xs
xsm
sm
md
lg

มติสมัชชาสุขภาพ 2555 เร่งรัด “สร้างความเป็นธรรม” การเข้าถึงบริการสุขภาพของคนพิการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คนพิการสนใจเข้าร่วมงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ 2555 (ภาพจาก Blog ของนายปรีดา ลิ้มนนทกุล ผู้ทุพพลภาพสิ้นเชิงถาวร ตามหลักทางด้านความหมายทางกายภาพ แต่ทางด้านจิตใจไม่ใช่เพราะเขาต่อสู้และรักการทำงาน)
‘สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ’ เป็นกระบวนการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 กำหนดให้มีการจัดประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

โดยเริ่มจัดประชุมสมัชชาสุขภาพฯ ครั้งแรกในปี 2551 มติที่ผ่านการรับรองจากที่ประชุมจะมีกระบวนการผลักดันให้นำไปสู่การปฏิบัติหลายช่องทาง เช่น นำเสนอมติผ่านคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบและมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการ เป็นต้น

ขับเคลื่อนนโยบาย ผ่านเวทีสมัชชาสุขภาพฯ

ในการประชุมสมัชชาสุขภาพฯ ครั้งที่ 3 ในเดือนธันวาคม 2553 ประเด็น ‘ความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการสุขภาพของคนพิการ’ ได้ถูกบรรจุอยู่ในวาระการประชุมครั้งนั้นด้วย โดยที่ประชุมได้มีมติออกมา 6 ข้อหลัก เช่น ข้อ 1 ขอให้คณะกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพแห่งชาติตระหนักถึงความสำคัญของความแตกต่างเหลื่อมล้ำของสิทธิประโยชน์ และกลไกการจ่ายค่าบริการในการดูแลสุขภาพคนพิการของหลักประกันสุขภาพต่างๆ ที่ทำให้คนพิการไม่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้ตามความจำเป็น ฯลฯ

ข้อ 2 ขอให้คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ พิจารณามอบหมายให้คณะอนุกรรมการส่งเสริมฯ คนพิการประจำจังหวัด และคณะอนุกรรมการส่งเสริมฯ คนพิการกรุงเทพฯ บูรณาการประเด็นการพัฒนาสุขภาพคนพิการเข้ากับแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการประจำจังหวัด โดยให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ และให้บรรจุในแผนพัฒนายุทธศาสตร์ระดับจังหวัด โดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน รวมทั้งพิจารณาจัดสรรงบประมาณเพื่อการลงทุนและดำเนินการพัฒนาสุขภาพคนพิการระดับจังหวัดอย่างเป็นระบบ

ข้อ 3 ขอให้สถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ สวรส. และสถาบันการศึกษา ดำเนินการพัฒนาศักยภาพการวิจัยเพื่อสร้างความรู้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการให้มากขึ้น

ข้อ 4 ขอให้กระทรวงสาธารณสุขจัดทำแผนพัฒนาระบบบริการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการทางการแพทย์เพื่อพัฒนาศักยภาพของสถานบริการในทุกสังกัด เร่งผลิตและกระจายกำลังคนอย่างเหมาะสม

ข้อ 5 ขอให้กระทรวงที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน กระทรวงคมนาคม กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และกระทรวงการท่องเที่ยวและการกีฬา พิจารณากำหนดตัวชี้วัดระดับกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และติดตามและประเมินผลอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 5 ปี

ข้อ 6 ขอให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการสุขภาพคนพิการเพื่อทำหน้าที่เชื่อมประสานหน่วยงานและองค์กรภาคีเครือข่ายต่างๆ ในการจัดสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นว่าด้วยคนพิการ ในการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคนพิการไปสู่การปฏิบัติของฝ่ายต่างๆ อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง รวมถึงการสนับสนุนการสร้างและจัดการความรู้ที่เกี่ยวข้อง

