xs
xsm
sm
md
lg

อึ้ง! นาข้าวสุพรรณฯฉีดสารเคมีไม่ยั้ง 15 ครั้งต่อ 1 ฤดูกาล เร่งส่งจำนำข้าว รบ.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไทยนำเข้าสารเคมีมากถึง 87 ล้านกิโลกรัม ขณะที่นาข้าวสุพรรณฯใช้สารเคมีสูง 30% ของต้นทุนการผลิต ฉีดไม่ยั้ง 15 ครั้งต่อ 1 ฤดูกาลปลูก เหตุทุ่มทุนเพื่อนำไปจำนำข้าว หวั่นกระทบผู้ปลูกและผู้บริโภค ด้านเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีฯ เสนอเก็บภาษีสารเคมีทางการเกษตร ตั้งกองทุนเยียวยาชดเชย เตรียมถกใหญ่ในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติฯ 15-20 ธ.ค.นี้
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
วันนี้ (29 พ.ย.) ที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ในการแถลงข่าวสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 5 พ.ศ.2555 ทุกนโยบาย ห่วงใยสุขภาพ “อนาคตความปลอดภัยทางอาหารของไทย” เนื่องมาจากการเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 จะทำให้การส่งออกโดยเฉพาะอาหารและสินค้าเกษตรมีความอิสระมากยิ่งขึ้น ไม่มีกำแพงกั้นระหว่างภาษี ส่งผลให้เกิดการขยายตัวทางการค้าที่กว้างยิ่งขึ้น ทำให้หลายฝ่ายเกิดความกังวลถึงความพร้อมในการรับมือ ในการกำหนดมาตรฐานที่ปลอดภัยสำหรับการนำเข้า โดยเฉพาะในเรื่องของอาหารและสินค้าเกษตรซึ่งเกี่ยวข้องกับสุขภาพของคนไทย

ดร.ศิรินา ปวโรฬารวิทยา ประธานกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5 กล่าวว่า ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการนำเข้ากลุ่มสินค้าอาหารและเกษตรที่เป็นอาหารจากกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน เพิ่มขึ้นโดยตลอดในหลายปีที่ผ่านมา โดยปี 2552 มีการนำเข้ามูลค่า 32,255 ล้านบาท ต่อมาปี 2553 มูลค่า 37,255.5 ล้านบาท และปี 2555 มูลค่า 49,521 ล้านบาท ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนว่ามีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมีการกังวลถึงความพร้อมในการกำหนดมาตรฐานที่ปลอดภัยสำหรับการนำเข้าโดยเฉพาะอาหารและสินค้าเกษตรที่เป็นอาหารเมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของคนไทยโดยตรง อาจมีความเสี่ยงต่อสารปนเปื้อนที่เป็นอันตรายต่อการบริโภค จึงจำเป็นที่จะต้องมีระเบียบในการตรวจสอบไม่ให้อาหารที่ไม่มีความปลอดภัยเข้าสู่ประเทศ ซึ่งในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่5 ระหว่างวันที่ 18-20 ธ.ค. 2555 ที่ศูนย์การประชุมไบเทค บางนา จะมีการหารือเรื่องนี้เพื่อหาแนวทางป้องกัน

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ที่ปรึกษาคณะที่ทำงานวิชาการเฉพาะประเด็น “การพัฒนากลไกและกระบวนการที่สามารถรับมือผลกระทบด้านสุขภาพจากการเข้าสู่ AEC โดยเฉพาะอาหารและสินค้าเกษตรที่เป็นอาหาร” กล่าวว่า เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเปิดประชาคมอาเซียน ภาครัฐต้องให้ความสำคัญกับมาตรฐานการนำเข้าอาหารและสินค้าเกษตรที่เป็นอาหาร โดยเสนอให้คณะกรรมการอาหารแห่งชาติหน่วยงานที่กำกับดูแลเพิ่มความเข้มแข็งในการตรวจสอบกำกับดูแลสินค้าที่ผลิตและนำเข้า และเพิ่มศักยภาพด้านบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ ห้องปฏิบัติการและเครื่องมืออย่างเพียงพอนอกจากนี้ควรสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังอาหารปลอดภัยในระดับชุมชนเพื่อให้เกิดการดูแลที่ครอบคลุมด้วย

