกฎหมายและนโยบายของรัฐ รวมถึงการเข้ามาของโครงการขนาดใหญ่ของเอกชนจำนวนมากโดยที่เสียงของประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนนั้นกลับไม่มีเสียงหรือถึงมีเสียงคัดค้านแต่ทว่าก็ไม่ดังมากพอที่สังคมจะใส่ใจแคร์ แม้ว่าจะอัดแน่นด้วยหลักฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ (Evidence Based) ที่มาจากเลือดเนื้อชีวิตจนยากจะคัดค้านหรือตอบโต้ได้ก็ตามที
กำลังโหลดความคิดเห็น