จากมติสมัชชาฯ นำไปสู่การปฏิบัติ

หลังจากนั้น ในวันที่ 26 เมษายน 2554 คณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 3 เรื่องความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการสุขภาพของคนพิการ และได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการตามมติทั้ง 6 ข้อ อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนตามมติดังกล่าวในช่วงระยะเวลาประมาณ 1 ปีเศษมีทั้งความคืบหน้าและประเด็นปัญหาที่ยังเป็นอุปสรรคต่างๆ

เช่น มติข้อ 1 การลดความแตกต่างเหลื่อมล้ำของสิทธิประโยชน์ และกลไกการจ่ายค่าบริการในการดูแลสุขภาพคนพิการของหลักประกันสุขภาพต่างๆ ที่ทำให้คนพิการไม่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้ตามความจำเป็นนั้น เนื่องจาก ‘คณะกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพแห่งชาติ’ ซึ่งถือว่าเป็นกลไกสำคัญในการนำมติไปปฏิบัติได้ถูกยกเลิกไปหลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2555 ให้ยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัฒนาระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2553 จึงทำให้ขาดกลไกในการนำมติไปปฏิบัติเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

นอกจากนี้ แผนงานมติดังกล่าวยังพบปัญหาและอุปสรรคจากการที่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการค่อนข้างล่าช้า จึงทำให้มีเพียงแผนการขับเคลื่อนงานระยะสองปี ยังไม่มีแผนระยะยาว อีกทั้งกลไกวิชาการที่สนับสนุนการขับเคลื่อนยังมีกำลังคนค่อนข้างน้อยและยังขาดสมรรถนะด้านการวิเคราะห์และสังเคราะห์เชิงยุทธศาสตร์ สมรรถนะด้านการวิจัยเชิงนโยบายและระบบสุขภาพสำหรับคนพิการ ที่สำคัญยังไม่มีการสนับสนุนงบประมาณเพื่อพัฒนากลไกการขับเคลื่อนที่เพียงพอ

ดังนั้น การประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 5 ระหว่างวันที่ 18-20 ธันวาคม 2555 ณ ศูนย์ประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ ที่ผ่านมา จึงได้มีการรายงานความก้าวหน้าและมีการปรับเปลี่ยนการดำเนินงานตามมติ ‘ความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการสุขภาพของคนพิการ’ เพื่อให้การขับเคลื่อนงานมีความยืดหยุ่นสอดคล้องไปกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป

เร่งรัดมติ “สร้างความเป็นธรรม” เพื่อคนพิการ

จากการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 5 ประจำปี 2555 มีประเด็นที่ได้รับคัดเลือกให้บรรจุอยู่ในวาระการประชุมจำนวน 9 ประเด็นด้วยกัน เช่น การจัดการปัญหาหมอกควันที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ, ความปลอดภัยทางอาหาร, เด็กไทยกับไอที, พระสงฆ์กับสุขภาวะ, ผลกระทบจากสุขภาวะจากการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะสินค้าและอาหารทางการเกษตร ฯลฯ

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบผลการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติตามมติในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่ผ่านมา รวม 12 มติ ซึ่งในมติ ‘ความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการสุขภาพของคนพิการ’ จากการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 3 พ.ศ. 2553 ในที่ประชุมได้พิจารณารายงานผลการดำเนินงานที่จัดทำโดยคณะกรรมการสุขภาพคนพิการแล้ว มีมติดังนี้

ยืนยัน มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 3 ประเด็น ‘การสร้างเสริมความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการสุขภาพคนพิการ’

รับทราบ ผลการดำเนินงานตามมติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งปัญหา อุปสรรค และข้อจำกัดในการดำเนินงานตามมติบางข้อ

ชื่นชม รัฐบาลที่มีนโยบายให้ลดความเหลื่อมล้ำของสิทธิประโยชน์และการเข้าถึงบริการของกองทุนประกันสุขภาพทั้ง 3 กองทุน (กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนประกันสังคม และระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ) อย่างเป็นรูปธรรม เริ่มด้วยการประกาศนโยบาย ‘เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ทั่วถึงทุกคน’ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2555