ด้าน นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผอ.มูลนิธิชีววิภี และคณะทำงานวิชาการเฉพาะประเด็น “ความปลอดภัยทางอาหาร : การแก้ปัญหาจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช” กล่าวว่า ในปี 2554 ประเทศไทยมีการนำเข้าสารเคมีถึง 87 ล้านกิโลกรัม มูลค่า 22,000 ล้านบาท บางชนิด เช่น คารูโบฟูรานและเมโทมิลมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นจากปี 2553 ถึง 1 เท่าตัว นอกจากนี้ จากการที่เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชได้ทำการศึกษาการใช้สารเคมีนาข้าวของเกษตรจำนวน 200 ราย ใน 5 อำเภอ ของ จ.สุพรรณบุรี ในช่วงปี 2555 พบว่า มีการใช้สารเคมีในนาข้าวคิดเป็น 30 %ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด จากเดิมที่เพียง 7-10 % โดยมีการฉีดสารเคมีถึง 15 ครั้งต่อ 1 ฤดูกาลผลิต ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากลัว น่าห่วง และน่ากังวลอย่างมาก

ตอนแรกคาดว่าต้องมีการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลแน่นอนถึงมีการใช้สารเคมีมากขนาดนี้ แต่ปรากฏว่า ปีนี้เพลี้ยเบาบาง เมื่อเข้าไปศึกษาจึงทำให้ทราบว่าชาวนาต้องการให้ได้ผลผลิตข้าวจำนวนมากจึงทุ่มทุกอย่าง เพื่อนำไปจำนำข้าวตามโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ซึ่งท้ายที่สุดโครงการนี้หากไม่ได้กำกับควบคุมคุณภาพของข้าว ในระยะยาวจะย้อนมาทำลายทั้งผู้ปลูกและผู้บริโภค รัฐบาลจึงควรดำเนินการโครงการนี้แบบมีเงื่อนไข เรื่องกาปรับปรุงการผลิต เช่น รับจำนำตันละ 15,000 บาทสำหรับผู้ผลิตแบบเกษตรปลอดภัย ส่วนผู้ที่ใช้สารเคมี จำนำตันละ 12,000 บาทเพื่อที่ส่วนต่างของการจำนำจะได้เป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการผลิตแบบเกษตรปลอดภัยมากขึ้น” นายวิฑูรย์ กล่าว

นายวิฑูรย์ กล่าวอีกว่า ในการประชุมสมัชชาสุขภาพฯเครือข่ายฯมีข้อเสนอสำคัญ ได้แก่ 1.ให้เก็บภาษีสารเคมีทางการเกษตร เพื่อนำมาใช้ในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นทางด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม โดยให้กระทรวงการคลังศึกษาความเป็นไปได้ รวมทั้งแนวทางในการจัดตั้งกองทุนเพื่อนำมาใช้ในการเยียวยา ชดเชยผลกระทบทางสุขภาพ และเศรษฐกิจจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช และสนับสนุนการผลิตที่ปลอดภัย ระบบเกษตรกรรมยั่งยืน และ2.ให้ทบทวนการอนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียนและนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่เป็นอันตรายร้ายแรง ซึ่งประเทศพัฒนาแล้วและประเทศในอาเซียนบางประเทศได้ประกาศห้ามผลิต ห้ามใช้ และไม่ให้ขึ้นทะเบียนแล้ว เพราะมีข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ยืนยันว่าเป็นอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพ ได้แก่ คารูโบฟูราน เมโทมิล ไดโครโตฟอส และ อีพีเอ็น
กำลังโหลดความคิดเห็น