เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - ศูนย์ความปลอดภัยทางอาหารฮ่องกงเผย (18 ธ.ค.) หลังจากการสุ่มตรวจ พบน้ำมันปรุงอาหารสี่ตัวอย่างปนเปื้อนสารก่อมะเร็งในระดับสูงกว่ามาตรฐานที่สหภาพยุโรปกำหนด
ศูนย์ความปลอดภัยทางอาหารได้นำตัวอย่างน้ำมัน 39 ตัวอย่างจากโรงงานอุตสาหกรรมวิงคินเขตขุยชง โรงงานผู้ผลิตในถุนเหมิน และจากอีก 13 ภัตตาคารในเขตที่แตกต่างกันไป โดยเข้าไปทำการซื้อน้ำมันโดยตรงจากผู้ผลิต
ผลการตรวจสอบปรากฏว่า สองตัวอย่างจากเขตถุนเหมินปนเปื้อนสารก่อมะเร็งเบนโซไพรีน (Benzopyrene ) ในปริมาณ 16 และ 17 ไมโครกรัมต่อน้ำมันหนึ่งกิโลกรัม สูงเกินกว่าที่กฎหมายของแผ่นดินใหญ่กำหนดว่าสามารถมีได้ที่ระดับ 10 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม ส่วนระดับที่สหภาพยุโรปอนุญาตให้มีได้อยู่ที่ 2 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม นอกจากนั้นยังพบสารตัวเดียวกันจากสองตัวอย่างในเขตขุยชง ที่ระดับ 5.8 และ 6.2 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม ต่ำว่าระดับที่แผ่นดินใหญ่กำหนด แต่ก็สูงกว่าระดับที่ยุโรปขีดเส้น
ผลการตรวจสอบดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากมีการรายงานข่าวของสื่อมวลชนว่า โรงงานในเขตขุยชงได้ผลิตน้ำมันปรุงอาหารที่มาตรฐานต่ำจำนวนมาก โดยโรงงานได้ผสมสารหลายชนิดลงไปในน้ำมันที่รับมาจากผู้ผลิตในเขตถุนเหมินอีกต่อหนึ่ง
ฮ่องกงไม่ได้จำกัดปริมาณสารเบนโซไพรีนในอุตสาหกรรมอาหาร โฆษกของศูนย์ความปลอดภัยทางอาหารฮ่องกงเผยว่า ความเสี่ยงต่อสุขภาพอันเกิดจากการบริโภคน้ำมันปรุงอาหารมีไม่สูง แต่เพื่อความรอบคอบ ทางศูนย์ได้สั่งให้ผู้ผลิตน้ำมันหยุดขายและเรียกเก็บผลิตภัณฑ์ในตลาดแล้ว
สำนักงานรัฐบาลฮ่องกงได้ส่งคำเตือนไปยังผู้ประกอบการทั้งหลาย เรียกร้องให้ยกระดับเงื่อนไขสุขลักษณะทั้งมวล อย่างไรก็ดี ก็ไม่ได้ระบุว่า โรงงานเหล่านี้จะถูกฟ้องร้องหรือไม่ และการไต่สวนจะกระทำต่อไปหรือไม่
การค้นพบสารก่อมะเร็งดังกล่าวไม่ได้ชี้ว่าปัญหาเรื่องน้ำมันนี้เป็นปัญหาพัวพันไปถึงเรื่องกระบวนการผลิต ที่ก่อนหน้านี้บนแผ่นดินใหญ่มีข่าวนำน้ำมันจากรางน้ำทิ้งของภัตตาคารต่าง ๆ ที่เหลือมาใช้ใหม่
วิลเลียม ชุ่ย ชุนหมิง ประธานประธานสมาคมโรงพยาบาลเวชภัณฑ์แห่งฮ่องกงเผยว่า "น้ำมันที่ถูกค้นพบสารปนเปื้อนเหล่าไม่อาจบอกได้ว่าเป็นน้ำมันชั้นต่ำที่มาจากรางทิ้งอาหารของภัตตาคาร ก่อนที่จะพิสูจน์แหล่งที่มาที่แน่ชัดได้"
น้ำมันเหลือทิ้งเป็นแหล่งกำเนิดสารก่อมะเร็งได้ หากผู้ผลิตไม่สามารถแยกสารที่เป็นอันตรายออกจากน้ำมันในระหว่างกระบวนการคัดแยกได้ วิลเลียมกล่าวว่า นอกจากนั้นในระหว่างกระบวนการผลิตก็อาจมีการปนเปื้อนได้ "เบนโซไพรีนสามารถพบได้ในควัน และถ่านไม้ที่ถูกเผาเกรียม ดังนั้นหากว่าสสารที่ไหม้จนเกรียมตกลงไปในน้ำมัน ก็จะทำให้น้ำมันมีสารก่อมะเร็ง"
สารเบนโซไพรีนเป็นสารก่อมะเร็ง ประชาชนไม่ควรกลืนกินสารดังกล่าวเข้าไป คุณหมอวิลเลียมย้ำ