ห่วงใย ในผลกระทบโดยตรงจากการยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัฒนาระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2553 ที่ส่งผลให้คณะกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพแห่งชาติที่ได้รับการร้องขอให้ถือปฏิบัติตามมติข้อ 1 ของมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 3 ในเรื่องการสร้างเสริมความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการสุขภาพของคนพิการนี้ถูกยกเลิกไป ทำให้ขาดกลไกที่รับผิดชอบนำข้อมติไปปฏิบัติ

มีความกังวลว่า ยังมีหลายข้อมติที่ยังไม่ได้ดำเนินการสร้างความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการสุขภาพคนพิการ และยังมิได้เร่งรัดการดำเนินงานให้เกิดเป็นรูปธรรมและสามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้จริงโดยเร็วที่สุด

จึงมีมติเพื่อเร่งรัดการสร้างเสริมความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการสุขภาพของคนพิการดังต่อไปนี้

1. ขอให้ทั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนประกันสังคม และระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ เร่งดำเนินการในเรื่องดังต่อไปนี้

1.1 สร้างความเป็นธรรมของสิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับบริการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยเรื่องบริการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยกระบวนการทางการแพทย์และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ค่าอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการ และสื่อส่งเสริมพัฒนาการสำหรับคนพิการ พ.ศ. 2552 ซึ่งครอบคลุมบริการ อุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการ ยาและเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยา และระบบการเงินการคลัง ทั้งนี้ควรมีกลไกที่จะทบทวนและปรับปรุงสิทธิประโยชน์ บริการ และการคลังอย่างต่อเนื่อง โดยให้ภาคประชาชนและผู้แทนองค์กรด้านคนพิการมีส่วนร่วม

1.2 เร่งรัดตรวจสอบ และปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ กฎเกณฑ์ เพื่อขจัดข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าร่วม เป็นหน่วยร่วมจัดบริการสุขภาพสำหรับคนพิการขององค์กรด้านคนพิการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้รวมถึงการจัดทำมาตรฐาน ระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องตามความจำเป็น

1.3 ในชั้นต้นระหว่างการดำเนินงานตามข้อ 1.2 ขอให้ สปสช.สนับสนุนหน่วยงานต่างๆ เช่น สมาคม ชมรมคนพิการ ให้ดำเนินการร่วมจัดบริการในรูปแบบรายโครงการ (project based) ต่อไปก่อน ทั้งนี้โดยให้ครอบคลุมทุกประเภทความพิการ

2.ขอให้ศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เร่งประกาศใช้ ‘แนวทางการดำเนินงานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องการบริการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยกระบวนการทางการแพทย์และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ค่าอุปกรณ์ เครื่องช่วยความพิการ และสื่อส่งเสริมพัฒนาการสำหรับคนพิการ พ.ศ. 2552” เพื่อส่งเสริมการพัฒนาบริการตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข รายการบริการฯ ตามมาตรา 20 (1) ของพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 โดยเร็วที่สุด

3. ขอให้คณะกรรมการสุขภาพคนพิการประสานและสนับสนุนการดำเนินการตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 3 เรื่อง ‘ความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการสุขภาพของคนพิการ’ และการดำเนินการตามมตินี้ แล้วเสนอความคืบหน้า รวมทั้งปัญหาและอุปสรรคต่อสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 7

การขับเคลื่อนมติ ‘ความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการสุขภาพของคนพิการ’ นับเป็นการพัฒนาขึ้นมาอีกในระดับหนึ่ง แม้ในช่วงที่ผ่านมาจะมีอุปสรรค ซึ่งเมื่อแผนการดำเนินงาน มีภาพร่างที่ชัดเจนขึ้นมาแล้ว จะต้องติดตามกันต่อไปว่าเส้นทางสู่ความเป็นธรรมในเรื่องดังกล่าวจะก้าวต่อไปอย่างไร
กำลังโหลดความคิดเห็น